แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยเคยสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลด้วยกัน จำเลยได้พิมพ์ใบปลิวมีข้อความว่า “โจทก์ทำการค้ากับร้านสหกรณ์สมัยนายเฉลิมเป็นผู้จัดการ รับนมและบุหรี่ไปขายแล้วไม่นำเงินมาให้ร้านสหกรณ์ 20,383 บาท และจ่ายเช็คไม่มีเงินให้ 13,878.85 บาท จำเลยเข้าไปรับงานผู้จัดการทีหลังรื้อเรื่องขึ้นมาฟ้องร้องดำเนินคดีเรียกเงินให้ร้านสหกรณ์สำเร็จ ขณะนี้โจทก์ยังคงผ่อนชำระให้ร้านสหกรณ์ตามคำสั่งศาลอยู่” แล้วจำเลยโฆษณาแจกจ่ายใบปลิวเหล่านั้น แม้ตามความจริงโจทก์ได้ถูกร้านสหกรณ์ซึ่งจำเลยเป็นผู้จัดการฟ้องเรียกเงินต่อศาลและได้ยอมความกันก็ตาม การกระทำของจำเลยก็เป็นเจตนาใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์ ไม่ใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต
ย่อยาว
ได้ความตามที่คู่ความแถลงรับกันว่า จำเลยได้พิมพ์ใบปลิวมีข้อความว่า นายระวี ต.ชูรินทร์ (สีนุ่น) (คือโจทก์) ทำการค้ากับร้านสหกรณ์สมัยนายเฉลิม ศรีกระจ่าง เป็นผู้จัดการ รับนมและบุหรี่ไปขายแล้วไม่นำเงินมาให้ร้านสหกรณ์ ๒๐,๓๘๓ บาท และจ่ายเช็คไม่มีเงินให้ ๑๓,๘๗๘.๘๕ บาท ผม( คือจำเลย)เข้าไปรับงานผู้จัดการทีหลังรื้อเรื่องขึ้นมาฟ้องร้องดำเนินคดีเรียกเงินให้ร้านสหกรณ์สำเร็จ ขณะนี้นายระวี (คือโจทก์) ยังคงผ่อนชำระให้ร้านสหกรณ์ตามคำสั่งศาลอยู่” แล้วจำเลยโฆษณาแจกจ่ายใบปลิวเหล่านั้น โจทก์จำเลยเคยสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลด้วยกัน โจทก์รับว่า โจทก์ได้ถูกร้านสหกรณ์ซึ่งจำเลยเป็นผู้จัดการฟ้องเรียกเงินต่อศาลและได้ยอมความกันไปแล้ว
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลทั้งสอง ว่าจำเลยผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๘ ปรับจำเลย ๒๐๐ บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตาม มาตรา ๒๙, ๓๐
ข้อวินิจฉัยของศาลฎีกามีว่า ศาลฎีกาได้พิเคราะห์ข้อความในใบปลิวแล้วเห็นว่า ทำให้ผู้ที่ถูกใส่ความเช่นนี้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังได้ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖, ๓๒๘ ที่จำเลยกล่าวในฎีกาว่า โจทก์จะต้องสืบให้ได้ความตามองค์ประกอบความผิดที่ระบุไว้ในมาตรา ๓๒๖ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าข้อความทั้งหมดนี้ จำเลยเองก็รับแล้วว่า ได้พิมพ์เป็นใบปลิวโฆษณาแจกจ่าย และทั้งโจทก์จำเลยก็เคยสมัครรับเลือกตั้งสภาเทศบาลด้วยกัน ส่อให้เห็นเจตนาของจำเลยได้ดีว่าต้องการใส่ความโจทก์ หาใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตไม่ จึงเป็นการใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์