แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
หนังสือมอบอำนาจมีข้อความว่า โจทก์ขอมอบอำนาจให้ ส. มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีกับกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับคดีภาษีโรงเรือนและที่ดิน ขอให้เพิกถอนการประเมิน และคำชี้ขาด และขอคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินส่วนที่โจทก์ ชำระไว้เกินแก่จำเลยที่ 1 แม้โจทก์จะไม่ได้ระบุให้ฟ้อง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 2 ไว้ด้วยแต่จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจกระทำการต่าง ๆ แทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล และเมื่อโจทก์ไม่พอใจการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของ จำเลยที่ 1 จะต้องยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ต่อจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 เท่านั้นที่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะทำคำชี้ขาด หากโจทก์ไม่พอใจคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 โจทก์จึงจะมีสิทธินำคดีมาสู่ศาลได้ตามที่บัญญัติไว้ใน พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 29,30,31 เมื่อโจทก์มอบอำนาจให้ ส. ฟ้องเพื่อขอให้เพิกถอนการประเมินและคำชี้ขาดและขอคืนเงินค่าภาษี ที่ชำระไว้เกิน การที่ ส. ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วย จึงถูกต้องตามหนังสือมอบอำนาจ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปโจทก์มอบอำนาจให้นายเสรีย์ วิบูลย์พันธุ์ ฟ้องคดีนี้ขอให้เพิกถอนการประเมินค่ารายปีและภาษีโรงเรือนและที่ดินของพนักงานเจ้าหน้าที่และคำชี้ขาดของจำเลย และให้ลดค่ารายปีและค่าภาษี กับคืนเงินค่าภาษีที่ชำระไว้เกินจำนวนเงิน395,695.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และคำชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 2 ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามแบบแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับปีภาษี 2536ของจำเลยที่ 1 เล่มที่ 55 เลขที่ 18 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2536และคำชี้ขาดของจำเลย เล่มที่ 14 เลขที่ 64 ลงวันที่ 6กันยายน 2536 เฉพาะในส่วนที่ประเมินค่ารายปี และคำนวณภาษีสำหรับอาคารโรงเรือนพิพาทประเภทตึก ให้ประเมินใหม่โดยกำหนดค่ารายปีประจำปีภาษี 2536 ตารางเมตรละ 30 บาทต่อเดือนและให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีบางส่วนที่เกินจากจำนวนที่ประเมินใหม่ทั้งหมดให้แก่โจทก์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด ถ้าไม่คืนภายในกำหนดดังกล่าวให้ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันครบกำหนดสามเดือนในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จ ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมตัดเย็บและส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป โจทก์ได้มอบอำนาจให้นายเสรีย์ วิบูลย์พันธุ์ ฟ้องคดีนี้ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 7 โจทก์ได้ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เพื่อให้ประเมินค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์เลขที่ 384/81 หมู่ที่ 4 แขวงบางแค เขตภาษีเจริญประจำปีภาษี 2536 ซึ่งเป็นอาคารประเภทตึก 8 หลัง และเพิงโครงเหล็ก 4 หลัง ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 1 ถึงที่ 3 โดยโจทก์ใช้สถานที่ดังกล่าวดำเนินกิจการเอง พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ทำการประเมินโดยเทียบเคียงโรงเรือนของโจทก์กับโรงเรือนของนายบุญสม สุธีวงศ์ เลขที่ 82 หมู่ 9 แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร และโรงเรือนของนางสาวพรพรรณ เหลืองวิพัฒน์ เลขที่ 455/5-6 หมู่ 3 แขวงบางแคเหนือ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ซึ่งให้ผู้อื่นเช่าอยู่แล้วกำหนดค่ารายปีของโจทก์เป็นเงิน 5,009,220 บาท ค่าภาษี 626,152.50 บาท ตามใบแจ้งการประเมินเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 9 และ 10 โดยประเมินค่ารายปีสำหรับอาคารประเภทตึกในอัตราตารางเมตรละ 35 บาทต่อเดือน โจทก์ไม่พอใจโดยเห็นว่าควรเทียบเคียงโรงเรือนของโจทก์กับโรงเรือนของบริษัทซี.พี.จี. การ์เมนท์จำกัด เลขที่ 75 หมู่ 8 แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ซึ่งประเมินค่ารายปีสำหรับอาคารประเภทตึกในอัตราตารางเมตรละ 12 บาทต่อเดือน จึงได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 2 ขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ และโจทก์ได้ชำระเงินค่าภาษีจำนวนดังกล่าวแล้วต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ชี้ขาดยืนตามการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า การมอบอำนาจของโจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 7 มีข้อความว่า โจทก์ขอมอบอำนาจให้นายเสรีย์ วิบูลย์พันธุ์มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีกับกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับคดีภาษีโรงเรือนและที่ดิน ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำชี้ขาด และขอคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินส่วนที่โจทก์ชำระไว้เกินแก่กรุงเทพมหานคร ฯลฯ แม้โจทก์จะไม่ได้ระบุให้ฟ้องจำเลยที่ 2 ไว้ด้วย แต่เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจกระทำการต่าง ๆ แทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโจทก์ไม่พอใจการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จะต้องยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ต่อจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 เท่านั้นที่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะทำคำชี้ขาดหากโจทก์ไม่พอใจคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 โจทก์จึงจะมีสิทธินำคดีมาสู่ศาลได้ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 29, 30, 31 เมื่อโจทก์มอบอำนาจให้ฟ้องคดีเพื่อขอให้เพิกถอนการประเมินและคำชี้ขาด และขอคืนเงินค่าภาษีที่ชำระไว้เกิน การที่ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วยนั้น จึงถูกต้องตามหนังสือมอบอำนาจแล้ว”
พิพากษายืน