แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์ทำหนังสือลงวันที่ 27 ตุลาคม 2526 ชี้แจงข้อเท็จจริงปฏิเสธข้อกล่าวหาของจำเลยไปยังกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในว่าโจทก์มิได้ประพฤติปฏิบัติตามที่จำเลยร้องเรียน แสดงว่าโจทก์รู้ตั้งแต่ก่อนหรืออย่างน้อยตั้งแต่วันที่27 ตุลาคม 2526 แล้วว่าจำเลยเป็นผู้ทำหนังสือร้องเรียนโจทก์โดยนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรกโจทก์จะต้องฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน โจทก์ฟ้องคดีวันที่1 พฤษภาคม 2529 จึงขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีหนังสือร้องเรียนไปยังกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน อ้างพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางประพฤติมิชอบของโจทก์ที่จำเลยเคยร้องเรียนก่อนหน้านั้นหลายประการ และอ้างพฤติการณ์เพิ่มเติมอีก 4 เรื่องเป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายและโฆษณาข้อความด้วยเอกสารซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความเป็นจริงทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงเกียรติคุณและความเจริญก้าวหน้าในการทำงานถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชังเป็นการละเมิด ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหาย1,500,000 บาท และลงประกาศโฆษณาขอขมาโจทก์ในหนังสือพิมพ์รายวันที่ออกจำหน่ายในกรุงเทพมหานครทุกฉบับ ฉบับละ 7 วัน โดยจำเลยออกค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหาย เอกสารที่จำเลยร้องเรียนไปเป็นเอกสารปกปิดเฉพาะตัวผู้รับและคดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์300,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในเบื้องแรกว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ ก่อนที่จะวินิจฉัยประเด็นนี้จำเป็นจะต้องฟังข้อเท็จจริงให้ยุติเสียก่อนว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เมื่อใด โจทก์นำสืบว่า โจทก์เพิ่งรู้ว่าจำเลยได้มีหนังสือร้องเรียนโจทก์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จต่อหัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในตามเอกสารหมาย จ.1 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2528 โดยมีผู้ไม่เปิดเผยชื่อส่งสำเนาเอกสารหมาย จ.1 ไปให้โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.14 และ จ.15ซึ่งถ้าฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบก็แสดงว่าก่อนหน้านั้นโจทก์มิได้รู้มาก่อนเลยว่าจำเลยได้ร้องเรียนโจทก์ต่อหัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน แต่ความกลับปรากฏว่าเกี่ยวกับเรื่องนี้โจทก์ได้ทำหนังสือเอกสารหมาย ล.44 ลงวันที่27 ตุลาคม 2526 ชี้แจงข้อเท็จจริงปฏิเสธข้อกล่าวหาของจำเลยไปยังกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในว่าโจทก์มิได้ประพฤติปฏิบัติตามที่จำเลยร้องเรียน แม้เอกสารดังกล่าวไม่มีข้อความระบุโดยชัดแจ้งว่าเป็นการชี้แจงข้อร้องเรียนของจำเลยครั้งใดในจำนวนสามครั้งที่จำเลยร้องเรียนดังที่โจทก์ฎีกา แต่ในเอกสารดังกล่าวโจทก์ได้กล่าวด้วยว่าก่อนหน้านั้นจำเลยเคยร้องเรียนโจทก์มาแล้ว 2 ครั้งแต่ได้มีการระงับเรื่องไปถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ ทั้งการชี้แจงของโจทก์ตามเอกสารดังกล่าวมีขึ้นภายหลังมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามข้อร้องเรียนของจำเลยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่6 กันยายน 2526 ตามคำสั่งเอกสารหมาย ล.45 เพียงเดือนเศษจึงเชื่อได้ว่าการชี้แจงของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.44 เป็นการชี้แจงข้อร้องเรียนครั้งที่สามของจำเลยที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้นั่นเองจากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าโจทก์รู้ตั้งแต่ก่อนหรืออย่างน้อยตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2526 อันเป็นวันที่โจทก์ทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในตามเอกสารหมาย ล.44ว่าจำเลยเป็นผู้ทำหนังสือเอกสารหมาย จ.1 ร้องเรียนโจทก์ซึ่งหมายถึงว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์แล้วอย่างน้อยตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2526เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดของจำเลยและรู้ว่าจำเลยจะต้องเป็นผู้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์อย่างน้อยตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2526 แล้ว โดยนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก โจทก์จะต้องฟ้องคดีนี้ภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2529เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
พิพากษายืน