คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 868/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ประกอบกิจการรับซ่อมรถจึงเป็นผู้ประกอบการค้า ส่วนจำเลยเป็นผู้ประกอบการรับประกันวินาศภัยทุกประเภทมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือซ่อมรถของผู้เอาประกันวินาศภัยกับจำเลย การซ่อมรถให้แก่ผู้เอาประกันวินาศภัยจึงเป็นธุรกิจการค้าของจำเลย การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าซ่อมรถของเหล่าผู้เอาประกันวินาศภัยกับจำเลยจากจำเลย จึงเป็นการเรียกเอาค่าจ้างหรือค่าแห่งการงานที่ได้ทำเพื่อกิจการของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) ประกอบมาตรา 193/34 (1) จึงมีอายุความ 5 ปี เมื่อโจทก์ได้ซ่อมรถยนต์ตามคำสั่งของจำเลยและไม่ส่งมอบรถยนต์ที่ซ่อมเสร็จแล้ว โจทก์ก็ย่อมที่จะบังคับตามสิทธิของตนในอันที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระสินจ้างได้เมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่โจทก์ซ่อมรถยนต์เสร็จตามข้อตกลงในสัญญา ซึ่งเมื่อนับตั้งแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องค่าซ่อมจากจำเลยดังกล่าวถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 5 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยประกอบธุรกิจรับประกันวินาศภัยทุกประเภทรวมทั้งการรับประกันภัยต่อและเอาประกันภัยต่อทั้งในและต่างประเทศ เมื่อเดือนมกราคม 2536 โจทก์ได้ตกลงกับจำเลยรับซ่อมรถยนต์ที่จำเลยรับประกันภัยไว้ และรถยนต์ของคู่กรณีที่ถูกรถยนต์ที่จำเลยรับประกันภัยไว้เฉี่ยวชนก่อให้เกิดความเสียหาย โดยจำเลยจะเป็นผู้จ่ายเงินค่าซ่อมรถยนต์ทั้งหมดให้แก่โจทก์ซ่อมรถยนต์เสร็จแล้วโจทก์จะให้ระยะเวลาในการชำระเงินค่าซ่อมแก่จำเลยเป็นเวลา 90 วัน นับแต่วันที่ซ่อมรถยนต์เสร็จหรือเมื่อโจทก์ได้ส่งเอกสารหรือใบแจ้งหนี้ค่าซ่อมรถยนต์ให้จำเลยทราบ จำเลยยังคงค้างชำระหนี้ค่าซ่อมรถยนต์จำนวน 64 คัน รวมเป็นเงิน 299,800 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 299,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องเกินกำหนดเวลา 2 ปี นับแต่วันที่อาจใช้สิทธิได้ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 299,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,500 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อเดือนมกราคม 2536 โจทก์กับจำเลยตกลงกันว่าจำเลยจะให้โจทก์ซ่อมรถยนต์ของลูกค้าที่จำเลยรับประกันภัยไว้และรถยนต์คู่กรณีที่ถูกรถยนต์ที่จำเลยได้รับประกันภัยไว้เฉี่ยวชนก่อให้เกิดความเสียหาย เมื่อโจทก์ซ่อมรถยนต์เสร็จ จำเลยจะชำระค่าซ่อมทั้งหมดให้โจทก์ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ซ่อมเสร็จหรือเมื่อโจทก์ได้ส่งใบแจ้งหนี้ค่าซ่อมรถยนต์ให้จำเลยทราบโจทก์ซ่อมรถยนต์ตามข้อตกลงให้แก่จำเลยจำนวนหลายคัน เฉพาะคดีนี้คันแรกซ่อมเสร็จเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2540 และมีสิทธิเรียกค่าซ่อมตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2540 ส่วนคันอื่นๆ ซ่อมเสร็จภายหลังวันดังกล่าว จำเลยชำระค่าซ่อมให้โจทก์บางส่วนโดยยังค้างชำระเป็นเงิน 299,800 บาท
มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า สิทธิเรียกร้องค่าซ่อมรถยนต์ดังกล่าวของโจทก์มีกำหนดอายุความ 2 ปี ทำให้ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.2 จำเลยมีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยทุกประเภท รวมทั้งการรับประกันภัยต่อ และการเอาประกันภัยต่อทั้งในและต่างประเทศ จำเลยหาได้มีวัตถุประสงค์ในการรับจ้างซ่อมรถยนต์แต่อย่างใด และกิจการซ่อมรถยนต์ก็หาได้เป็นกิจการของจำเลยหรือไม่ การที่จำเลยส่งรถยนต์คันที่รับประกันภัยหรือรถยนต์คู่กรณีให้โจทก์ซ่อม เมื่อโจทก์ซ่อมเสร็จจำเลยก็จะชำระสินจ้างให้โจทก์ กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์เรียกร้องเอาค่าการงาน (ค่าจ้างทำของ) ที่โจทก์ได้ทำเสร็จสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกค่าจ้างซ่อมรถยนต์ (ค่าจ้างทำของ) เกินกำหนด 2 ปี ฟ้องจึงขาดอายุความ เห็นว่า โจทก์ประกอบกิจการรับซ่อมรถจึงเป็นผู้ประกอบการค้า ส่วนจำเลยเป็นผู้ประกอบการรับประกันวินาศภัยทุกประเภทมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน หรือซ่อมรถของผู้เอาประกันวินาศภับกับจำเลย การซ่อมรถให้แก่ผู้เอาประกันวินาศภัยจึงเป็นธุรกิจการค้าของจำเลยการที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าซ่อมรถของเหล่าผู้เอาประกันวินาศภัยกับจำเลย การซ่อมรถให้แก่ผู้เอาประกันวินาศภัยจึงเป็นธุรกิจการค้าของจำเลยการที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าซ่อมรถของเหล่าผู้เอาประกันวินาศภัยกับจำเลยจากจำเลย จึงเป็นการเรียกเอาค่าจ้างหรือค่าแห่งการงานที่ได้ทำเพื่อกิจการของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ กรณีต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (5) ประกอบกับมาตรา 193/34 (1) จึงมีอายุความ 5 ปี เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้ซ่อมรถยนต์ตามคำสั่งของจำเลยและได้ส่งมอบรถยนต์ที่ซ่อมเสร็จให้แก่ผู้ที่นำรถยนต์มาซ่อมแล้ว โจทก์ก็ย่อมที่จะบังคับตามสิทธิของตนในอันที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระสินจ้างได้เมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่โจทก์ซ่อมรถยนต์เสร็จตามข้อตกลงในสัญญา ซึ่งเมื่อนับตั้งแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องค่าซ่อมจากจำเลยดังกล่าวถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 5 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share