คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 792/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในกรณีที่ได้แบ่งมรดกแล้ว เมื่อเจ้าหนี้ฟ้องให้ทายาทคนใดชำระหนี้ เจ้าหนี้นั้นก็มีสิทธิเรียกให้ชำระหนี้ได้เพียงไม่เกินทรัพย์มรดกที่ทายาทคนนั้นรับไป หาได้ให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะเรียกจากทายาทคนอื่นที่มิได้ถูกฟ้องด้วยไม่
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 5/2506)

ย่อยาว

คดีชั้นร้องขัดทรัพย์นี้ เนื่องมาจากคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยโดยกล่าวว่าจำเลยเป็นภรรยานายยศซึ่งถึงแก่กรรม จำเลยเป็นทายาทผู้รับมรดกนายยศ นายยศกู้เงินโจทก์ไปแล้วค้างชำระ ขอให้จำเลยใช้เงินศาลพิพากษาให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ โจทก์นำยึดทรัพย์ ผู้ร้องร้องขัดทรัพย์ ที่ดินที่ยึดมิใช่ของจำเลยผู้เดียว นางแจ๋วมีกรรมสิทธิ์ในที่รายนี้ 1 ไร่ 28 ตารางวาเท่านั้น นอกนั้นเป็นของพวกผู้ร้องได้แบ่งแยกกันครอบครองเป็นส่วนสัด และได้บันทึกตกลงแบ่งแยกกันตามส่วนที่ครอบครอง ณ สำนักงานที่ดิน และได้ร้องขอให้เจ้าพนักงานรังวัดแบ่งแยกให้ตามบันทึกนั้น จึงขอให้ศาลสั่งแบ่งส่วนของผู้ร้องตามแผนที่แบ่งแยกของเจ้าพนักงานรังวัดและสั่งขายทอดตลาดเฉพาะส่วนของจำเลย

โจทก์แถลงคัดค้านว่า ทรัพย์ที่ยึดเป็นมรดกนายยศผู้ตาย กองมรดกของนายยศต้องรับผิดใช้หนี้แก่โจทก์ ข้ออ้างของผู้ร้องไม่เป็นความจริง แม้เป็นความจริงก็ยกขึ้นโต้แย้งโจทก์ไม่ได้

เมื่อคู่ความแถลงรับกันแล้ว ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานและวินิจฉัยว่า ผู้ร้องทุกคนเป็นเจ้าของทรัพย์รายพิพาท โดยรับมรดกจากนายยศ จึงต้องรับไปทั้งสิทธิหน้าที่และรับผิดต่าง ๆ เมื่อนายยศเป็นหนี้โจทก์ ทรัพย์พิพาทซึ่งผู้ร้องรับมรดกมาก็ต้องผูกพันเอาไปชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์จะบังคับชำระหนี้จากทายาทคนใดก็ได้ ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอแบ่งส่วนของผู้ร้องกันออกจากการถูกยึดได้ให้ยกคำร้องขัดทรัพย์

ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนแล้ว คดีได้ความตามที่คู่ความแถลงรับกันว่าที่ดินที่ถูกยึดเป็นทรัพย์มรดกของนายยศผู้ตาย จำเลยเป็นภรรยานายยศผู้ร้องเป็นบุตรนายยศและจำเลย โฉนดที่รายนี้มีชื่อจำเลยกับผู้ร้องทุกคนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โดยรับโอนในฐานะเป็นผู้รับมรดกผู้ตายคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดในหนี้ของผู้ตายนั้น ศาลพิพากษาให้จำเลยใช้หนี้โดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดชั้นพิจารณา มิได้ต่อสู้คดีตลอดมา

ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า แม้เจ้าหนี้จะมีสิทธิฟ้องร้องเรียกหนี้ของผู้ตายจากกองทรัพย์มรดกโดยฟ้องทายาทหรือผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1737 ได้ก็ตาม แต่เกี่ยวกับความรับผิดของทายาทผู้ตายนั้น ได้มีบัญญัติไว้ในมาตรา 1738 เป็น 2 สถาน คือ ในกรณีก่อนแบ่งมรดกอย่างหนึ่ง และแบ่งมรดกแล้วอีกอย่างหนึ่ง สำหรับกรณีก่อนแบ่งมรดกนั้น เจ้าหนี้จะบังคับชำระหนี้เต็มจากกองมรดกก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ทายาทคนหนึ่ง ๆ อาจเรียกให้ชำระหนี้เอาจากทรัพย์มรดกของผู้ตายได้ แต่ถ้าเป็นกรณีที่ได้แบ่งมรดกแล้ว เจ้าหนี้อาจเรียกให้ทายาทคนใดคนหนึ่งชำระได้เพียงไม่เกินทรัพย์มรดกที่ทายาทคนนั้นได้รับไป ในกรณีเช่นนี้ ทายาทคนใดซึ่งได้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้กองมรดกเกินกว่าส่วนที่ตนจะต้องเฉลี่ยใช้หนี้ ทายาทคนนั้นมีสิทธิไล่เบี้ยจากทายาทคนอื่นได้

ตามความในมาตราที่กล่าวนี้ เป็นบทบัญญัติถึงความรับผิดและสิทธิไล่เบี้ยของทายาทเกี่ยวกับการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้กองมรดก กล่าวคือในกรณีที่ยังมิได้มีการแบ่งมรดก เจ้าหนี้ย่อมบังคับเอาจากกองมรดกได้ เพราะยังเป็นกองกลางของผู้ตายอยู่ แต่ในกรณีที่ได้แบ่งมรดกแล้ว เมื่อเจ้าหนี้เรียกร้องให้ทายาทคนใดชำระหนี้ เจ้าหนี้นั้นก็มีสิทธิเรียกให้ชำระหนี้ได้เพียงไม่เกินทรัพย์มรดกที่ทายาทคนนั้นรับไป หาได้ให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะเรียกจากทายาทคนอื่นที่มิได้ถูกฟ้องร้องด้วยไม่เพียงแต่ถ้าทายาทคนใดใช้เกินส่วนที่ได้รับไปก็มีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากทายาทคนอื่นได้เท่านั้น เป็นเรื่องระหว่างทายาทด้วยกัน

ในคดีเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ได้มีการแบ่งมรดกกันแล้ว และเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษา ตามหลักการบังคับคดีเจ้าหนี้ผู้ชนะย่อมจะบังคับคดีได้แต่เฉพาะผู้แพ้คดี เพราะคำพิพากษาไม่มีผลผูกพันบุคคลภายนอก เว้นแต่จะเป็นกรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรค 2ซึ่งเรื่องนี้หาเข้าข้อยกเว้นข้อหนึ่งข้อใดไม่ จริงอยู่ แม้หนี้รายนี้จะเป็นหนี้ของผู้ตาย แต่เมื่อได้มีการแบ่งมรดกกันจนโอนกรรมสิทธิ์ในโฉนดไปยังผู้ร้องแล้วโจทก์จะบังคับคดียึดทรัพย์ของทายาทอื่นผู้เป็นบุคคลภายนอกซึ่งไม่มีโอกาสต่อสู้คดีด้วยหาได้ไม่ มิใช่เป็นทรัพย์กองกลางอยู่ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1738 วรรคต้น

พิพากษากลับให้โจทก์มีสิทธิบังคับคดีนี้โดยยึดทรัพย์ได้เฉพาะส่วนของจำเลย

Share