คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1921/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์มิใช่ลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วยแต่โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 75 บาทค่าครองชีพเดือนละ 400 บาทการคิดค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ 46(3) จึงต้องนำค่าจ้างรายวันมาคูณด้วยหนึ่งร้อยแปดสิบวันและค่าจ้างรายเดือนมาคูณด้วยหก จะเป็นค่าชดเชยที่โจทก์จะพึงได้รับส่วนการที่โจทก์จะไม่ได้รับค่าจ้างในวันลากิจและในวันหยุดประจำสัปดาห์ เป็นเพียงการคำนวณจ่ายค่าจ้างของจำเลยไม่มีผลมาถึงการคำนวณจ่ายค่าชดเชยซึ่งกฎหมายได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย อัตราค่าจ้างสุดท้ายวันละ 75 บาทกับค่าครองชีพเดือนละ 400 บาท จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ไม่ครบถ้วน ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยที่ขาดแก่โจทก์
จำเลยให้การว่าจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ถูกต้องแล้ว
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเพิ่มให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า บทบัญญัติของประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46(3) บังคับให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างและได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือนหรือเป็นรายวันเป็นจำนวนแน่นอนเป็นเงินไม่น้อยกว่าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน ส่วนลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานที่ทำได้ซึ่งอาจมีจำนวนค่าจ้างในแต่ละวันหรือในแต่ละเดือนเป็นจำนวนไม่แน่นอนกฎหมายบังคับให้จ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างที่ได้รับ 180 วันสุดท้ายของการทำงานเมื่อโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 75 บาทค่าครองชีพเดือนละ 400 บาท การคิดค่าชดเชยจึงต้องนำค่าจ้างรายวันมาคูณด้วย 180 วัน และค่าจ้างรายเดือนมาคูณด้วย 6 จะเป็นค่าชดเชยที่โจทก์พึงได้รับ เพราะโจทก์มิใช่ลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย ส่วนการที่โจทก์จะไม่ได้รับค่าจ้างในวันที่โจทก์ลากิจและในวันหยุดประจำสัปดาห์ เป็นเพียงการคำนวณการจ่ายค่าจ้างของจำเลย ไม่มีผลมาถึงการคำนวณจ่ายค่าชดเชยซึ่งกฎหมายได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ การที่จำเลยคำนวณจ่ายค่าชดเชย 180 วันสุดท้ายของการทำงานของโจทก์โดยถือจำนวนค่าจ้างที่โจทก์ได้รับจริงโดยหักค่าจ้างที่โจทก์ไม่ได้รับในวันลากิจหรือวันหยุดประจำสัปดาห์ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พิพากษายืน

Share