คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2331/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินบำเหน็จที่โจทก์ได้รับไปคำนวณตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยภาคผนวก 3 ข้อ 3 ก. ซึ่งข้อ 4 ก. กำหนดว่า ‘เงินบำเหน็จที่กล่าวในข้อ 3 จะถือว่าได้รวม ไว้แล้วซึ่งเงินค่าชดเชยที่บริษัทพึงจ่ายตามภาคผนวก 5 ใน ส่วนที่เกินกว่าจำนวนที่กฎหมายแรงงานกำหนด’ และภาคผนวก 5 กำหนดว่า ‘ค่าชดเชย (1) ลูกจ้างซึ่งให้ออกจากงานเพราะ มีลูกจ้างเกินอัตราหรือลูกจ้างซึ่งถูกให้ออกจากงานโดย ไม่มีความผิดมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน(2) กรณีลูกจ้างถูกให้ออกจากงาน ถ้าเป็นลูกจ้างซึ่ง ทำงานมาเกินกว่า 6 ปีแล้วให้ลูกจ้างผู้นั้นมีสิทธิ ได้รับเงินชดเชยเพิ่มขึ้นอีกในอัตราเท่ากับเงินเดือนของแต่ ละปีเป็นจำนวน 1 เดือนต่อปี ฯลฯ’ ดังนี้เห็นได้ว่า เงินบำเหน็จคงรวมไว้แล้วซึ่งค่าชดเชยเฉพาะในส่วนที่เกิน กว่าจำนวนที่กฎหมายแรงงานกำหนดคือตามภาคผนวก 5(2) เท่านั้นมิได้รวมถึงค่าชดเชยที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายแรงงาน ตามภาคผนวก 5(1) เงินบำเหน็จที่โจทก์รับไปแล้วจึงไม่มี ค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน รวมอยู่ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย อัตราเงินเดือนสุดท้ายเดือนละ13,325 บาท จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุ โจทก์ทำงานให้จำเลยมาเป็นเวลาเกินกว่า 3 ปีมีสิทธิได้รับค่าชดเชยรวมเป็นเงิน 79,950 บาท ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชยจำนวน 79,950 บาทแก่โจทก์
จำเลยให้การว่าจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยรวมกับเงินบำเหน็จตามระเบียบให้แก่โจทก์ไปแล้วเป็นเงิน 131,059 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดพิจารณาคู่ความแถลงยอมรับข้อเท็จจริงบางประการและไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเอกสารหมาย ล.1 ภาคผนวก 3 ข้อ 4 ก. กำหนดว่าเงินบำเหน็จได้รวมไว้แล้วซึ่งค่าชดเชยและปรากฏว่าเงินบำเหน็จที่โจทก์รับไปมีจำนวนมากกว่าค่าชดเชยตามกฎหมายพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ได้ความว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย เข้าทำงานเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2513 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ13,325 บาท จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2524โดยได้จ่ายเงินบำเหน็จตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเอกสารหมาย ล.1ให้โจทก์แล้ว เป็นเงิน 131,059 บาท มีปัญหาว่าเงินที่โจทก์ได้รับไปมีค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน รวมอยู่ด้วยแล้วหรือไม่พิเคราะห์แล้ว จำนวนเงินบำเหน็จที่โจทก์ได้รับดังกล่าวคำนวณตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย เอกสารหมาย ล.1 ภาคผนวก 1 ข้อ 3 ก.ซึ่งข้อ 4 ก. ได้กำหนดต่อไปว่า “เงินบำเหน็จที่กล่าวในข้อ 3 จะถือว่าได้รวมไว้แล้วซึ่งเงินค่าชดเชยที่บริษัทพึงจ่ายตามภาคผนวก 5 ในส่วนที่เกินกว่าจำนวนที่กฎหมายแรงงานกำหนด” และภาคผนวก 5 กำหนดว่า “ค่าชดเชย (1) ลูกจ้างซึ่งให้ออกจากงาน เพราะมีลูกจ้างเกินอัตรา หรือลูกจ้างซึ่งถูกให้ออกจากงานโดยไม่มีความผิด มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน (2) กรณีลูกจ้างถูกให้ออกจากงาน ถ้าเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานมาเกินกว่า 6 ปีแล้ว ให้ลูกจ้างผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินชดเชยเพิ่มขึ้นอีกในอัตราเท่ากับเงินเดือนของแต่ละปีเป็นจำนวน 1 เดือนต่อปีสำหรับจำนวนเวลาแห่งการทำงานซึ่งเกินกว่า 6 ปีนั้น แต่รวมทั้งหมดต้องไม่เกิน12 เดือน” เห็นได้ว่า ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยภาคผนวก 3 ข้อ 4 ก. ระบุไว้ชัดแจ้งว่า เงินบำเหน็จที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ไป คงรวมไว้แล้วซึ่งค่าชดเชยเฉพาะในส่วนที่เกินกว่าจำนวนที่กฎหมายแรงงานกำหนด คือตามภาคผนวก 5(2)เท่านั้น หารวมถึงค่าชดเชยที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายแรงงานตามภาคผนวก 5(2) เท่านั้น หารวมถึงค่าชดเชยที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายแรงงานตามภาคผนวก 5(1) ไม่ จึงต้องถือว่าเงินที่โจทก์ได้รับไปแล้ว ไม่มีค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน รวมอยู่ด้วย โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยติดต่อกันเกิน 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่เกินกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน เป็นเงิน 79,950 บาท ตามฟ้อง ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยได้จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์รวมไปกับเงินบำเหน็จแล้ว ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 79,950 บาท แก่โจทก์

Share