คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8673/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญากู้เงินข้อ 4 ระบุไว้ชัดว่า “หากผู้กู้ชำระหนี้เงินกู้ทั้งหมดให้แก่ผู้ให้กู้ครบถ้วนแล้ว ผู้ให้กู้ตกลงยินยอมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนที่ตนเองถือกรรมสิทธิ์อยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 265906 ให้แก่ผู้กู้ในวันที่ผู้กู้ชำระหนี้ครบถ้วน…” ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงที่มีเงื่อนไขโดยชัดแจ้งว่าหากจำเลยชำระหนี้กู้ยืมเงินทั้งหมดให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์ตกลงยินยอมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้เงินดังกล่าวให้แก่จำเลยเป็นการตอบแทนในวันที่จำเลยชำระหนี้ครบถ้วน ทำให้หนี้ระหว่างโจทก์จำเลยเป็นหนี้ที่คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจะต้องชำระหนี้ตอบแทนซึ่งกันและกันทันทีที่อีกฝ่ายหนึ่งชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ มิใช่เพียงข้อผูกพันที่คู่สัญญาแต่ละฝ่ายสามารถแยกการชำระหนี้ออกจากกันได้ กรณีจึงต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 369 คือ คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ การที่โจทก์มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้กู้ยืมเงินทั้งหมดแก่โจทก์ โดยไม่ได้เสนอว่าโจทก์ขอปฏิบัติการชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสัญญากู้เงินข้อ 4 ตอบแทนแก่จำเลยด้วย จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะไม่ชำระหนี้กู้ยืมเงินตามข้อ 1 ให้แก่โจทก์จนกว่าโจทก์จะขอชำระหนี้ตอบแทนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 537,191 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 11 พฤศจิกายน 2541) จะต้องไม่เกิน 37,191 บาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ข้อตกลงในสัญญากู้เงินข้อ 4 เป็นสัญญาต่างตอบแทนหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญากู้เงินข้อ 4 ระบุไว้ชัดว่า “หากผู้กู้ชำระหนี้เงินกู้ทั้งหมดให้แก่ผู้ให้กู้ครบถ้วนแล้ว ผู้ให้กู้ตกลงยินยอมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนที่ตนเองถือกรรมสิทธิ์อยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 265906 ให้แก่ผู้กู้ในวันที่ผู้กู้ชำระหนี้ครบถ้วน…” ข้อตกลงในสัญญากู้เงินดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงที่มีเงื่อนไขโดยชัดแจ้งว่าหากจำเลยชำระหนี้กู้ยืมเงินทั้งหมดให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์ตกลงยินยอมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้เงินดังกล่าวให้แก่จำเลยเป็นการตอบแทนในวันที่จำเลยชำระหนี้ครบถ้วน ทำให้หนี้ระหว่างโจทก์จำเลยเป็นหนี้ที่คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจะต้องชำระหนี้ตอบแทนซึ่งกันและกันทันทีที่อีกฝ่ายหนึ่งชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ มิใช่เพียงข้อผูกพันที่คู่สัญญาแต่ละฝ่ายสามารถแยกการชำระหนี้ออกจากกันได้ กรณีจึงต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 369 คือ คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ การที่โจทก์มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้กู้ยืมเงินทั้งหมดแก่โจทก์ตามหนังสือทวงถาม โดยโจทก์ไม่ได้เสนอว่าโจทก์ขอปฏิบัติการชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสัญญากู้เงินข้อ 4 ตอบแทนแก่จำเลยด้วย จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะไม่ชำระหนี้กู้ยืมเงินตามข้อ 1 ให้แก่โจทก์จนกว่าโจทก์จะขอชำระหนี้ตอบแทนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ทนายจำเลยผู้ร่างสัญญาเข้าใจผิดว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 265906 มีชื่อโจทก์ถือกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนเป็นความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม ข้อตกลงในสัญญากู้เงินดังกล่าวตกเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share