คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5149/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์ซึ่งจดทะเบียนหย่ากับจำเลยแล้ว ได้ฟ้องขอแบ่งสินสมรส หากมีสินสมรสอยู่ที่โจทก์ จำเลยก็ชอบที่จะฟ้องแย้งขอแบ่งสินสมรสกับโจทก์ได้เช่นเดียวกัน แม้สินสมรสที่จำเลยฟ้องแย้งจะเป็นสินสมรสที่อยู่นอกเขตศาลชั้นต้นก็ตาม ทั้งนี้โจทก์เป็นฝ่ายเริ่มต้นคดีโดยฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นก่อน จึงเป็นกรณีที่มีคดีค้างพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้นแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิฟ้องแย้งต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอแบ่งสินสมรสกับโจทก์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยจดทะเบียนหย่า โดยไม่ได้บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสินสมรสไว้ โจทก์เคยติดต่อให้จำเลยจัดการแบ่งสินสมรสครึ่งหนึ่งแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยแบ่งที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 859 ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง หากแบ่งไม่ได้ให้นำที่ดินออกประมูลขายระหว่างโจทก์กับจำเลย
จำเลยให้การ แก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งว่า นอกจากที่ดินตามฟ้องเป็นส่วนหนึ่งของสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยแล้วยังมีสินสมรสอื่นอีก ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์แบ่งสินสมรสแก่จำเลยครึ่งหนึ่ง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับคำให้การของจำเลย ส่วนฟ้องแย้งของจำลย เห็นว่า ทรัพย์สินตามฟ้องแย้งมีที่ตั้งอยู่นอกเขตอำนาจศาลชั้นต้น ประกอบกับคู่ความมีภูมิลำเนาอยู่นอกเขตอำนาจศาลชั้นต้นเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ทรัพย์สินตามฟ้องแย้งบางส่วนเป็นทรัพย์สินส่วนตัว คดีตามฟ้องแย้งไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลชั้นต้น จึงไม่รับฟ้องแย้ง ให้คืนค่าขึ้นศาลสำหรับฟ้องแย้งทั้งหมด
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่าจำเลยมีสิทธิฟ้องแย้งขอแบ่งสินสมรสอื่นนอกจากสินสมรสที่โจทก์ระบุในคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1532 กำหนดให้จัดการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาเมื่อมีการหย่า ไม่ว่าจะเป็นการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย หรือหย่าโดยคำพิพากษาของศาล โดยมีจุดมุ่งหมายให้มีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาให้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่คู่หย่าจะแยกจากกันไปตั้งครอบครัวของตนขึ้นใหม่ ฉะนั้น เมื่อโจทก์ซึ่งจดทะเบียนหย่ากับจำเลยแล้วได้ฟ้องขอแบ่งสินสมรส จำเลยก็ชอบที่จะฟ้องแย้งขอแบ่งสินสมรสกับโจทก์ได้เช่นเดียวกัน แม้สินสมรสที่จำเลยฟ้องแย้งจะเป็นสินสมรสอื่นที่อยู่นอกเขตศาลชั้นต้นก็ตาม ทั้งนี้เพื่อให้ปัญหาการแบ่งสินสมรสเป็นอันยุติไปพร้อมกับการสิ้นสุดแห่งการสมรสด้วยการหย่าประกอบกับโจทก์เป็นฝ่ายเริ่มต้นคดีโดยฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นก่อน จึงเป็นกรณีที่มีคดีค้างพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้นแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิฟ้องแย้งต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอแบ่งสินสมรสกับโจทก์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 7 (1) ซึ่งเป็นบทบัญญัติยกเว้นมาตรา 4 (1) และมาตรา 4 ทวิ ที่ศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้รับฟ้องแย้งของจำเลยไว้พิจารณาดำเนินการต่อไป

Share