แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่โจทก์และ ก. หย่ากันโดยทำข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินตามใบยอมความและได้กระทำต่อหน้าเจ้าพนักงาน มีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่าทั้งสองฝ่ายยินยอมที่จะขอจดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยาโดยความสมัครใจและตกลงแบ่งทรัพย์สินกัน รวมทั้งสวนยางพาราที่ดิน ส.ค.1 ตามฟ้อง เห็นได้ว่าโจทก์และ ก. ประสงค์จะระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับทรัพย์สินที่มีอยู่หรือที่จะมีขึ้นต่อไปภายหน้าให้เสร็จไปด้วยต่างฝ่ายต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันอันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 เมื่อใบยอมความเป็นข้อตกลงกันในเรื่องเกี่ยวกับสินสมรส จึงเป็นผลให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์เกี่ยวกับสินสมรสระงับไป โจทก์คงได้สิทธิใหม่ตามที่แสดงไว้ในใบยอมความดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 เท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์สินตามฟ้องอีก
โจทก์อุทธรณ์และฎีกาขอให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานต่อไป มิได้ขอให้ชนะคดีตามคำฟ้อง โจทก์จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และฎีกาอย่างคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณราคาเป็นเงินได้คือชั้นละ 200 บาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์เป็นภริยานายกุศล แซ่ต๋อหรือแซ่ต่อหรือต่อไมตรี จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2491 ระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยาได้ร่วมกันครอบครองและทำประโยชน์สวนยางพาราที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครอง ส.ค.1 เลขที่ 115 หมู่ที่ 5 ตำบลหล่อยูง อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา โดยโจทก์ยินยอมให้ลงชื่อนายกุศลเป็นเจ้าของแทนโจทก์ด้วย ต่อมาวันที่ 1 กรกฎาคม 2508 โจทก์และนายกุศลจดทะเบียนหย่าที่อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ตกลงให้แบ่งสินสมรสข้างต้นแก่โจทก์กึ่งหนึ่ง ครั้นวันที่ 25 มกราคม 2544 นายกุศลทำพินัยกรรมยกที่ดิน ส.ค.1 ทั้งแปลงแก่จำเลยทั้งสอง ภายหลังทำพินัยกรรมเพียง 10 วัน นายกุศลก็ถึงแก่ความตาย พินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่ผูกพันที่ดินและสวนยางพาราที่เป็นของโจทก์อยู่กึ่งหนึ่ง ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 115 ตำบลหล่อยูง อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา เนื้อที่ 37 ไร่ 15 ตารางวา เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายกุศล แซ่ต๋อหรือแซ่ต่อหรือต่อไมตรี และให้โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินและสวนยางพาราดังกล่าวกึ่งหนึ่ง ให้จำเลยทั้งสองไปดำเนินการทางทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอตะกั่วทุ่งให้โจทก์ได้ที่ดิน ส.ค.1 กึ่งหนึ่ง หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ห้ามจำเลยทั้งสองตลอดทั้งบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินและสวนยางพาราเฉพาะส่วนของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอแบ่งสินสมรสในที่ดินและสวนยางพารากึ่งหนึ่ง เพราะสิทธิเรียกร้องขอแบ่งสินสมรสของโจทก์ระงับไปแล้วตามสัญญาประนีประนอมยอมความหรือสัญญาแบ่งสินสมรสที่โจทก์ทำไว้กับนายกุศล ต่อไมตรี ฉบับลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2508 ในวันจดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา โดยนายกุศลตกลงแบ่งที่ดินสวนยางพาราพิพาทให้แก่โจทก์ 12 แถว โดยยื่นเรื่องแบ่งปันแก่โจทก์ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันทำสัญญา หากไม่ถือปฏิบัติให้โจทก์ฟ้องบังคับได้ตามใบยอมความและบันทึกรูปแผนที่สังเขปแสดงที่ดินสวนยางที่แบ่งปันท้ายคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์แถลงรับข้อเท็จจริงว่า ได้ทำใบยอมความตกลงแบ่งทรัพย์สินในขณะหย่ากับนายกุศล ต่อไมตรี ตามเอกสารท้ายคำให้การของจำเลยจริง ศาลชั้นต้นเห็นว่าข้อเท็จจริงพอวินิจฉัย จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ที่ดิน ส.ค.1 ตามฟ้องเป็นสินสมรสซึ่งโจทก์มีสิทธิที่จะได้รับจากนายกุศลตามข้อตกลงกึ่งหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและมีสิทธิที่จะขอให้บังคับจำเลยทั้งสองปฏิบัติตามคำขอท้ายฟ้องนั้น เห็นว่า การที่โจทก์และนายกุศลหย่ากันโดยทำข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินตามใบยอมความเอกสารท้ายคำให้การและได้กระทำต่อหน้าเจ้าพนักงาน มีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่าทั้งสองฝ่ายยินยอมที่จะจดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยาโดยความสมัครใจและตกลงแบ่งทรัพย์สินกัน รวมทั้งสวนยางพาราที่ดิน ส.ค.1 ตามฟ้อง เห็นได้ว่าโจทก์และนายกุศลประสงค์ระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับทรัพย์สินที่มีอยู่หรือที่จะมีขึ้นต่อไปภายหน้าให้เสร็จไปด้วยต่างฝ่ายต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน อันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 เมื่อใบยอมความที่โจทก์และนายกุศลทำไว้ต่อกันตามเอกสารท้ายคำให้การเป็นข้อตกลงกันในเรื่องเกี่ยวกับสินสมรส จึงเป็นผลให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์เกี่ยวกับสินสมรสระงับไป โจทก์คงได้สิทธิใหม่ตามที่แสดงไว้ในใบยอมความดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 เท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์สินตามฟ้องอีก ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่ที่โจทก์อุทธรณ์และฎีกาขอให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานต่อไป มิได้ขอให้ชนะคดีตามคำฟ้อง โจทก์จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และฎีกาอย่างคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ คือชั้นศาลละ 200 บาท ซึ่งต้องคืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และฎีกาส่วนที่เกินมาให้แก่โจทก์”
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และฎีกาส่วนที่เกินกว่าชั้นศาลละ 200 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ