แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
++ เรื่อง เครื่องหมายการค้า ++
++ (ประชุมใหญ่)
++ มาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. โอนอำนาจหน้าที่และกิจการบริหารบางส่วนของกรมทะเบียนการค้า พ.ศ. 2534 บัญญัติให้โอนบรรดาอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าและกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตรไปเป็นของกรมทรัพย์สินทางปัญญากระทรวงพาณิชย์ การดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนและการเปลี่ยนแปลงรายการทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ.25374 อยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่และการควบคุมของกรมทรัพย์สินทางปัญญาจำเลยเพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวทั้งหมด ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องกรมจำเลยซึ่งมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการรับจดทะเบียนหรือไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้า จึงถือได้ว่าเป็นการฟ้องนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นข้าราชการกรมทรัพย์สินทางปัญญาตามคำสั่งแต่งตั้งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แล้ว ประกอบกับอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นผู้แทนกรมจำเลยเป็นประธานกรรมการคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าด้วยตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 95 ย่อมถือได้ว่า การฟ้องกรมจำเลยก็เท่ากับเป็นการฟ้องอธิบดีซึ่งเป็นกรรมการผู้หนึ่งในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า จึงถือได้ว่าเป็นการฟ้องคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าแล้ว ไม่จำต้องฟ้องกรรมการทุกคน
การที่นายทะเบียนพิจารณาออกคำสั่งว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบริษัท ส. ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว หาได้ตัดรูปแผนที่ออกเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายแล้วจึงพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของบริษัทดังกล่าวไม่ การปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงเป็นการปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งหมด ส่วนการที่นายทะเบียนสั่งให้โจทก์ยื่นคำร้องขอสละสิทธิในรูปแผนที่มีผลเพียงให้โจทก์ไม่อาจขอถือสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะใช้รูปแผนที่นั้นเท่านั้น หาได้เป็นการให้โจทก์ต้องตัดรูปแผนที่ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ออกไม่ ซึ่งนายทะเบียนยังระบุแจ้งให้โจทก์ทราบถึงสิทธิของโจทก์ไว้ชัดเจนว่า หากโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของนายทะเบียนดังกล่าว โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้ภายใน 90 วัน นับแต่วันได้รับคำสั่ง อันเป็นสิทธิที่โจทก์มีอยู่ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ดังนั้น การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ต่อมาบริษัท ส. ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนอีกสองเครื่องหมายการค้าเพื่อให้ภาพรวมถึงเครื่องหมายการค้าของบริษัท ส. เหมือนหรือคล้ายกับภาพรวมเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้น ก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับบริษัท ส. ที่จะโต้แย้งและพิสูจน์กันว่าผู้ใดมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่ากัน หาใช่เรื่องที่แสดงว่านายทะเบียนมีคำสั่งไปโดยไม่ชอบหรือมีเจตนาไม่สุจริตไม่ โจทก์ไม่อาจขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนดังกล่าวได้
การวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นการพิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 96 (1) ประกอบมาตรา 16 และ 18 เมื่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนที่ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โดยเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีเสียงเรียกขานเหมือนกับเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้ว โดยมิได้พิจารณาว่ารูปลักษณะของเครื่องหมายการค้าทั้งสองเหมือนหรือคล้ายกันหรือไม่ ยังถือไม่ได้ว่าคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้ใช้ดุลพินิจโดยมีเจตนาไม่สุจริตหรือโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เพราะเหตุผลในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองเหมือนหรือคล้ายกันหรือไม่มีได้หลายประการ และเหตุผลที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้วินิจฉัยดังกล่าวก็เป็นเหตุผลหนึ่งในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว เมื่อไม่ปรากฏจากทางนำสืบและพยานหลักฐานของโจทก์ว่าความเห็นของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าในคำวินิจฉัยอุทธรณ์เกิดจากการใช้ดุลพินิจโดยมีเจตนาโดยไม่สุจริตหรือโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย หรือมีเจตนาจงใจให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้
เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนทั้งสามคำขอของโจทก์ยังไม่ได้รับการจดทะเบียน โจทก์จึงอยู่ในฐานะเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียน หากโจทก์เห็นว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวดีกว่าบริษัท ส. โจทก์ก็ต้องฟ้องบริษัทดังกล่าวขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นตามมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้าฯ เพราะผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์คือบริษัท ส. หาใช่กรมทรัพย์สินทางปัญญาจำเลยไม่ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องจำเลยเพื่อขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของบริษัท ส. ได้ ++
ย่อยาว
โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยเป็นส่วนราชการในสังกัดกระทรวงพาณิชย์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมีหน้าที่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๓๘ โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “มดแดง” และรูปมดยืนอยู่บนลูกโลกสำหรับสินค้าจำพวกที่ ๑๗ รายการสินค้ากาวลาเท็กซ์ คือเครื่องหมาย ++++ ตามคำขอเลขที่ ๒๘๓๘๕๘ แต่เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๓๘ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนให้โดยอ้างว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้ารูปมด คือเครื่องหมาย ++++ ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วสำหรับสินค้าจำพวกที่ ๑ เดิม ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. ๒๔๗๔ ทั้งจำพวก ตามทะเบียนเลขที่ ๑๖๔๒๒๗ และสำหรับสินค้าจำพวกที่ ๑๖ ใหม่ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ รายการสินค้ากาวใช้เป็นเครื่องเขียนหรือใช้ในครัวเรือน ตามคำขอเลขที่ ๒๙๐๐๗๑ นอกจากนี้จำเลยโดยนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีเจตนาไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมายประสงค์จะให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อทรัพย์สินและสิทธิ ทั้งทราบดีว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เมื่อพิจารณาทั้งเครื่องหมายแล้วมีลักษณะอันพึงจดทะเบียนได้ได้มีคำสั่งให้โจทก์สละสิทธิรูปแผนที่ในเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ ทำให้เครื่องหมายการค้าของโจทก์คงเหลือเพียงอักษรคำว่า “มดแดง” และรูปตัวมดเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ตามทะเบียนเลขที่ ๑๖๔๒๒๗ อีกทั้งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ายังให้รอการดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไว้ก่อนโดยอ้างว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้า ++++ ของบุคคลอื่นที่ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ตามคำขอเลขที่ ๒๘๖๙๘๑ โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจำเลยได้ส่งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ยืนตามคำสั่งปฏิเสธของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้โจทก์ทราบ แต่หนังสือนำส่งคำวินิจฉัยลงวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๓๙ ส่วนคำวินิจฉัยระบุว่า มีการประชุมกันเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม๒๕๓๙ เชื่อว่า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าอาจไม่ได้มีการประชุมกัน คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นไปโดยมีเจตนาไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีเจตนาจงใจให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เนื่องจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ส่วนคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ากลับวินิจฉัยโดยพิจารณาถึงการเรียกขานเครื่องหมายการค้าว่า เครื่องหมายการค้าทั้งสองอาจเรียกขานได้ว่า ตรามดเช่นเดียวกัน แม้จะใช้กับสินค้าต่างจำพวกกัน แต่เป็นรายการสินค้ากาวเช่นเดียวกัน อาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ เครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์จึงคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นกลุ่มบุคคลและวินิจฉัยโดยคิดเอาเองว่า สาธารณชนจะเรียกขานเช่นนั้นเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นเป็นเพียงรูปมด แต่เครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ประกอบด้วยอักษรคำว่า “มดแดง” และมีรูปมดยืนอยู่บนลูกโลก คงไม่เรียกขานว่าตรามดแดงเฉย ๆ อีกทั้งจะต้องมีการปิดฉลากที่สินค้าระบุชื่อเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าอย่างชัดเจน สาธารณชนย่อมไม่หลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ต่อมาบุคคลอื่นได้สมคบกับจำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ++++ตามคำขอเลขที่ ๒๙๙๕๗๕ ลงวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๓๘ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่า เครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นทำให้โจทก์เสียสิทธิในการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าและจำเลยได้ดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ ๒๙๙๕๗๕ ซึ่งเรียกขานว่า มดแดงเหยียบโลกสำหรับสินค้าจำพวกที่ ๑รายการสินค้า กาวลาเท็กซ์สำหรับปูพื้นไม้ปาร์เกต์ เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ คำสั่งของจำเลยโดยนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ ๒๘๓๘๕๘ของโจทก์ และคำสั่งของจำเลยที่ให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ++++ ตามคำขอเลขที่ ๒๙๙๕๗๕ ทะเบียนเลขที่ ๔๙๘๓๙ ของบุคคลอื่นเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นโมฆะไม่มีผลใช้บังคับขอให้พิพากษาว่า คำสั่งทั้งสองดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เพิกถอนคำสั่งทั้งสองและเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ๔๙๘๓๙ ดังกล่าวและให้จำเลยรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ ๒๘๒๘๕๘ ของโจทก์ต่อไป
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า แต่เป็นหน้าที่ของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องอย่างไรก็ตาม นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้พิจารณาคำขอของโจทก์ถูกต้องตามหลักกฎหมาย ตรงต่อข้อเท็จจริงและเป็นธรรมแล้วโดยนายทะเบียนปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์เพราะเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว โจทก์ระบุรายการสินค้าหรือบริการต่างจำพวกอยู่ในคำขอเดียวกัน รูปแผนที่ตามเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายหรือมีลักษณะไม่บ่งเฉพาะ จึงให้โจทก์แสดงปฏิเสธว่า ไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้รูปแผนที่และมีคำสั่งให้โจทก์จดทะเบียนเป็นเครื่องหมายชุด นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ยังเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ขอจดทะเบียนไว้ก่อน จึงให้รอการดำเนินการจดทะเบียนไว้ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีมติยืนตามคำสั่งปฏิเสธของนายทะเบียนและยกอุทธรณ์ของโจทก์ แม้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะมีคำสั่งปฏิเสธไม่ยอมรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์คำสั่งหนึ่งก็ตาม แต่เมื่อนายทะเบียนเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีส่วนที่เป็นรูปแผนที่อันเป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายและไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ นายทะเบียนมีหน้าที่ต้องแจ้งให้ผู้ขอจดทะเบียนทราบโดยไม่ชักช้าเพื่อการใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งต่อไปคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าประชุมวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม๒๕๓๙ จริง ส่วนที่หนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ระบุวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๓๙ ก็เนื่องจากความบกพร่องในการบันทึกข้อมูลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ จำเลยได้นำส่งหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๓๙ นอกจากคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะได้พิจารณาประเด็นที่พิพาทกันขึ้นมาโดยตรงแล้ว หากยังมีประเด็นอื่นที่สำคัญต่อการวินิจฉัยอุทธรณ์ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าย่อมนำมาพิจารณาวินิจฉัยได้ โจทก์แก้ไขเปลี่ยนแปลงจำพวกสินค้าของโจทก์จากสินค้าจำพวกที่ ๑๗รายการสินค้า กาวลาเท็กซ์เป็นสินค้าจำพวกที่ ๑ รายการสินค้า กาวยาง ตามคำสั่งของนายทะเบียนเท่านั้น ส่วนคำสั่งของนายทะเบียนเรื่องอื่น ๆ โจทก์มิได้ปฏิบัติตามแต่ใช้สิทธิอุทธรณ์แทน ด้วยเหตุที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์เรื่องอื่น ๆ นายทะเบียนจึงยังไม่ต้องพิจารณาการยื่นคำขอแก้ไขจำพวกสินค้าของโจทก์ดังกล่าว เมื่อยังมิได้แก้ไขเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงยังคงเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลสำหรับเครื่องหมายการค้าจำพวกที่ ๑๗ อยู่ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๓๘ มีบุคคลอื่นยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ ๒๙๙๕๗๕ มีคำว่า “มดแดง” เหยียบโลกและรูปมดอยู่บนโลกเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ ๑ รายการสินค้า กาวลาเท็กซ์สำหรับปูพื้นไม้ปาร์เกต์นายทะเบียนจึงรับจดทะเบียนให้และไม่จำต้องแจ้งความเหมือนหรือคล้ายให้โจทก์ทราบเนื่องจากขณะนั้นเครื่องหมายการค้าทั้งสองอยู่คนละจำพวกสินค้า กรณีเช่นนี้เป็นเรื่องระหว่างนายทะเบียนกับผู้ขอจดทะเบียนตามคำขอเลขที่ ๒๙๙๕๗๕ เท่านั้น โจทก์มิใช่ผู้มีส่วนได้เสียและเสียหายจากการกระทำดังกล่าว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าวอันจะกระทบต่อสิทธิของบุคคลผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนตามคำขอเลขที่ ๒๙๙๕๗๕ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดี คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นที่สุดแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลแพ่ง คู่ความทั้งสองฝ่ายตกลงกันร้องขอให้โอนคดีนี้ไปพิจารณาพิพากษาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๔๖ศาลแพ่งอนุญาต แล้วให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้รับคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องกรมจำเลยเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยอ้างว่า นายทะเบียนและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้มีคำสั่งและคำวินิจฉัยนั้นไปโดยมีเจตนาไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย จงใจให้โจทก์ได้รับความเสียหายตามคำฟ้องหรือไม่ ปัญหานี้ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า มาตรา ๓แห่งพระราชบัญญัติโอนอำนาจหน้าที่และกิจการบริหารบางส่วนของกรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ และของกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ไปเป็นของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ บัญญัติให้โอนบรรดาอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการของกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามกฎหมายว่า ด้วยเครื่องหมายการค้าและกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตรไปเป็นของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ หรือของเจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญากระทรวงพาณิชย์ และมาตรา ๓ แห่งพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ กำหนดให้กรมทรัพย์สินทางปัญญามีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติงานตามกฎหมายว่า ด้วยเครื่องหมายการค้าและทรัพย์สินทางปัญญาอื่นรวมทั้งดำเนินการด้านกฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าและทรัพย์สินทางปัญญาอื่น ซึ่งมาตรา ๕ แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวกำหนดให้กองตรวจสอบ ๒กรมทรัพย์สินทางปัญญา มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบเพื่อการจดทะเบียนตามกฎหมายว่า ด้วยเครื่องหมายการค้า กองทะเบียนและหนังสือสำคัญกรมทรัพย์สินทางปัญญา มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการประกาศโฆษณาและการรับจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา จัดเก็บเอกสารทางทะเบียน รวมทั้งออกหนังสือรับรองและต่ออายุทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา และดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา และกองบริการและเผยแพร่กรมทรัพย์สินทางปัญญา มีอำนาจหน้าที่ในการให้คำปรึกษา แนะนำ และบริการเกี่ยวกับการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาและจัดทำสารบบและกำกับการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นไปตามกฎหมาย นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ยังได้อาศัยอำนาจตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ แต่งตั้งให้ผู้อำนวยการกองตรวจสอบ ๒ ผู้อำนวยการกองบริการและเผยแพร่ ผู้อำนวยการกองทะเบียนและหนังสือสำคัญ และข้าราชการตั้งแต่ระดับ ๖ ขึ้นไป ใน ๓ กองดังกล่าวเป็นนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ ๙(พ.ศ. ๒๕๓๖) เรื่อง แต่งตั้งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจากบทบัญญัติแห่งกฎหมายและประกาศดังกล่าวเห็นได้ว่า การดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนและการเปลี่ยนแปลงรายการทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. ๒๕๓๔ อยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่และการควบคุมของกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าวทั้งหมด ดังนี้ การที่โจทก์ฟ้องกรมจำเลยซึ่งมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการรับจดทะเบียนหรือไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามกฎหมายว่า ด้วยเครื่องหมายการค้าดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติโอนอำนาจหน้าที่และกิจการบริหารบางส่วนของกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ และของกรมศิลปากรกระทรวงศึกษาธิการ ไปเป็นของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๓๕มาตรา ๓ และพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๓ จึงถือได้ว่า เป็นการฟ้องนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นข้าราชการกรมทรัพย์สินทางปัญญาตามคำสั่งแต่งตั้งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แล้ว และประกอบกับอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นผู้แทนกรมจำเลยเป็นประธานกรรมการ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าด้วย ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๙๕ ย่อมถือได้ว่า การฟ้องกรมจำเลยก็เท่ากับเป็นการฟ้องอธิบดี ซึ่งเป็นกรรมการผู้หนึ่งในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า จึงถือว่าได้เป็นการฟ้องคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าแล้ว ไม่จำต้องฟ้องกรรมการทุกคนโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องกรมจำเลยเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยอ้างว่า นายทะเบียนและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้มีคำสั่งและคำวินิจฉัยนั้นไปโดยมีเจตนาไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมายจงใจให้โจทก์ได้รับความเสียหายตามคำฟ้องได้ โดยไม่จำต้องฟ้องนายทะเบียนและกรรมการเครื่องหมายการค้าทุกคน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีคำสั่งตามเอกสารหมาย จ.๑๘ ว่าเครื่องหมายการค้า ++++ ของโจทก์ตามคำขอเลขที่ ๒๘๓๘๕๘ เอกสารหมาย จ.๕ เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้า ++++ตามคำขอเลขที่ ๑๔๙๙๖๕ ทะเบียนเลขที่ ๑๖๔๒๒๗ เอกสารหมาย จ.๑๐ เป็นคำสั่งที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ใช้ดุลพินิจโดยมีเจตนาไม่สุจริตและเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยนายทะเบียนจงใจให้โจทก์เสียหายหรือไม่ ปัญหานี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังมิได้วินิจฉัย แต่ปรากฏว่า โจทก์และจำเลยได้สืบพยานหลักฐานเกี่ยวกับปัญหานี้มาแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงเห็นสมควรไม่ย้อนสำนวนและวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปโจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารวม ๓ เครื่องหมาย ตามเอกสารหมาย จ.๓ จ.๕ และ จ.๖ มีคำว่า “มดแดง” รูปมด คำว่า “สยามกลู” และรูปแผนที่ แต่เครื่องหมายการค้าของบริษัทโสภณพัฒนา จำกัด ตามเอกสารหมาย จ.๑๐มีรูปมดเพียงอย่างเดียว ต่อมาบริษัท โสภณพัฒนา จำกัด ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใหม่อีก ๒ เครื่องหมาย เพราะเห็นว่า ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นคำว่า “มดแดง” ตามเอกสารหมาย จ.๑๓ และรูปมดแดงหยียบโลกตามเอกสารหมาย จ.๓๑ การที่บริษัทโสภณพัฒนา จำกัด ยื่นคำขอจดทะเบียนใหม่ดังกล่าวก็เพื่อให้ภาพรวมเครื่องหมายการค้าของบริษัทเหมือนหรือคล้ายกับภาพรวมของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.๓ จ.๕ และ จ.๖ การที่นายทะเบียนมีคำสั่งว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.๕ เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบริษัทโสภณพัฒนา จำกัด ตามเอกสารหมาย จ.๑๐ซึ่งมีรูปเครื่องหมายการค้าเป็นรูปมดเพียงตัวเดียว จึงเป็นคำสั่งที่ไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้นายทะเบียนยังได้สั่งให้โจทก์สละสิทธิรูปแผนที่ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำสั่งเอกสารหมาย จ.๒๐ จึงเห็นได้ว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.๕ เมื่อพิจารณาทั้งเครื่องหมายแล้วย่อมมีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้และไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของบริษัทโสภณพัฒนา จำกัด ตามเอกสารหมาย จ.๑๐ คำสั่งของนายทะเบียนตามเอกสารหมายจ.๑๘ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในข้อนี้ปรากฏตามคำสั่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.๑๘ ว่า นายทะเบียนมีคำสั่งว่า การขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖ เพราะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วตามมาตรา ๑๓ คือ คำขอเลขที่ ๑๔๙๙๖๕ ทะเบียนเลขที่ ๑๖๔๒๒๗กรณีไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนายทะเบียน โจทก์มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่งนี้ หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว จะถือว่า โจทก์ละทิ้งคำขอจดทะเบียน และปรากฏตามคำสั่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.๒๐ ว่า นายทะเบียนพิจารณาแล้วเห็นว่า มีส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายหรือไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๗ ให้ปฏิบัติต่อไปนี้ภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันได้รับคำสั่งนี้ คือ ให้ยื่นคำร้องสละสิทธิว่า โจทก์จะไม่ขอถือสิทธิของตนแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้รูปแผนที่ ถ้าโจทก์ไม่เห็นด้วย โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่งนี้ เห็นว่า การพิจารณาออกคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.๑๘ เป็นความเห็นของนายทะเบียนว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.๕เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนตามเอกสารหมาย จ.๑๐ของบริษัทโสภณพัฒนา จำกัด ซึ่งเป็นการพิจารณาและออกคำสั่งไปตามที่โจทก์มีคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น อันเป็นการปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตามมาตรา ๖ และ ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ ส่วนการพิจารณาและมีความเห็นว่ารูปแผนที่ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมายจ.๕ เป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายและให้โจทก์สละสิทธิที่จะไม่ขอถือสิทธิของตนแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้รูปแผนที่นั้น ก็เป็นการพิจารณาและมีความเห็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเช่นกัน ไม่ปรากฏจากทางนำสืบและพยานหลักฐานของโจทก์ว่า นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ใช้ดุลพินิจวินิจฉัยและมีคำสั่งไปโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือโดยมีเจตนาไม่สุจริตจงใจให้โจทก์เสียหายแต่อย่างใดแม้คำสั่งตามเอกสารหมาย จ.๑๘ และ จ.๒๐ นายทะเบียนจะมีคำสั่งในวันเดียวกันคือวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๓๘ ก็ตาม แต่จำเลยก็นำสืบว่า เหตุที่มีการออกคำสั่งเป็นคนละฉบับกันเป็นเพราะรูปแบบของคำสั่งและลักษณะการปฏิเสธ ซึ่งมีเหตุผลให้รับฟังได้เพราะการพิจารณาและวินิจฉัยมีคำสั่งตามเอกสารหมาย จ.๑๘ และ จ.๒๐ อาศัยเหตุผลตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ ต่างเรื่องและต่างมาตรากัน การที่นายทะเบียนพิจารณาและออกคำสั่งไปตามเอกสารหมาย จ.๑๘ เป็นการพิจารณาเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทุกส่วนทั้งหมดแล้วจึงมีความเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบริษัทโสภณพัฒนา จำกัด ที่ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้ว หาได้ตัดรูปแผนที่ออกเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายแล้วจึงได้พิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของบริษัทดังกล่าวไม่ การปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงเป็นการปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.๕ ทั้งหมด การที่นายทะเบียนสั่งให้โจทก์ยื่นคำร้องขอสละสิทธิในรูปแผนที่มีผลเพียงให้โจทก์ไม่อาจขอถือเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะใช้รูปแผนที่นั้นเท่านั้น หาได้เป็นการให้โจทก์ต้องตัดรูปแผนที่ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ออกไม่ และคำสั่งของนายทะเบียนตามเอกสารหมาย จ.๑๘ และ จ.๒๐ ก็ได้ระบุแจ้งให้โจทก์ทราบถึงสิทธิของโจทก์ไว้ชัดเจนว่า หากโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของนายทะเบียนดังกล่าว โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้ภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันได้รับคำสั่งดังกล่าว อันเป็นสิทธิที่โจทก์มีอยู่ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๘ วรรคหนึ่ง ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ต่อมาบริษัทโสภณพัฒนา จำกัด ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “มดแดง” และเครื่องหมายการค้ารูปมดแดงเหยียบโลก ตามเอกสารหมาย จ.๑๓ และ จ.๓๑ เพื่อให้ภาพรวมเครื่องหมายการค้าของบริษัทเหมือนหรือคล้ายกับภาพรวมเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.๓ จ.๕ และ จ.๖ นั้น ก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับบริษัทโสภณพัฒนา จำกัด ที่จะโต้แย้งและพิสูจน์กันว่า ผู้ใดมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่ากัน หาใช่เรื่องที่แสดงว่านายทะเบียนมีคำสั่งตามเอกสารหมาย จ.๑๘ ไปโดยไม่ชอบหรือมีเจตนาไม่สุจริตอย่างใดไม่ คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.๑๘ จึงไม่ใช่คำสั่งที่นายทะเบียนใช้ดุลพินิจโดยมีเจตนาไม่สุจริตและไม่ใช่คำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยนายทะเบียนจงใจให้โจทก์เสียหาย โจทก์ย่อมไม่อาจขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนดังกล่าวได้
ปัญหาต่อไปมีว่า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้ใช้ดุลพินิจไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.๕ โดยมีเจตนาไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย กับมีเจตนาจงใจให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่โจทก์อุทธรณ์ว่า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าใช้ดุลพินิจวินิจฉัยปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.๕ เกี่ยวกับการเรียกขานโดยวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์อาจเรียกขานว่าตรามดเช่นกัน อาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า โจทก์เห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต้องเรียกขานว่า มดแดงเหยียบโลก ไม่ใช่เรียกขานว่าตรามด ดังที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัย การวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะคณะกรรมการมิได้วินิจฉัยตามข้ออุทธรณ์ของโจทก์ซึ่งอุทธรณ์เกี่ยวกับรูปลักษณะของเครื่องหมายการค้า มิได้อุทธรณ์ในเรื่องการเรียกขานแต่อย่างใด ข้อนี้ปรากฏตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ ๑๒๒๔/๒๕๓๙ เอกสารหมาย จ.๓๕ว่า คณะกรรมการวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า “มดแดง” และรูปมดอยู่บนรูปลูกโลกของโจทก์ ซึ่งขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ ๑๗ รายการสินค้ากาวลาเท็กซ์ ตามคำขอเลขที่ ๒๘๓๘๕๘ เอกสารหมาย จ.๕ ไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา ๖ และ ๑๓ เพราะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วเป็นรูปมดตามเอกสารหมาย จ.๑๐ เนื่องจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีเสียงเรียกขานเหมือนกันกับเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วดังกล่าว เมื่อใช้กับสินค้าในจำพวกเดียวกันและมีรายการสินค้าครอบคลุมถึงกันอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ จึงปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ เห็นว่า การวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นการพิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๙๖ (๑) ประกอบมาตรา ๑๖ และ ๑๘ ที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนที่ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีเสียงเรียกขานเหมือนกับเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้ว มิได้พิจารณาว่า รูปลักษณะของเครื่องหมายการค้าทั้งสองเหมือนหรือคล้ายกันหรือไม่นั้น ยังถือไม่ได้ว่าคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้ใช้ดุลพินิจโดยมีเจตนาไม่สุจริตหรือโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เพราะเหตุผลในการพิจารณาว่า เครื่องหมายการค้าทั้งสองเหมือนหรือคล้ายกันหรือไม่มีได้หลายประการ และเหตุผลที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้วินิจฉัยดังกล่าวก็เป็นเหตุผลหนึ่งในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว แม้โจทก์จะอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าว่า รูปลักษณะเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้ แต่วัตถุประสงค์ในการอุทธรณ์ของโจทก์ ก็เพื่อคัดค้านคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพราะเหตุที่นายทะเบียนเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วดังกล่าว และขอให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยกลับคำสั่งของนายทะเบียนเป็นให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนโดยเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเพราะอาจเรียกขานเครื่องหมายการค้าทั้งสองได้เหมือนกัน จึงถือได้ว่า เป็นการวินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของโจทก์แล้ว เพราะเหตุผลของการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสอง เหมือนหรือคล้ายกันหรือไม่ มิได้มีเพียงการพิจารณารูปลักษณะของเครื่องหมายการค้าเท่านั้น หากแต่อาจพิจารณาจากภาพรวมของเครื่องหมายการค้าทั้งหมดตลอดจนสำเนียงเรียกขานเครื่องหมายการค้านั้นได้ดังวินิจฉัยข้างต้นแล้วด้วย ดังนี้ เมื่อไม่ปรากฏจากทางนำสืบและพยานหลักฐานของโจทก์ว่าความเห็นของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าในคำวินิจฉัยอุทธรณ์เอกสารหมาย จ.๓๕ เกิดจากการใช้ดุลพินิจโดยมีเจตนาไม่สุจริตหรือโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือมีเจตนาจงใจให้โจทก์ได้รับความเสียหายดังที่โจทก์อุทธรณ์ คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเกี่ยวกับการปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพราะเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ๔๙๘๓๙ ที่ได้จดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวกที่ ๑ รายการสินค้า กาวลาเท็กซ์สำหรับปูพื้นไม้ปาร์เกต์ ของบริษัทโสภณพัฒนาจำกัด ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ ๒๙๙๕๗๕ เอกสารหมาย จ.๓๑ คือเครื่องหมายการค้า ++++ ได้หรือไม่ ปรากฏว่า เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนทั้งสามคำขอของโจทก์คือเครื่องหมายการค้า ++++ ++++ และ ++++ ตามเอกสารหมายจ.๓ จ.๕ และ จ.๖ ยังไม่ได้รับการจดทะเบียน โจทก์จึงอยู่ในฐานะเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียน หากโจทก์เห็นว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวและมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเลขที่ ๔๙๘๓๙ ดีกว่าบริษัทโสภณพัฒนา จำกัด โจทก์ก็ต้องฟ้องบริษัทดังกล่าวขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ตามมาตรา ๖๗ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔เพราะผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ในกรณีดังกล่าวคือบริษ