คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8645/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีมีประเด็นข้อพิพาท 4 ประเด็น ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแพ้ในประเด็นที่ 1 ถึงที่ 3 และชนะในประเด็นที่ 4 จำเลยอุทธรณ์โดยบรรยายฟ้องอุทธรณ์เกี่ยวกับสามประเด็นที่แพ้ แต่มีคำขอท้ายอุทธรณ์เพียงขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ประเด็นที่ 2 เพียงประเด็นเดียว นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แสดงว่าจำเลยไม่ประสงค์ที่จะขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาพิพากษาในประเด็นที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์ของจำเลยเป็นคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 ซึ่งมาตรา 142 ประกอบมาตรา 246 ห้ามมิให้ศาลพิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นที่ 2 เพียงข้อเดียว โดยมิได้วินิจฉัยประเด็นข้ออื่นจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 2,740,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,200,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2532 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 1,540,000 บาท หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 1,200,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องย้อนหลังขึ้นไปเป็นเวลาห้าปีกับนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยเพียงข้อเดียวว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่า 5 ปี จากจำเลยหรือไม่ โดยมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ในประเด็นข้ออื่น เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 และย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาใหม่ นั้น ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า 1. โจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับจำนองหรือไม่ 2. โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยเกิน 5 ปี หรือไม่ 3. โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยโดยชอบแล้วหรือไม่ และ 4. จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า โจทก์ได้รับชำระดอกเบี้ยจากจำเลยแล้ว เมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง โจทก์ฟ้องบังคับชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืม จึงไม่อยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 745 โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยเกิน 5 ปี ได้ โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยโดยชอบแล้ว และสัญญาจำนองไม่มีข้อตกลงว่า หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ ผู้จำนองจะต้องรับผิดชำระหนี้ในส่วนที่ขาด ฉะนั้น ถ้านำทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ เงินยังขาดอยู่เท่าใดจำเลยไม่ต้องรับผิด พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,200,000 บาท ซึ่งเป็นต้นเงินตามสัญญากู้ยืม และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2532 ซึ่งเป็นวันที่กู้ยืมเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 30 มีนาคม 2541) ต้องไม่เกิน 1,540,000 บาท หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากเงินได้สุทธิไม่พอชำระหนี้ จำเลยไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ขาด คำพิพากษาดังกล่าวเป็นการตัดสินให้จำเลยแพ้ในประเด็นที่ 1 ถึง ที่ 3 และชนะในประเด็นที่ 4 จำเลยอุทธรณ์โดยบรรยายฟ้องอุทธรณ์ถึงทั้งสามประเด็นที่แพ้ แต่มีคำขอท้ายอุทธรณ์เพียงว่า ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยเป็นเวลาเพียง 5 ปี นับแต่วันฟ้องย้อนหลังขึ้นไป นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แสดงว่าจำเลยไม่ประสงค์ที่จะขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาพิพากษาในประเด็นจำเลยผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ และการบอกกล่าวบังคับจำนองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อีกต่อไป คงต้องการให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาพิพากษาในประเด็นเรื่องดอกเบี้ยแต่เพียงข้อเดียว อุทธรณ์ของจำเลยเป็นคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 ซึ่งมาตรา 142 ประกอบมาตรา 246 ห้ามมิให้ศาลพิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นเรื่องดอกเบี้ยเพียงข้อเดียว โดยมิได้วินิจฉัยประเด็นข้ออื่นจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share