แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 1 ทำกับ ส. ระบุว่า จำเลยที่ 1 ได้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของ ส. แล้วยักยอกเงินดังกล่าวไป จึงตกลงคืนเงินที่ยักยอกไปให้แก่ ส. นั้น เป็นเพียงหนังสือที่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นหนี้ ส. และยอมชำระหนี้แก่ ส. ไม่มีข้อความที่จำเลยที่ 1 กับ ส. ตกลงระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ อันจะทำให้หนี้จากมูลละเมิดระงับสิ้นไป
โจทก์เป็นธนาคารซึ่งได้รับฝากเงินของ ส. ผู้เป็นลูกค้า ย่อมมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่ ส. ฝากไว้เมื่อ ส. ทวงถาม การที่จำเลยที่ 1 ได้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของ ส. แล้วยักยอกเงินดังกล่าวไป ทำให้เงินในบัญชีเงินฝากของ ส. ขาดหายไป โจทก์มีหน้าที่ต้องคืนเงินที่ขาดหายไปให้แก่ ส. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 การที่โจทก์คืนเงินที่จำเลยที่ 1 ยักยอกไปให้แก่ ส. จึงมิใช่เป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้ว่าไม่มีหนี้ต้องชำระ เมื่อโจทก์ได้ชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่ ส. ไปแล้ว ย่อมมีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในเงินที่ชำระไปได้ตามมาตรา 420
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างโจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้รักษาเงิน สาขาขอนแก่น โดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามความเป็นจริงแต่ไม่เกิน ๓,๐๐๐ บาท ระหว่างปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๓๘ และวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๓๘ จำเลยที่ ๑ ได้กระทำทุจริตต่อหน้าที่และผิดสัญญาจ้างแรงงาน ได้ถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของลูกค้าโจทก์ไปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของบัญชีเงินฝาก และเบียดบังยักยอกเงินไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวเป็นเงิน ๙๕๐,๐๐๐ บาท และต่อมาโจทก์ได้ชดใช้คืนให้แก่ลูกค้าแทนจำเลยที่ ๑ ไป เป็นเงิน ๗๕๐,๐๐๐ บาท จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันชดใช้เงินจำนวน ๗๕๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ชำระเงินจำนวน ๗๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๒ เป็นต้นไป โดยให้จำเลยที่ ๒ ร่วมรับผิดในหนี้ดังกล่าวจำนวน ๓,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การด้วยวาจาว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ตามฟ้อง จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๗๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๒ เป็นต้นไป โดยคำนวณดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่เกิน ๓๘,๒๑๙.๑๗ บาท หากไม่ชำระให้จำเลยที่ ๒ รับผิดในหนี้ดังกล่าวแทนเป็นเงิน ๓,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้อง วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๒ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยกเสีย
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า ระหว่างวันที่ ๒๕ และวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๓๘ มีผู้ปลอมลายมือชื่อลูกค้าและลายมือชื่อผู้อนุมัติให้ถอนเงินในใบถอนเงินแล้วนำไปถอนเงินจากบัญชีลูกค้าของโจทก์ สาขาขอนแก่น ชื่อ ส. เป็นเงิน ๔๕๐,๐๐๐ บาท และ ๕๐๐,๐๐๐ บาท โดยจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ยักยอกเงินดังกล่าวไป แล้วจำเลยที่ ๑ ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้กับ ส. เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๓๙ จำเลยที่ ๑ ได้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของ ส. จำนวน ๙๕๐,๐๐๐ บาท แล้วยักยอกเงินดังกล่าวไป โดยตกลงจะชำระเงินคืนให้แก่ ส. ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๓๙ โดยชำระด้วยเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนหน้าเมือง ในวันที่ทำบันทึกได้ชำระคืนแล้วจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท มอบให้ ส.
ที่จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความยอมชำระหนี้อันเกิดจากมูลละเมิดให้ ส. แล้ว ทำให้หนี้ละเมิดระงับสิ้นไป ต้องบังคับให้ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่ง ส. เท่านั้นมีสิทธิบังคับให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ได้ โจทก์ไม่มีภาระต้องชำระหนี้แก่ ส. การที่โจทก์ชำระหนี้ให้แก่ ส. โดยรู้ว่าไม่ต้องชำระ จึงเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ โจทก์ไม่สามารถไล่เบี้ยให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๒๕ นั้น เห็นว่า หนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ ๑ ทำกับ ส. ระบุว่า จำเลยที่ ๑ ได้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของ ส. แล้วยักยอกเงินดังกล่าวไป จึงตกลงคืนเงินที่ยักยอกไปให้แก่ ส. นั้น เป็นเพียงหนังสือที่จำเลยที่ ๑ รับว่าเป็นหนี้ ส. และยอมชำระหนี้แก่ ส. ไม่มีข้อความที่จำเลยที่ ๑ กับ ส. ตกลงระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ อันจะทำให้หนี้จากมูลละเมิดระงับสิ้นไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๘๕๐ ถึง ๘๕๒ โจทก์เป็นธนาคารซึ่งได้รับฝากเงินของ ส. ผู้เป็นลูกค้า ย่อมมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่ ส. ฝากไว้เมื่อ ส. ทวงถาม การที่จำเลยที่ ๑ ได้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของ ส. แล้วยักยอกเงินดังกล่าวไป ทำให้เงินในบัญชีเงินฝากของ ส. ขาดหายไป โจทก์มีหน้าที่ต้องคืนเงินที่ขาดหายไปให้แก่ ส. ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๗๒ ที่โจทก์คืนเงินที่จำเลยที่ ๑ ยักยอกไปให้แก่ ส. จึงมิใช่เป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้ว่าไม่มีหนี้ต้องชำระ เมื่อโจทก์ได้ชำระหนี้ที่เกิดจากจำเลยที่ ๑ กระทำละเมิดต่อโจทก์ให้แก่ ส. ไปแล้ว ย่อมมีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ ๑ รับผิดในเงินที่ชำระไปได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๒๐ อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.