คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8641/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คนร้ายที่ใช้กำลังประทุษร้ายและเอาทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสองไปมีเพียง 2 คน เท่านั้นคือจำเลยกับ ส. ส่วน ป. คงยืนเฉย ๆ มิได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือจำเลยกับ ส. และตามพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในทันทีทันใดโดยมิได้คบคิดกันมาก่อนพฤติการณ์ที่ ป. ยืนอยู่เฉย ๆ ในที่เกิดเหตุจะถือว่าร่วมกระทำความผิดด้วยกันไม่ได้เมื่อการกระทำความผิดมีผู้ร่วมกระทำความผิดเพียง 2 คน จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานปล้นทรัพย์
ความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้องรวมความผิดฐานชิงทรัพย์ด้วย ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย
จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2538 เวลากลางคืนหลังเที่ยงจำเลยกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3116/2538 ของศาลชั้นต้นได้ร่วมกันปล้นทรัพย์เอาเงินจำนวน 40 บาท กับรองเท้า 1 คู่ ราคา 450 บาทของนายเอกชัย ศรีสุข ผู้เสียหายที่ 1 และเงินจำนวน 40 บาท กับรองเท้า 1 คู่ราคา 450 บาท ของนายพงษ์ธิวัฒน์หรือพงษ์ธิวัติ พันธ์วิไล ผู้เสียหายที่ 2 ไปการปล้นทรัพย์ดังกล่าวจำเลยกับพวกใช้รถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียนศรีสะเกษ ง – 4863 เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นจากการจับกุมขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี, 83 และให้จำเลยกับพวกในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3116/2538 คืนหรือใช้เงิน 80 บาท กับรองเท้า2 คู่ ราคา 900 บาท ให้แก่ผู้เสียหายทั้งสอง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี, 83 ลงโทษจำคุก 15 ปีให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 80 บาท กับคืนหรือใช้ราคารองเท้า 2 คู่ ราคา 900 บาทให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองด้วย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคหนึ่ง, 340 ตรี ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 แล้ว คงจำคุก 3 ปี9 เดือน ยกฟ้องข้อหาปล้นทรัพย์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้องขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์โดยมีผู้เสียหายที่ 2 นั่งซ้อนท้ายมาถึงบริเวณต้นโพธิ์หน้าสำนักงานที่ดินจังหวัดศรีสะเกษจำเลยขับรถจักรยานยนต์อีกคันหนึ่งมีนายสิทธิชัยและนายประยูรนั่งซ้อนท้ายตามหลังและมาเทียบรถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายที่ 1 ขับ จำเลยใช้มือดึงแฮนด์รถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายที่ 1 ขับ เมื่อรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยหยุด จำเลยตรงเข้าไปหาผู้เสียหายที่ 2 และถามว่า ขอเงินใช้หน่อยผู้เสียหายที่ 2 ตอบว่าไม่มี จำเลยจึงตบหน้าผู้เสียหายที่ 2 หนึ่งครั้งแล้วล้วงเอาเงินในกระเป๋าเสื้อของผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 40 บาท และรองเท้าแตะ 1 คู่ ราคา 450 บาท ของผู้เสียหายที่ 2 ไป นายสิทธิชัยเข้าไปหาผู้เสียหายที่ 1 และถามว่ามีเงินหรือไม่ ผู้เสียหายที่ 1 ตอบว่าไม่มี นายสิทธิชัยจึงตบหน้าผู้เสียหายที่ 1 หนึ่งครั้ง แล้วล้วงเอาเงินในกระเป๋ากางเกงจำนวน40 บาท และรองเท้าแตะ 1 คู่ ราคา 450 บาท ของผู้เสียหายที่ 1 ไปส่วนนายประยูรยืนอยู่ที่ข้างรถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับแล้วจำเลยเข้าไปดึงเอากุญแจรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ไป นายสิทธิชัยใช้เท้าถีบรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ล้มลง ต่อจากนั้นจำเลย นายสิทธิชัยและนายประยูรขึ้นรถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับหลบหนีไปด้วยกัน

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยกับพวกดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้องหรือไม่ แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าจำเลยกับพวกอีก 2 คน จะร่วมนั่งรถจักรยานยนต์คันเดียวกันไปที่เกิดเหตุด้วยกัน แต่ผู้เสียหายทั้งสองซึ่งเป็นประจักษ์พยานต่างเบิกความยืนยันว่าคนร้ายที่ใช้กำลังประทุษร้ายและเอาทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสองไปมีเพียง 2 คนเท่านั้น คือจำเลยกับนายสิทธิชัย ส่วนคนร้ายที่เหลืออีก 1 คนคือนายประยูรนั้น ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความว่า นายประยูรยืนอยู่ที่รถจักรยานยนต์ที่นั่งซ้อนท้ายเท่านั้น ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความว่านายประยูรลงจากรถแล้วยืนคุมเชิงอยู่ที่รถจักรยานยนต์ที่นั่งซ้อนท้าย ตามคำเบิกความของผู้เสียหายทั้งสองจะเห็นได้ว่านายประยูรคงยืนเฉย ๆ มิได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือจำเลยกับนายสิทธิชัยแต่อย่างใดเลย ดังนั้น เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีที่เกิดขึ้นเนื่องจากผู้เสียหายที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์แซงรถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับแล้วจำเลยก็ขับแซงขึ้นไปจึงเกิดเหตุคดีนี้ขึ้นน่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในทันทีทันใดโดยมิได้คบคิดกันมาก่อน เป็นเรื่องเฉพาะตัว เมื่อไม่ปรากฏว่านายประยูรร่วมกระทำการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยและนายสิทธิชัยในการกระทำผิด พฤติการณ์ที่นายประยูรยืนอยู่เฉย ๆ ในที่เกิดเหตุจะถือว่าร่วมกระทำความผิดด้วยกันไม่ได้ฉะนั้น การกระทำความผิดครั้งนี้จึงมีผู้ร่วมกระทำความผิดเพียง 2 คนเท่านั้นจำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรีเท่านั้น หามีความผิดฐานปล้นทรัพย์ไม่ แม้โจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานชิงทรัพย์แต่ความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้องรวมความผิดฐานชิงทรัพย์ด้วย ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามที่พิจารณาได้ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้ายแต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะแต่ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคหนึ่ง, 340 ตรี นั้นไม่ถูกต้องสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง และศาลฎีกามีอำนาจเพิ่มเติมโทษจำเลยได้ เพราะโจทก์ได้ฎีกาขอให้ลงโทษฐานปล้นทรัพย์ซึ่งมีโทษหนักขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 คงจำคุก 7 ปี6 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share