คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8630/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง เป็นเพียงกำหนดระยะเวลาเร่งรัดให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนใช้สิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนโดยเร็วเท่านั้น ไม่ใช่บทบัญญัติตัดสิทธิ
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 84 ทวิ เป็นกรณีที่ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติตามกำหนดเวลาตามมาตรา 56 ทราบถึงสิทธิและหน้าที่ของตนที่จะต้องปฏิบัติภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดแต่ตนมิได้อยู่ในประเทศไทยหรืออยู่ในประเทศไทยแต่มีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถจะปฏิบัติตามกำหนดเวลานั้นได้ จึงยื่นคำร้องขอขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลายื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนตามมาตรา 56 ออกไปเพื่อรักษาประโยชน์ของลูกจ้าง มิใช่บทบัญญัติตัดสิทธิของลูกจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เกิดเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2487 เดิม โจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัททวีสินเทคโนโลยี จำกัด แต่ได้สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2547 ขณะอายุ 60 ปี โจทก์ส่งเงินสมทบกรณีชราภาพมาแล้ว 26 เดือน มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ ซึ่งสำนักงานจำเลยเขตพื้นที่ 2 มีหนังสือแจ้งโจทก์ให้ไปขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ ครั้นโจทก์ยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพต่อสำนักงานจำเลยเขตพื้นที่ 9 แต่สำนักงานจำเลยดังกล่าวนี้กลับมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จชราภาพกรณีความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงเนื่องจากโจทก์ยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนเกินระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันมีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ แต่คณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยที่ 357/2548 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2548 ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์เนื่องจากเห็นว่าโจทก์ยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนพ้นกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันมีสิทธิ คำสั่งของสำนักงานจำเลยเขตพื้นที่ดังกล่าวและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เพราะโจทก์ไม่ทราบว่าการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพต้องยื่นภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปีนับแต่มีสิทธิ ซึ่งหากโจทก์ทราบก็คงจะติดต่อขอรับประโยชน์ทดแทนทันที จำเลยเพิ่งมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบภายหลังที่พ้นกำหนดระยะเวลา1 ปีแล้ว ซึ่งเมื่อโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งดังกล่าวโจทก์ก็ติดต่อกับจำเลยทันทีจึงเป็นกรณีมีเหตุอันควรและมีความจำเป็นที่ต้องใช้สิทธิล่าช้า ขอให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงานจำเลยเขตพื้นที่ 9 ที่ รง.0621/… ลงวันที่ 14 มกราคม 2548 และคำวินิจฉัยคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 357/2548 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2548 เพื่อให้โจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ
จำเลยให้การว่า คำสั่งของสำนักงานจำเลยเขตพื้นที่ 9 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ตามฟ้องที่มีมติว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพกรณีความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงเนื่องจากโจทก์ได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนเกินกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 นั้นชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้วไม่มีเหตุที่จะเพิกถอน เปลี่ยนแปลงแก้ไขแต่อย่างใด เนื่องจากปรากฏว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัททวีสินเทคโนโลยี จำกัด สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2547 โจทก์ยืนยันว่าได้รับทราบหนังสือสำนักงานประกันสังคมจำเลยเขตพื้นที่ 2 ที่ รง. 0620/ว 42937 ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2547 เรื่องการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2547 ซึ่งในหนังสือฉบับนี้ได้แจ้งให้โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพต่อสำนักงานจำเลยเขตพื้นที่จังหวัดได้ทุกแห่งทั่วประเทศภายในวันที่ 11 มกราคม 2548 หากพ้นกำหนดดังกล่าว เงินประโยชน์ทดแทนจะตกเป็นของกองทุน ทำให้โจทก์ทราบถึงสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพมากยิ่งขึ้น การที่โจทก์อ้างว่าเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2548 โจทก์ยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพต่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 9 นับแต่ทราบถึงสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพอยู่ในกำหนด 1 ปีและโจทก์อ้างว่าไม่ทราบมาก่อนว่าการขอรับประโยชน์ทดแทนต้องยื่นขอรับภายในกำหนด 1 ปีนั้น จำเลยเห็นว่าโจทก์ไม่มีเหตุสมควรหรือความจำเป็นอื่นใดที่สามารถยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพได้ภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี อีกทั้งโจทก์มิได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาตามมาตรา 84 ทวิ ข้ออ้างของโจทก์จึงไม่ถูกต้องและไม่อาจรับฟังได้เพราะพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มิได้มีบทบัญญัติใดที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของจำเลยจะต้องแจ้งถึงสิทธิและกำหนดเวลาในการขอรับประโยชน์ทดแทนต่างๆ ให้แก่โจทก์ทราบ การที่สำนักงานจำเลยเขตพื้นที่ 2 มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบดังกล่าวก็เพื่ออำนวยความสะดวกแก่โจทก์เท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 9 ลงวันที่ 14 มกราคม 2548 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 357/2548 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2548 และให้จำเลยจ่ายประโยชน์ทดแทนเงินบำเหน็จชราภาพกรณีความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เคยทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัททวีสินเทคโนโลยี จำกัด และพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2547 ระหว่างทำงานโจทก์ได้ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพแล้ว 26 เดือน หลังออกจากงาน สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 2 มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพภายในวันที่ 11 มกราคม 2548 มิฉะนั้นจะหมดสิทธิรับ ต่อมาวันที่ 14 มกราคม 2548 โจทก์ได้ไปขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ แต่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 9 เห็นว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเนื่องจากโจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนเกินกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันมีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทน ศาลแรงงานกลางเห็นว่า โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนเกินกำหนดหนึ่งปีไปเพียง 3 วัน แสดงว่าโจทก์มิได้จงใจที่จะไม่ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายใน 1 ปี จึงให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 9 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์กับให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพแก่โจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การที่โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนต่อสำนักงานประกันสังคมเกินหนึ่งปีนับแต่วันมีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทน ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง จำเลยต้องจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพแก่โจทก์หรือไม่ พิเคราะห์แล้วพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 56 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “ผู้ประกันตนหรือบุคคลอื่นใดเห็นว่าตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีใดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 54 และประสงค์จะขอรับประโยชน์ทดแทนนั้น ให้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนต่อสำนักงานตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนดภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนนั้นและให้เลขาธิการหรือผู้ซึ่งเลขาธิการมอบหมายพิจารณาสั่งการโดยเร็ว” วรรคสอง บัญญัติว่า “ประโยชน์ทดแทนตามวรรคหนึ่งที่เป็นตัวเงิน ถ้าผู้ประกันตนหรือบุคคลซึ่งมีสิทธิไม่มารับภายในสองปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักงาน ให้เงินนั้นตกเป็นของกองทุน” เห็นว่า แม้ตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนและประสงค์จะขอรับประโยชน์ทดแทนให้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติว่าหากผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนไม่ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในเวลาดังกล่าว จะมีผลทำให้สิทธิที่จะได้รับประโยชน์ทดแทนระงับสิ้นไป ดังนั้นระยะเวลาการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในหนึ่งปีดังกล่าวจึงเป็นเพียงกำหนดระยะเวลาเร่งรัดให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนใช้สิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนโดยเร็วเท่านั้น ไม่ใช่บทบัญญัติตัดสิทธิแต่อย่างใด ซึ่งต่างกับกรณีที่ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจะต้องเป็นไปตามมาตรา 56 วรรคสอง อันเป็นกรณีที่ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทน และสำนักงานประกันสังคมได้พิจารณาแล้วเห็นว่าบุคคลดังกล่าวมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนโดยแจ้งให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนมารับประโยชน์ทดแทนที่เป็นตัวเงินแล้ว แต่บุคคลดังกล่าวไม่มารับภายในสองปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักงานประกันสังคมประโยชน์ทดแทนที่เป็นตัวเงินนั้นจึงจะตกเป็นของกองทุน กรณีของโจทก์เพียงแต่ได้รับแจ้งจากสำนักงานประกันสังคมให้ไปยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนต่อสำนักงานประกันสังคมภายในหนึ่งปี ตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง อันเป็นชั้นขอใช้สิทธิเท่านั้น มิใช่กรณีได้รับแจ้งให้ไปรับประโยชน์ทดแทนที่เป็นตัวเงินตามมาตรา 56 วรรคสองดังที่กล่าวมา ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่าพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 84 ทวิ ได้กำหนดทางแก้หากผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนไม่สามารถปฏิบัติตามกำหนดเวลาตามมาตรา 56 ไว้แล้วนั้น เห็นว่า มาตรา 84 ทวิ เป็นกรณีที่ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติตามกำหนดเวลาตามมาตรา 56 ทราบถึงสิทธิและหน้าที่ของตนที่จะต้องปฏิบัติภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดแต่ตนมิได้อยู่ในประเทศไทยหรืออยู่ในประเทศไทยแต่มีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถจะปฏิบัติตามกำหนดเวลานั้นได้ จึงยื่นคำร้องขอขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลายื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนตามมาตรา 56 ออกไปเพื่อรักษาประโยชน์ของลูกจ้างมิใช่บทบัญญัติตัดสิทธิของลูกจ้างเช่นกัน ดังนั้น แม้โจทก์จะไม่ได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนต่อสำนักงานประกันสังคมภายในหนึ่งปีก็ไม่ถูกตัดสิทธิที่จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน

Share