แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 วรรคสอง เป็นกำหนดระยะเวลาให้ใช้สิทธิเรียกร้อง ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความจึงเป็นเรื่องอายุความฟ้องร้องตามมาตรา 193/9
ปัญหาเรื่องอายุความไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้ยกปัญหานี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การ ส่วนจำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์จะเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/29
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกันเมื่อเดือนกันยายน 2509 ระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยากัน ประมาณกลางปี 2510 โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกันซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 18795 พร้อมตึกแถวเลขที่ 213 โดยใส่ชื่อจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ต่อมาวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2533 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์รวม 1 ใน 2 ส่วนและวันที่ 6 กรกฎาคม 2536 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินและตึกแถวพิพาทเฉพาะส่วนที่เหลือของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ถือกรรมสิทธิ์รวม 1 ใน 2 ส่วน โดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์ทราบว่ามีการจดทะเบียนนิติกรรมดังกล่าวเมื่อประมาณปี 2540 จำเลยที่ 2 เป็นน้องสาวของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นหลานของจำเลยที่ 1 ทราบดีว่าที่ดินและตึกแถวพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินและตึกแถวพิพาทที่จำเลยที่ 1 โอนให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 แล้วใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม หากจำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ทรัพย์พิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนที่ดินและตึกแถวพิพาทมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน เดิมที่ดินและตึกแถวพิพาทเป็นของนางป่อหน่ำกับนายป้อตุ้น นางป่อหน่ำเป็นมารดาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งเป็นยายของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ส่วนนายป้อตุ้นเป็นพี่ชายของจำเลยที่ 2 ทั้งเป็นบิดาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 แต่ทั้งสองเป็นคนต่างด้าว จึงใส่ชื่อของจำเลยที่ 1 แทน ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่เป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รวมระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 18795 เลขที่ดิน 1861 แขวงคลองเตย (บางกะปิฝั่งใต้) เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมตึกแถวเลขที่ 213 และให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยที่ 1 ในที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาทดังกล่าว หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกปัญหาว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงไม่มีอำนาจฟ้องและพิพากษายกฟ้องชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีนำที่ดินและตึกแถวพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสไปโอนให้บุคคลอื่นโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสจึงถือได้ว่าเป็นการจัดการสินสมรสโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1480 วรรคสอง บัญญัติว่า “การฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมตามวรรคหนึ่งห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น” จะเห็นได้ว่ากำหนดระยะเวลาให้ฟ้องคดีดังกล่าวเป็นกำหนดระยะเวลาให้ใช้สิทธิเรียกร้อง ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ จึงเป็นเรื่องอายุความฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/9 ปัญหาเรื่องอายุความไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มิได้ยกปัญหานี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การ ส่วนจำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 193/29 ที่ศาลอุทธรณ์ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและพิพากษายกฟ้องเป็นการไม่ชอบ คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่ได้วินิจฉัยประเด็นที่ว่าที่ดินและตึกแถวพิพาทเป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ 1 หรือไม่ และโจทก์มีสิทธิเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รวม ที่จำเลยที่ 1 โอนให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 หรือไม่ แต่เมื่อคู่ความต่างนำพยานหลักฐานของตนเข้าสืบจนเสร็จสิ้นกระแสความแล้ว เพื่อความรวดเร็วในการพิจารณาพิพากษาคดี ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามประเด็นดังกล่าวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ในข้อนี้ได้ความว่า หลังจากจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.3 ย่อมได้รับประโยชน์ตามข้อสันนิษฐานว่าผู้มีชื่อในโฉนดเป็นเจ้าของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือไม่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส” ซึ่งโจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานดังกล่าว โจทก์ได้นำสืบพยานตามข้ออ้างของโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กล่าวอ้างว่า ที่ดินและตึกแถวพิพาทไม่ใช่สินสมรส ย่อมมีภาระการพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว คดีนี้จำเลยที่ 1 ให้การอ้างว่าทรัพย์พิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 แต่ทางพิจารณาจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้นำพยานมานำสืบสนับสนุนข้ออ้างของตน ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่าจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวพิพาทแทนนางป่อหน่ำมารดาจำเลยที่ 1 และนายป้อตุ้นพี่ชายจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ได้ที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยเสียค่าตอบแทน แต่ทางพิจารณาจำเลยที่ 2 และที่ 3 กลับนำสืบว่าที่ดินพิพาทเป็นของนายป้อตุ้นคนเดียว และจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ได้ที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยไม่เสียค่าตอบแทน ขัดแย้งกับคำให้การ ส่วนที่อ้างนายป้อตุ้นเป็นพยาน นายป้อตุ้นก็เบิกความลอยๆ แต่เพียงว่าเป็นผู้ซื้อที่ดินและตึกแถวพิพาท แต่เนื่องจากมีเชื้อชาติจีน จึงให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำสัญญาซื้อที่ดินและตึกแถวพิพาทแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งนายป้อตุ้นอ้างว่ามีส่วนรู้เห็นในการซื้อขายที่ดินและตึกแถวพิพาทจำเลยที่ 2 ที่ 3 ก็ไม่ได้นำมาเบิกความสนับสนุน ที่ดินและตึกแถวพิพาทได้ซื้อมาตั้งแต่ปี 2510 เมื่อพิจารณาสารบัญจดทะเบียนท้ายโฉนดที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.3 แล้วจะเห็นได้ว่า หลังจากซื้อที่ดินพิพาทมาแล้ว จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวมาโดยตลอดเป็นเวลาเกือบยี่สิบปี ไม่ปรากฏว่านายป้อตุ้นมีส่วนเกี่ยวข้องในการทำนิติกรรมด้วย จนเมื่อปี 2532 มีการแบ่งแยกโฉนดที่ดินพิพาทเป็นโฉนดอีกแปลงหนึ่ง ตามสำเนาโฉนดเอกสารหมาย ล.3 ซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรของนายป้อตุ้นมีอายุประมาณ 29 ปี และ 28 ปี ตามลำดับ หากนายป้อตุ้นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจริงก็น่าจะให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินคืนโดยโอนให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 แทนนายป้อตุ้นได้ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีการแบ่งแยกที่ดินโอนใส่ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดดังกล่าว เป็นการผิดปกติวิสัยของการเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทของนายป้อตุ้น ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้าง นายประยูรบุตรเขยของนางไกรเจ้าของที่ดินพิพาทเดิมเป็นพยาน นายประยูรก็ไม่ได้เบิกความยืนยันว่าร่วมรู้เห็นในการซื้อขายที่ดินพิพาทมาโดยตลอด ส่วนที่นายป้อตุ้นเบิกความถึงก็ไม่ได้ยืนยันพาดพิงว่านายประยูรเข้ามามีส่วนร่วมรู้เห็นขณะที่ซื้อขายที่ดินพิพาทด้วย พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวพิพาทแทนนายป้อตุ้น ที่ดินและตึกแถวพิพาทจึงเป็นสินสมรสเพราะเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างเป็นคู่สมรสกับโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินและตึกแถวพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับว่าโจทก์ไม่ได้ไปสำนักงานที่ดินด้วย โจทก์ไม่ทราบว่ามีการทำนิติกรรมการโอนที่ดินและตึกแถวพิพาทและเป็นการโอนโดยไม่มีค่าตอบแทนแสดงว่าโจทก์มิได้ให้ความยินยอมทั้งเป็นการโอนโดยไม่มีค่าตอบแทน โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น