คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8189/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้มีอำนาจจัดทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองต้องเป็นกรมการอำเภออันหมายถึงนายอำเภอเท่านั้น และสามารถทำนอกที่ว่าการอำเภอได้ เมื่อมีการร้องขอ ดังนั้น การที่ผู้ร้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่อำเภอเมืองขอนแก่นขอให้ไปทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองให้แก่ผู้ตายที่โรงพยาบาล และแม้ ป. ซึ่งเป็นเพียงปลัดอำเภอเมืองขอนแก่นเป็นผู้จัดทำพินัยกรรม แต่ขณะทำพินัยกรรม ป. รักษาราชการแทนนายอำเภอ การที่ ป. ไปทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองให้แก่ผู้ตายที่โรงพยาบาลจึงเป็นการชอบด้วยกฎหมาย และแม้ผู้ร้องจะเป็นผู้แจ้งความประสงค์ให้ ป. ทราบว่าผู้ตายมีเจตนาทำพินัยกรรมอย่างไร จนเป็นเหตุให้ ป. สามารถให้เจ้าหน้าที่พิมพ์ข้อความต่างๆ ในพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองขอนแก่นจนเสร็จเรียบร้อยก่อนเดินทางไปโรงพยาบาลก็เป็นเพียงการอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ไม่ต้องหอบหิ้วเครื่องพิมพ์ดีด และกระดาษไปพิมพ์ที่โรงพยาบาลเท่านั้น ยังไม่ใช่เป็นการแจ้งข้อความที่ประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรม และเมื่อไปถึงโรงพยาบาล ป. สอบถามผู้ตายว่าประสงค์จะทำพินัยกรรมตามที่ผู้ร้องบอกกล่าวในเบื้องต้นหรือไม่ ผู้ตายก็ยืนยันต่อหน้าพยานสองคนว่าเป็นความประสงค์ของผู้ตายจริง การสอบถามของ ป. และการยืนยันของผู้ตายดังกล่าวจึงเป็นความหมายเป็นการแจ้งข้อความที่ประสงค์ให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของผู้ทำพินัยกรรมแก่นายอำเภอต่อหน้าพยานสองคนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1658 (1) หลังจากนั้น ป. อ่านข้อความให้ผู้ตายและพยานฟัง ผู้ตายเห็นว่าถูกต้องก็ลงชื่อในพินัยกรรมโดยมีพยานสองคนลงลายมือชื่อ ป. ลงชื่อรับรองว่าพินัยกรรมทำถูกต้องตามกฎหมายแล้วประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญ พินัยกรรมดังกล่าวจึงสมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1658

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอ ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางวิมลลักษณ์ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายไกรเพชรผู้ตาย ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ยกคำร้องขอของผู้คัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า เมื่อพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.3 หรือ ร.10 ไม่เป็นพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองแล้วจะสมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบอื่นได้หรือไม่ เห็นว่า ก่อนที่จะวินิจฉัยปัญหานี้ เห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาว่า พินัยกรรมเอกสารหมาย ร.3 หรือ ร.10 เป็นพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองหรือไม่ แม้ปัญหานี้จะไม่มีฝ่ายใดฎีกา แต่แบบของพินัยกรรมตามที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ปัญหานี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1658 และมาตรา 1659 บัญญัติว่า ผู้มีอำนาจจัดทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองต้องเป็นกรมการอำเภออันหมายถึงนายอำเภอเท่านั้น และสามารถทำนอกที่ว่าการอำเภอได้ เมื่อมีการร้องขอ ดังนั้น การที่ผู้ร้องไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่อำเภอเมืองขอนแก่นขอให้ไปทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองให้แก่ผู้ตายที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ และนายประเสริฐซึ่งแม้จะเป็นเพียงปลัดอำเภอเมืองขอนแก่น แต่ผู้ร้องก็มีนายประเสริฐเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า ขณะทำพินัยกรรมดังกล่าวนายประเสริฐรักษาราชการแทนนายอำเภอเมืองขอนแก่น ความข้อนี้ผู้คัดค้านก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น พยานหลักฐานผู้ร้องจึงรับฟังได้ว่า นายประเสริฐทำพินัยกรรมดังกล่าวขณะรักษาราชการแทนนายอำเภอ การที่นายประเสริฐไปทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองให้แก่ผู้ตายที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมาย และแม้ว่าผู้ร้องจะเป็นผู้แจ้งความประสงค์ให้นายประเสริฐทราบว่าผู้ตายมีเจตนาทำพินัยกรรมอย่างไร จนเป็นเหตุให้นายประเสริฐสามารถให้นางเพ็ญศรีพิมพ์ข้อความต่างๆ ในพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองขอนแก่นจนเสร็จเรียบร้อยก่อนเดินทางไปโรงพยาบาลศรีนครินทร์ก็เป็นเพียงการอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ ไม่ต้องหอบหิ้วเครื่องพิมพ์ดีด และกระดาษไปพิมพ์ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์เท่านั้น ยังไม่ใช่เป็นการแจ้งข้อความที่ประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรม และผู้ร้องมีนายประเสริฐ นางเพ็ญศรี และนายสุริยาเป็นพยานเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า เมื่อไปถึงโรงพยาบาล นายประเสริฐสอบถามผู้ตายว่าประสงค์จะทำพินัยกรรมตามที่ผู้ร้องบอกกล่าวในเบื้องต้นหรือไม่ ผู้ตายก็ยืนยันว่าเป็นความประสงค์ของผู้ตายจริง ความข้อนี้ผู้คัดค้านก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น ประกอบกับพยานผู้ร้องทั้งสามก็เป็นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ ไม่ปรากฏว่ามีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด คำเบิกความของพยานผู้ร้องทั้งสามจึงมีน้ำหนักรับฟังได้ ศาลฎีกาเห็นว่า การสอบถามของนายประเสริฐ และการยืนยันของผู้ตายดังกล่าวจึงมีความหมายเป็นการแจ้งข้อความที่ประสงค์ให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของผู้ทำพินัยกรรมแก่นายอำเภอต่อหน้าพยานสองคน คือนางเพ็ญศรีและนายสุริยาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1658 (1) หลังจากนั้นนายประเสริฐอ่านข้อความให้ผู้ตายและพยานคือ นางเพ็ญศรีและนายสุริยาฟัง ผู้ตายเห็นว่าถูกต้องก็ลงชื่อในพินัยกรรมโดยมีนางเพ็ญศรีและนายสุริยาลงชื่อเป็นพยาน และนายประเสริฐลงชื่อรับรองว่าพินัยกรรมทำถูกต้องตามกฎหมาย แล้วประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญ พินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร. 10 จึงสมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1658 เมื่อเป็นเช่นนี้ ศาลฎีกาก็ไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นที่ผู้คัดค้านฎีกาดังกล่าวอีกต่อไป ส่วนประเด็นที่ผู้คัดค้านฎีกาต่อมาว่า ทรัพย์ที่ระบุในพินัยกรรมเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใดเป็นประเด็นพิพาทในคดีนี้หรือไม่นั้น เห็นว่า คดีนี้มีประเด็นแต่เพียงว่าผู้ใดเหมาะสมเป็นผู้จัดการมรดก ไม่มีประเด็นว่าทรัพย์ที่ระบุในพินัยกรรมเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใด และที่ศาลมีคำสั่งตั้งฝ่ายใดเป็นผู้จัดการมรดกก็ไม่ได้ทำให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ระบุในพินัยกรรมเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ประเด็นดังกล่าวจึงไม่ใช่ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้ และพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.10 ระบุให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ศาลก็ต้องตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 วรรคท้าย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share