คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10406/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างและค่าทำงานในวันหยุดแก่โจทก์ โจทก์จึงร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานกลุ่มสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 8 พนักงานตรวจแรงงานสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วมีคำสั่งให้จำเลยจ่ายค่าจ้างและค่าทำงานในวันหยุดแก่โจทก์และได้ส่งคำสั่งให้จำเลยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 143 วรรคหนึ่ง จำเลยได้รับทราบคำสั่งเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2548 แล้ว จำเลยไม่นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นที่สุดตามมาตรา 125 วรรคสอง จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานให้โจทก์ภายในสิบห้าวันนับแต่วันทราบคำสั่งตามมาตรา 124 วรรคสาม โดยไม่มีสิทธิยกข้อต่อสู้ตามคำให้การซึ่งยุติไปแล้วในชั้นพนักงานตรวจแรงงานมากล่าวอ้างในชั้นที่โจทก์ฟ้องต่อศาลแรงงานกลางขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2547 จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาด ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน เดือนละ 70,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 10 ของเดือน ครั้นถึงเดือนพฤษภาคม 2548 จำเลยขอลดค่าจ้างโจทก์จากเดือนละ 70,000 เป็นเงิน 35,000 บาท และจะจ่ายค่าคอมมิสชันให้โจทก์ โจทก์ไม่ตกลงยินยอมด้วย ในเดือนพฤษภาคม 2548 จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เพียง 35,000 บาท โจทก์ทำงานถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2548 จึงลาออก จำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์เดือนพฤษภาคม 2548 เป็นเงิน 35,000 บาท ค่าจ้างงวดเดือนมิถุนายน 2548 เป็นเงิน 70,000 บาท ค่าจ้างวันที่ 1 ถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2548 เป็นเงิน 18,666 บาท และค่าจ้างวันหยุดที่ 1 พฤษภาคม 2548 ซึ่งโจทก์มาทำงาน จำเลยจ่ายให้ครึ่งหนึ่งยังค้างจ่ายอีก 2,333 บาท โจทก์ทวงถาม จำเลยเพิกเฉย ต่อมาวันที่ 10 สิงหาคม 2548 โจทก์ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานกลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 8 เพื่อให้ติดตามค่าจ้างค้างจ่ายและค่าทำงานในวันหยุด พนักงานตรวจแรงงานสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วมีคำสั่งที่ 71/2548 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2548 ให้จำเลยชำระเงินค่าจ้างเป็นเงิน 123,666 บาท และค่าทำงานในวันหยุด 2,333 บาท จำเลยได้รับคำสั่งเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2548 โดยชอบแล้ว จำเลยไม่ฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจึงเป็นที่สุด ขอให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 71/2548 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2548 โดยจ่ายค่าจ้างรวม 123,666 บาท ค่าทำงานในวันหยุด 2,333 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์แอบติดต่อหาลูกค้าให้กับตนเองเป็นการทำผิดต่อจำเลยอย่างร้ายแรงและโจทก์ไม่สามารถหาลูกค้าในต่างประเทศให้จำเลยได้ตามเป้าหมายของข้อตกลง เป็นเหตุให้รายได้จากยอดขายและการส่งออกของจำเลยตกต่ำอย่างมาก จำเลยเรียกโจทก์มาพูดตกลงโจทก์ยินยอมให้จำเลยลดเงินเดือนโจทก์ลงครึ่งหนึ่งเหลือ 35,000 บาท ต่อมาต้นเดือนกรกฎาคม 2548 โจทก์ได้ละทิ้งหน้าที่การงานไปโดยมิได้บอกกล่าวหรือทำเรื่องลาออกต่อจำเลยเป็นเหตุให้จำเลยเสียหายอย่างร้ายแรง โจทก์ได้ร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงานพื้นที่ 8 ว่าจำเลยไม่ยอมจ่ายค่าจ้างและเงินอื่นใด ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะเงินเดือนหรือเงินอื่นใดที่โจทก์จะได้รับ เมื่อหักออกจากเงินที่โจทก์ได้เคยเบิกหรือเคยได้รับไปแล้วเหลือเพียงไม่เท่าไร ซึ่งโจทก์ไม่ยอมรับและปฏิเสธว่าไม่เคยให้ความยินยอมในการลดเงินเดือน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์ จำเลย แล้วฟังข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการนำเข้าส่งออกเครื่องเคหะภัณฑ์ วันที่ 7 มิถุนายน 2547 จำเลยได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างทำหน้าที่ผ่ายการตลาด ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือนเดือนละ 70,000 บาท จ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 10 ของเดือน ครั้นถึงเดือนพฤษภาคม 2548 จำเลยได้ลดค่าจ้างโจทก์จากเดือนละ 70,000 บาท เป็น 35,000 บาท และในเดือนพฤษภาคม 2548 จำเลยคงจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เพียง 35,000 บาท โจทก์ทำงานถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2548 จึงลาออก โดยจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์เดือนพฤษภาคม 2548 เป็นเงิน 35,000 บาท เดือนมิถุนายน 2548 เป็นเงิน 70,000 บาท และค่าจ้างระหว่างวันที่ 1 ถึง 8 กรกฎาคม 2548 เป็นเงิน 18,666 บาท ค่าจ้างวันหยุดประเพณีของวันที่ 1 พฤษภาคม 2545 เป็นเงิน 2,333 บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงานกลุ่มสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 8 ซึ่งพนักงานตรวจแรงงานได้สอบสวนข้อเท็จจริงแล้วมีคำสั่งที่ 71/2548 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2548 ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างเป็นเงิน 123,666 บาท ค่าจ้างในวันหยุด 2,333 บาท แก่โจทก์ จำเลยได้รับทราบคำสั่งเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2548 แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยไม่ได้นำคดีสู่ศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งตามมาตรา 125 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวจึงเป็นที่สุด พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้าง 123,666 บาท ค่าทำงานในวันหยุด 2,333 บาท ให้โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินค่าจ้าง 123,666 บาท และต้นเงินค่าทำงานในวันหยุด 2,333 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 ธันวาคม 2548) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 71/2548 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2548
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัย่วา “มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยประการเดียวว่า ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างและค่าทำงานในวันหยุดพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์และงดสืบพยานโจทก์และจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้าง ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่พอใจคำสั่งนั้น ให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง” และในมาตรา 125 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดให้คำสั่งนั้นเป็นที่สุด” ดังนั้น เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างและค่าทำงานในวันหยุดแก่โจทก์ โจทก์จึงร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานกลุ่มสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 8 พนักงานตรวจแรงงานสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วมีคำสั่งที่ 71/2548 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2548 ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างและค่าทำงานในวันหยุดแก่โจทก์และได้ส่งคำสั่งให้จำเลยตามมาตรา 143 วรรคหนึ่ง จำเลยได้รับทราบคำสั่งเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2548 แล้ว จำเลยไม่นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นที่สุดตามมาตรา 125 วรรคสอง จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานให้โจทก์ภายในสิบห้าวันนับแต่วันทราบคำสั่งตามมาตรา 124 วรรคสาม โดยไม่มีสิทธิยกข้อต่อสู้ตามคำให้การซึ่งยุติไปแล้ว ในชั้นพนักงานตรวจแรงงานมากล่าวอ้างในชั้นที่โจทก์ฟ้องต่อศาลแรงงานกลางขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานอีก ที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่า จำเลยไม่ได้นำคดีสู่ศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน จึงมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค่าจ้าง 123,666 บาท และค่าทำงานในวันหยุด 2,333 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 8 ที่ 71/2548 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2548 จึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share