คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 863/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดว่าพนักงานหรือลูกจ้างที่มีหนี้สินรุงรังเป็นผู้กระทำผิดวินัยโจทก์เป็นหนี้บุคคลอื่นจำเลยจึงมีหนังสือถึงโจทก์มีข้อความว่าโจทก์เป็นหนี้บุคคลอื่นให้รีบจัดการในเรื่องหนี้สินเสียมิฉะนั้นจะพิจารณาโทษหนังสือดังกล่าวไม่ใช่หนังสือตักเตือนตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน.

ย่อยาว

ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยที่ 1ประจำอยู่สาขานครราชสีมา ทำหน้าที่พนักงานพิมพ์ดีด โจทก์มีหนี้สินรุงรัง เคยมีเจ้าหนี้มาทวงถามหนี้สินถึงที่ทำงาน จำเลยที่ 1 จึงมีหนังสือถึงโจทก์เกี่ยวกับเรื่องหนี้สิน แต่โจทก์ก็ยังไม่จัดการเรื่องหนี้สินให้เสร็จสิ้นไป จำเลยที่ 1 จึงได้เลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้
สำหรับปัญหาที่ว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เพราะถือได้ว่ามีหนังสือตักเตือนแล้ว กรณีเข้าข้อยกเว้นตามข้อ 47(3) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานหรือไม่นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ฉบับที่ 9 ว่าด้วยวินัย การสอบสวนและการลงโทษสำหรับพนักงานและลูกจ้างข้อ 3(10) กำหนดว่า พนักงานหรือลูกจ้างที่มีหนี้สินรุงรังเป็นผู้กระทำผิดวินัย แต่การกระทำผิดวินัยกรณีดังกล่าวมิใช่เป็นการผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามที่กำหนดไว้ในข้อ 5 ของข้อบังคับเดียวกันนี้ ฉะนั้นการที่โจทก์มีหนี้สินรุงรังจึงถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยที่ 1 แต่ก็มิใช่กรณีร้ายแรงอันจะทำให้จำเลยที่ 1เลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เว้นแต่จะได้มีหนังสือตักเตือนแล้ว มีปัญหาต่อไปว่าหนังสือของจำเลยที่ 1 เป็นหนังสือตักเตือนตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า หนังสือตักเตือนตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานนั้น จะต้องเป็นกรณีที่นายจ้างตักเตือนลูกจ้างที่ได้กระทำผิดฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างมิให้กระทำผิดเช่นว่านั้นซ้ำอีก หากกระทำจะต้องถูกลงโทษ แต่หนังสือของจำเลยที่ 1 หาได้มีลักษณะดังกล่าวไม่ คงมีข้อความทำนองว่าโจทก์เป็นหนี้บุคคลอื่น ให้รีบจัดการในเรื่องหนี้สินเสีย มิฉะนั้น จะพิจารณาโทษตามความเหมาะสมจึงมิใช่หนังสือตักเตือนมิให้โจทก์กระทำผิดซ้ำอีก เมื่อถือไม่ได้ว่าเป็นหนังสือตักเตือนของจำเลยที่ 1 ตามกฎหมายแล้ว กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามข้อ 47(3) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานอันจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน.

Share