คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 863/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ตายไปพบนางเกษภรรยานายสุวรรณจำเลยอยู่บ้านคนเดียว ก็คุกคามเกรี้ยวกราดเป็นทำนองข่มเหงว่าจะฆ่าจะชำเรา ครั้นนางเกษร้องเอ็ดอึงขึ้น ผู้ตายเป็นพระภิกษุจึงต้องรีบลงจากเรือนไป แต่พอดีจำเลยทั้งสองกลับมาได้ยินเสียงร้องและเมื่อทราบเรื่องเลยออกติดตามทันทีจำเลยตามไปห่างเรือน 6 – 7 เส้น ก็ทันและทำร้ายผู้ตายนอนตายอยู่บนถนน ถือว่า การกระทำของนายสุวรรณจำเลยเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ โดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรง ด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม และกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้นแล้ว
ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.72 ผู้ถูกข่มเหงไม่จำเป็นจะต้องกระทำลงทันทีหรือ ณ ที่ซึ่งถูกข่มเหง หากได้กระทำผิดต่อผู้ที่ข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมในระยะเวลาต่อเนื่องกระชั้นชิดกัน ก็ยังถือว่ากระทำโดยบันดาลโทสะได้
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 14/2502)
นายสอจำเลยกับนายสุวรรณจำเลยเป็นเพียงเพื่อนสนิทกัน การที่นางเกษภรรยานายสุวรรณจำเลยถูกข่มเหงรังแก ย่อมเป็นการข่มเหงนายสุวรรณผู้สามีด้วย เป็นเหตุผลเกี่ยวกับตัวบุคคล หาใช่ลักษณะคดีไม่ แม้จำเลยทั้งสองจะทำผิดร่วมกัน ก็จะปรับบทลงโทษนายสอจำเลยตาม มาตรา 72 คือ เหตุลดโทษเพราะบันดาลโทสะด้วยหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสมคบกันฆ่าพระภิกษุกพรมมาตายโดยเจตนา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๓
จำเลยทั้งสองรับว่า ได้ทำร้ายผู้ตายจริง แต่เป็นการป้องกันตัวและชื่อเสียง เพราะผู้ตายทำร้ายจำเลยก่อนและได้ขึ้นมาบนเรือนปลุกปล้ำภรรยาจำเลยที่ ๒ ด้วย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม. ๒๘๘ ให้จำคุกคนละ ๑๕ ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งตาม มาตรา ๗๘ คงจำคุกคนละ ๗ ปี ๖ เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า นายสุวรรณจำเลยเป็นสามีนางเกษ ได้กระทำผิดโดยบันดาลโทสะ เพราะถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม โดยผู้ตายเข้าจับนางเกษและขู่ว่าจะฆ่าจะชำเรา นางเกษร้องให้คนช่วย ผู้ตายจึงลงจากเรือนไป พอดีจำเลยทั้งสองกลับมาทราบเรื่องจากนางเกษ ก็รีบติดตามไปทันผู้ตายห่างเรือ ๖ – ๗ เส้น แล้วช่วยกันทำร้าย พิพากษาแก้เฉพาะนายสุวรรณจำเลย ให้จำคุก ๖ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา ม. ๒๘๘ , ๗๒ ลดกึ่งตาม มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๓ ปี
อัยการโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามศาลชั้นต้น
นายสอหรือสินธุ์จำเลยฎีกาว่า ควรกำหนดโทษจำเลยเท่านายสุวรรณจำเลยด้วย
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้ตายไปพบนางเกษ (ภรรยานายสุวรรณ จำเลย) อยู่บ้านคนเดียว ก็คุกคามเกรี้ยวกราดเป็นทำนองข่มเหง ก็จะฆ่าจะชำเรา ครั้งนางเกษร้องเอ็ดอึงขึ้น ผู้ตายเป็นพระภิกษุจึงต้องรีบลงจากเรือนไป แต่พอดีจำเลยทั้งสองกลับมาทราบเรื่องเลยออกติดตามทันที จำเลยตามไปห่างเรือน ๖ – ๗ เส้น ก็ทันและทำร้ายผู้ตายนอนตายอยู่บนถนน ที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การกระทำของนายสุวรรณจำเลยเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๒ ผู้ถูกข่มเหงไม่จำเป็นจะต้องกระทำลงทันทีหรือ ณ ที่ซึ่งถูกข่มเหง หากได้กระทำผิดต่อผู้ที่ข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วย เหตุอันไม่เป็นธรรม ในระยะเวลาต่อเนื่องกระชั้นชิดกัน ก็ยังถือว่า กระทำโดยบันดาลโทสะได้ ดังเช่นนายสุวรรณจำเลยได้กระทำแก่ผู้ตายในคดีนี้
ส่วนที่นายสอหรือสินธุ์จำเลยฎีกาว่า จำเลยกระทำผิดร่วมกันกับนายสุวรรณจำเลย ควรจะปรับบทลงโทษเช่นเดียวกันนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยทั้งสองเป็นเพียงเพื่อนสนิทกัน การที่นางเกษถูกข่มเหงรังแกย่อมเป็นการข่มเหงนายสุวรรณสามีด้วย เป็นเหตุผลเกี่ยวกับตัวบุคคล หาใช่ลักษณะคดีไม่ แม้จำเลยทั้งสองจะทำผิดร่วมกัน ดังจำเลยว่า ก็จะปรับบทลงโทษนายสอหรือสินธุ์จำเลยตาม มาตรา ๗๒ (เหตุบันดาลโทสะ) ด้วยมิได้
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

Share