คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8627/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อายุความฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาซึ่งมาตรา 51 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้มีกำหนดเวลาดังที่บัญญัติไว้ในเรื่องอายุความฟ้องคดีอาญาตาม ป.อ. มาตรา 95 (1) ถึง (5) แล้วแต่กรณีนั้นเป็นอันสะดุดหยุดลงเมื่อมีการฟ้องคดีอาญาต่อศาล และได้ตัวผู้ถูกฟ้องมายังศาลด้วยแล้ว ระยะเวลาที่ล้วงพ้นไปก่อนนั้นไม่คิดนับเข้าในอายุความตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ และเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดแล้ว จึงให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น ตามมาตรา 193/15 วรรคสอง โดยอายุความจะเริ่มนับใหม่เมื่อศาลในคดีอาญามีคำพิพากษาอย่างใดอย่างหนึ่งและคดีเด็ดขาดแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 37,473,719.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 27,499,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ก่อนวันนัดชี้สองสถานจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นว่าสิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่ารอสั่งวันนัด เมื่อถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2552 ซึ่งเป็นวันนัดชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยาก จึงงดชี้สองสถานและให้นัดสืบพยานหลักฐานของโจทก์ก่อน เสร็จแล้วให้จำเลยทั้งสี่สืบพยานหลักฐานแก้ โดยยังมิได้สั่งคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ครั้นถึงวันที่ 12 ตุลาคม 2553 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานหลักฐานของโจทก์ ทนายโจทก์ยื่นคำร้องว่า โจทก์ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานร่วมกันปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม ซึ่งพนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1965/2552 ของศาลชั้นต้น ในความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมแล้ว คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญา จึงขอให้ศาลชั้นต้นเลื่อนการพิจารณาคดีนี้ออกไปจนกว่าจะมีคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา จำเลยทั้งสี่ไม่ค้าน และคู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงร่วมกันว่า หากข้อเท็จจริงในคดีอาญารับฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้ปลอมและใช้เอกสารปลอม ก็ไม่จำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานในประเด็นเรื่องค่าเสียหาย ถ้ารับฟังข้อเท็จจริงได้ในทางกลับกันคู่ความแต่ละฝ่ายก็ใช้เวลาสืบพยานหลักฐานในประเด็นเรื่องค่าเสียหายไม่นาน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนการพิจารณาและให้จำหน่ายคดีชั่วคราวเพื่อรอฟังผลคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1965/2552 ของศาลชั้นต้นที่ถึงที่สุด รายละเอียดปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 12 ตุลาคม 2553 โดยในวันเดียวกันศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องของจำเลยที่ 2 ที่ขอให้ศาลชั้นต้นชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นว่า สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ว่า “รอไว้วินิจฉัยพร้อมคำพิพากษา” ต่อมาวันที่ 24 มีนาคม 2554 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า คดีอาญาที่จำเลยที่ 3 ถูกฟ้องในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมนั้น ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.6042/2553 และคดีถึงที่สุดแล้ว จึงขอให้ยกคดีนี้ขึ้นพิจารณาต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นัดพร้อมในวันที่ 29 สิงหาคม 2554 ซึ่งในวันนัดพร้อมทนายโจทก์แถลงว่า เมื่อคดีอาญาที่จำเลยที่ 3 ถูกฟ้องนั้น ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้ว ทนายโจทก์ต้องขอเลื่อนคดีเพื่อนำเรื่องไปปรึกษาโจทก์ว่าจะถอนฟ้องหรือให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีไปโดยไม่ต้องสืบพยาน ฝ่ายจำเลยทั้งสี่ไม่คัดค้านการขอเลื่อนคดีแต่แถลงยืนยันข้อเท็จจริงที่ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 12 ตุลาคม 2553 ว่าทั้งสองฝ่ายเคยตกลงกันแล้วว่าถ้าศาลพิพากษายกฟ้องคดีอาญาที่จำเลยที่ 3 ถูกฟ้อง คดีนี้ก็ไม่จำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานกันต่อไปและให้ศาลพิพากษาไปตามรูปคดี หลังจากนั้นศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนการพิจารณาไปนัดพร้อมเพื่อให้เวลาทนายโจทก์ติดต่อตัวโจทก์หลายครั้ง ครั้งสุดท้ายวันที่ 25 มิถุนายน 2555 ทนายโจทก์ยื่นคำแถลงว่า ทนายโจทก์ยังไม่ได้รับแจ้งจากโจทก์ว่าจะดำเนินการถอนฟ้องหรือให้ศาลพิพากษาไปได้โดยไม่ต้องสืบพยานแต่อย่างไร ทนายโจทก์จึงขอสืบพยานหลักฐานของโจทก์ต่อไป ทนายจำเลยที่ 1 และทนายจำเลยที่ 2 แถลงคัดค้านขอให้งดสืบพยานและมีคำพิพากษาตามรูปคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่มีความจำเป็นต้องสืบพยาน ให้งดสืบพยานทั้งสองฝ่าย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานและอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานทั้งสองฝ่ายชอบแล้ว และพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 สังกัดกระทรวงแรงงาน จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด จำเลยที่ 4 และบริษัทบี อี เอ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2547 โจทก์ประกาศประกวดราคาจ้างพัฒนาระบบกองทุนเงินทดแทน กำหนดยื่นซองประกวดราคาในวันที่ 26 เมษายน 2547 และเปิดซองใบเสนอราคาในวันที่ 30 เมษายน 2547 ในวันที่ 26 เมษายน 2547 จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจช่วงจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ไปยื่นซองใบเสนอราคาพร้อมแนบหนังสือสัญญาผู้ร่วมเสนอราคาลงวันที่ 5 เมษายน 2547 ที่มีข้อความระบุว่าเป็นการร่วมเสนอราคาของจำเลยที่ 1 และที่ 4 กับบริษัทบี อี เอ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ต่อโจทก์ ต่อมาวันที่ 28 มิถุนายน 2547 โจทก์ประกาศแจ้งผลการพิจารณาคัดเลือกให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับจ้างพัฒนาระบบกองทุนเงินทดแทนของโจทก์ในราคาที่คิดรวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วเป็นจำนวน 16,900,000 บาท จากนั้นวันที่ 30 มิถุนายน 2547 โจทก์กับจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจช่วงจากจำเลยที่ 1 จึงทำสัญญาจ้างพัฒนาระบบกองทุนเงินทดแทนกัน ต่อมาวันที่ 14 ธันวาคม 2547 โจทก์ทราบข้อเท็จจริงจากผู้เชี่ยวชาญกองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า ลายมือชื่อของนายประจักษ์ กรรมการบริษัทผู้มีอำนาจลงนามแทนบริษัท บี อี เอ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในหนังสือสัญญาผู้ร่วมเสนอราคาลงวันที่ 5 เมษายน 2547 เป็นลายมือชื่อปลอม โดยไม่ใช่ลายมือชื่อที่เกิดจากการเขียนแต่เป็นการสแกนลายมือชื่อของนายประจักษ์จากเอกสารอื่นมาใส่ในหนังสือสัญญาดังกล่าว ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2548 โจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 1 ว่า การที่ลายมือชื่อนายประจักษ์ในหนังสือสัญญาผู้ร่วมเสนอราคาเป็นลายมือชื่อปลอม โจทก์ถือว่าการเสนอราคาในนามกิจการร่วมค้าของจำเลยที่ 1 กับพวกไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทิ้งงาน ต่อจากนั้นวันที่ 20 ตุลาคม 2548 โจทก์มีหนังสือร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนนทบุรีให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสี่ แต่พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรีฟ้องจำเลยที่ 3 ในข้อหาปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1965/2552 โดยไม่ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ด้วย ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 โดยวินิจฉัยว่า คดีมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 เป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.6042/2553 ของศาลชั้นต้น ตามสำเนาคำพิพากษาท้ายคำร้องของทนายจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 24 มีนาคม 2554 คดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยโจทก์ไม่ยื่นอุทธรณ์ ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 20 มิถุนายน 2551 ทวงถามจำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่าเสียหายกรณีละเมิดในเหตุคดีนี้จำนวน 27,499,500 บาท แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เป็นประการแรกว่า สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ในส่วนจำเลยที่ 3 ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์อ้างในฎีกาว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้ไว้ก่อนที่ศาลจะพิพากษายกฟ้องปล่อยจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.6042/2553 ของศาลชั้นต้น จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคสอง ซึ่งมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (3) คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ว่าสิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ในส่วนจำเลยที่ 3 ขาดอายุความโดยปรับบทบังคับใช้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคสี่ มานั้น ไม่ถูกต้อง ในปัญหาข้อนี้ เห็นว่า เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ไว้ก่อนที่ศาลจะพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.6042/2553 ของศาลชั้นต้น และคดีถึงที่สุดโดยโจทก์ไม่อุทธรณ์ การนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคสี่ มาปรับบทบังคับใช้ตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงไม่ถูกต้อง เนื่องจากกรณีที่จะปรับบทบังคับใช้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคสี่ ได้ต้องเป็นเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องคดีอาญาและคำพิพากษาดังกล่าวถึงที่สุดไปก่อนที่จะมีการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การคิดอายุความฟ้องโจทก์ในส่วนจำเลยที่ 3 คดีนี้จึงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคสอง ที่มีบทบัญญัติว่า “ถ้าคดีอาญาใดได้ฟ้องต่อศาลและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลด้วยแล้ว แต่คดียังไม่เด็ดขาดอายุความซึ่งผู้เสียหายมีสิทธิจะฟ้องคดีแพ่งย่อมสะดุดหยุดลงตามมาตรา 95 แห่งประมวลกฎหมายอาญา” อันมีความหมายว่า อายุความฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาซึ่งมาตรา 51 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้มีกำหนดเวลาดังที่บัญญัติไว้ในเรื่องอายุความฟ้องคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (1) ถึง (5) แล้วแต่กรณีนั้นเป็นอันสะดุดหยุดลงเมื่อมีการฟ้องคดีอาญาต่อศาลและได้ตัวผู้ถูกฟ้องมายังศาลด้วยแล้ว กล่าวคือ ระยะเวลาที่ล้วงพ้นไปก่อนนั้นไม่คิดนับเข้าในอายุความตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ และเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดแล้ว จึงให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น ตามมาตรา 193/15 วรรคสอง โดยอายุความจะเริ่มนับใหม่เมื่อศาลในคดีอาญามีคำพิพากษาอย่างใดอย่างหนึ่งและคดีเด็ดขาดแล้ว ทั้งนี้ได้ความว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 30 เมษายน 2552 ขณะที่อายุความฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญายังสะดุดหยุดลงอยู่ ดังนั้น สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ในส่วนจำเลยที่ 3 จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น อย่างไรก็ดีแม้ฟ้องโจทก์ในส่วนจำเลยที่ 3 ไม่ขาดอายุความก็ตาม แต่เมื่อศาลในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.6042/2553 ของศาลชั้นต้น ได้ชี้ขาดข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาแล้วว่าพยานหลักฐานของโจทก์ตกอยู่ในความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ ฉะนั้นในคดีนี้ ศาลจะรับฟังข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งขัดกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญาดังกล่าวหาได้ไม่ กรณีจำต้องถือข้อเท็จจริงที่ปรากฏนั้นว่าจำเลยที่ 3 มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามฟ้อง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เฉพาะส่วนที่ยกฟ้องจำเลยที่ 3 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share