คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8627/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาให้บริการเป็นที่ปรึกษาระบุใจความว่า “ข้อสัญญานี้จะได้รับการตีความภายใต้กฎหมายของอัลเบอร์ต้า ในกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายใดแจ้งข้อพิพาทเป็นลายลักษณ์อักษรให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งอนุญาโตตุลาการอิสระหนึ่งคนจะได้รับการแต่งตั้งโดยการตกลงร่วมกันของทั้งสองฝ่ายภายในสามสิบวันนับแต่แจ้งข้อพิพาท” กรณีดังกล่าวจึงเป็นการตกลงที่จะให้มีอนุญาโตตุลาการหนึ่งคนเป็นผู้ระงับข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญาโดยตีความตามกฎหมายของอัลเบอร์ต้า ประเทศแคนาดา ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาให้บริการเป็นที่ปรึกษา การที่จะต้องแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ระงับข้อพิพาท จึงต้องเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาให้บริการเป็นที่ปรึกษาซึ่งหากมีปัญหาเกี่ยวกับการตีความสัญญาก็จะต้องเป็นไปภายใต้กฎหมายของอัลเบอร์ต้า ประเทศแคนาดา และเป็นผลให้คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะนำข้อพิพาทดังกล่าวไปฟ้องต่อศาลแรงงานกลางก่อนที่จะใช้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดไม่ได้ตามที่ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 บัญญัติไว้ เว้นแต่จะเป็นกรณีที่มีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ แต่ตามคำฟ้องโจทก์ส่วนที่อ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย โจทก์ทำงานติดต่อกันเกินกว่าสามปีจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน และจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์โดยจงใจหรือโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จึงขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่ายพร้อมเงินเพิ่มและค่าชดเชย อันเป็นการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9, 17, 70 และมาตรา 118 และขอให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 จึงมิใช่เป็นการฟ้องเกี่ยวกับกรณีพิพาทซึ่งเกิดจากสัญญาให้บริการเป็นที่ปรึกษา แต่อย่างใด โจทก์จึงมีสิทธินำคดีส่วนนี้มาฟ้องต่อศาลแรงงานได้
สำหรับคำฟ้องโจทก์ที่โจทก์ขอเรียกค่าขาดประโยชน์จากการทำงานที่เหลืออยู่ตามสัญญาจึงเป็นการฟ้องเกี่ยวกับกรณีพิพาทตามสัญญาให้บริการเป็นที่ปรึกษา จึงต้องเป็นไปตามข้อสัญญาที่จะต้องให้อนุญาโตตุลาการอิสระหนึ่งคนที่ได้รับการแต่งตั้งโดยการตกลงร่วมกันระหว่างโจทก์กับจำเลยได้ชี้ขาดก่อนตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 โจทก์จึงยังไม่มีสิทธินำคดีส่วนนี้มาฟ้องต่อศาลแรงงานกลางได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 3,214,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 683,040 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ค่าจ้างค้าง 968,315 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 944,479 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป เงินเพิ่ม 1,240,301 บาท และเงินเพิ่มอีกร้อยละ 15 ทุกกำหนดระยะเวลา 7 วัน ของต้นเงินค่าจ้างในแต่ละเดือนนับถัดจากวันฟ้องและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายตามฟ้องอีกจำนวน 12,560,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยยื่นคำร้องขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางเห็นว่า เมื่อโจทก์ยังมิได้ดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการตามสัญญา จึงยังไม่มีสิทธินำคดีมาสู่ศาล จึงให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการเดียวว่า การที่โจทก์ยังมิได้ดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อนโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางได้หรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาให้บริการเป็นที่ปรึกษาระบุใจความว่า “ข้อสัญญานี้จะได้รับการตีความภายใต้กฎหมายของอัลเบอร์ต้า ในกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายใดแจ้งข้อพิพาทเป็นลายลักษณ์อักษรให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งอนุญาโตตุลาการอิสระหนึ่งคนจะได้รับการแต่งตั้งโดยการตกลงร่วมกันของทั้งสองฝ่ายภายในสามสิบวันนับแต่แจ้งข้อพิพาท” กรณีดังกล่าวจึงเป็นการตกลงที่จะให้มีอนุญาโตตุลาการหนึ่งคนเป็นผู้ระงับข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญาโดยตีความตามกฎหมายของอัลเบอร์ต้า ประเทศแคนาดา ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาให้บริการเป็นที่ปรึกษา การที่จะต้องแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ระงับข้อพิพาท จึงต้องเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาให้บริการเป็นที่ปรึกษาซึ่งหากมีปัญหาเกี่ยวกับการตีความสัญญาก็จะต้องเป็นไปภายใต้กฎหมายของอัลเบอร์ต้า ประเทศแคนาดา และเป็นผลให้คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะนำข้อพิพาทดังกล่าวไปฟ้องต่อศาลแรงงานกลางก่อนที่จะใช้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดไม่ได้ ตามที่พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 บัญญัติไว้ เว้นแต่จะเป็นกรณีที่มีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ แต่ตามคำฟ้องโจทก์ส่วนที่อ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย โจทก์ทำงานติดต่อกันเกินกว่าสามปีจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน และจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์โดยจงใจหรือโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จึงขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างพร้อมเงินเพิ่มและค่าชดเชย อันเป็นการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9, 17, 70 และมาตรา 118 และขอให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 จึงมิใช่เป็นการฟ้องเกี่ยวกับกรณีพิพาทซึ่งเกิดจากสัญญาให้บริการเป็นที่ปรึกษา เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 แต่อย่างใด โจทก์จึงมีสิทธินำคดีส่วนนี้มาฟ้องต่อศาลแรงงานได้
สำหรับคำฟ้องโจทก์ตามข้อ 3.5 และข้อ 3.5.1 ซึ่งโจทก์ขอเรียกค่าขาดประโยชน์จากการทำงานที่เหลืออยู่ตามสัญญาจึงเป็นการฟ้องเกี่ยวกับกรณีพิพาทตามสัญญาให้บริการเป็นที่ปรึกษาจึงต้องเป็นไปตามข้อสัญญาที่จะต้องให้อนุญาโตตุลาการอิสระหนึ่งคนที่ได้รับการแต่งตั้งโดยการตกลงร่วมกันระหว่างโจทก์กับจำเลยได้ชี้ขาดก่อนตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 โจทก์จึงยังไม่มีสิทธินำคดีส่วนนี้มาฟ้องต่อศาลแรงงานกลางได้ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลแรงงานกลางรับคดีที่โจทก์ฟ้องขอสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าจ้างค้าง เงินเพิ่ม ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป

Share