คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5554/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันพรากเด็กอายุ 6 ปีเศษ ไปจากบิดามารดาผู้ปกครองเพื่อหากำไรและร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังเด็กไว้เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ โดยจำเลยทั้งสองมุ่งประสงค์เรียกค่าไถ่เป็นสำคัญ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทคือ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 313 วรรคแรก บทหนึ่ง และตามมาตรา 317 วรรคสาม อีกบทหนึ่ง ต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313 วรรคแรก ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 หาใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันไม่
ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกันเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้ฎีกาในประเด็นดังกล่าวขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225 และมีอำนาจวินิจฉัยตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ได้ฎีกาขึ้นมาด้วย เนื่องจากเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วย มาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ , ๙๑ , ๓๑๓ , ๓๑๗
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่หลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๓ วรรคหนึ่ง , ๓๑๗ วรรคหนึ่ง วรรคสาม (ที่ถูกมาตรา ๓๑๗ วรรคสาม) ประกอบมาตรา ๘๓ เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่เอาตัวเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไป ให้จำคุก ๑๕ ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี เพื่อหากำไร ให้จำคุก ๕ ปี รวมจำคุกคนละ ๒๐ ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นสืบพยานจำเลย เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กระทงละสองในห้าส่วน คงจำคุกคนละ ๑๒ ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้ว… สำหรับความผิดฐานเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่เอาตัวเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปนั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ ๒ ร่วมกันเอาตัวเด็กอายุเพียง ๖ ปีเศษ ไปจากบิดามารดาแล้วเรียกค่าไถ่จากบิดามารดาเด็กเช่นนี้ เป็นพฤติการณ์ที่อุกอาจโดยไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมืองเป็นการทรมานจิตใจผู้ที่เป็นบิดามารดา อีกทั้งก่อให้เกิดความหวาดเกรงแก่ประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๓ วรรคแรก กำหนดโทษสำหรับความผิดฐานเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่เอาตัวเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไป ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่จำเลยที่ ๒ ถูกฟ้องต่อศาล ศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยที่ ๒ ฟัง และถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จำเลยที่ ๒ ให้การปฏิเสธ แสดงว่า จำเลยที่ ๒ มิได้รู้สำนึกในการกระทำความผิดแต่อย่างใด ทั้งหลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว จำเลยที่ ๒ ให้การรับสารภาพ ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยที่ ๒ ฐานเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่เอาตัวเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปจำคุก ๑๕ ปี จึงเป็นการลงโทษจำคุกในอัตราขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดโทษไว้ อีกทั้งไม่มีเหตุที่จะลดมาตราส่วนโทษให้ประกอบกับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้ลดโทษในความผิดฐานนี้ให้สองในห้าส่วนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยที่ ๒ ในความผิดฐานนี้เพียง ๙ ปี จึงนับว่าเป็นคุณแก่จำเลยที่ ๒ มากแล้ว
แต่อย่างไรก็ตาม การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้เรียงกระทงลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดทั้งสองข้อหาดังกล่าวนั้น เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันพรากผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กไปจากบิดามารดาผู้ปกครองและหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายไว้เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ โดยจำเลยทั้งสองมุ่งประสงค์เรียกค่าไถ่เป็นสำคัญ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๓ วรรคแรก ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด เพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ หาใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษมาไม่ แม้จำเลยที่ ๒ จะไม่ได้ฎีกาในประเด็นดังกล่าวขึ้นมาก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕ และมีอำนาจวินิจฉัยตลอดไปถึงจำเลยที่ ๑ ซึ่งไม่ได้ฎีกาขึ้นมาด้วย เนื่องจากเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๓ ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่เอาตัวเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๓ วรรคแรก ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ ๑๕ ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพหลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้สองในห้าส่วน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกคนละ ๙ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share