คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 862/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ข้อเรียกร้องเพื่อกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างต้องทำเป็นหนังสือ ในกรณีที่ฝ่ายยื่นข้อเรียกร้องถอนข้อเรียกร้องของฝ่ายตนไปตามสิทธิของตน และอีกฝ่ายหนึ่งมิได้โต้แย้งถือว่าข้อเรียกร้องของฝ่ายแรกหมดสิ้นไปข้อพิพาทแรงงานที่เกิดจากสาเหตุที่ฝ่ายนั้นยื่นข้อเรียกร้องย่อมระงับไปด้วยสิทธิที่จะปิดงาน(ของอีกฝ่ายหนึ่ง)ย่อมระงับตามไปด้วย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้ง 49 คนเป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ต่อมาโจทก์ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยเพื่อให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างรวม 8 ข้อ จำเลยรับข้อเรียกร้องแล้วได้มีการเจรจากัน แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จำเลยจึงขอปิดงานเฉพาะผู้แทนลูกจ้างและพนักงานผู้ลงลายมือชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้อง (ซึ่งได้แก่โจทก์ทุกคน) โจทก์จึงทำหนังสือขอถอนข้อเรียกร้องขอให้จำเลยรับกลับเข้าทำงานตามเดิม ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2528 เป็นต้นไปจำเลยปฏิเสธคงปิดงานต่อไปอันเป็นการปิดงานที่มิชอบด้วยกฎหมายและถือว่าจำเลยมีเจตนาเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยตามฟ้องแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยใช้สิทธิปิดงานโดยชอบ เพราะขณะปิดงานยังมีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้อยู่ ไม่มีเจตนาเลิกจ้างโจทก์โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายและเงินใด ๆ ตามฟ้องจากจำเลย
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การปิดงานก่อนที่โจทก์ถอนข้อเรียกร้องเป็นการปิดงานที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อโจทก์ถอนข้อเรียกร้องและฝ่ายจำเลยทราบแล้ว ข้อพิพาทแรงงานจึงหมดไป สิทธิของจำเลยที่จะปิดงานจึงหมดสิ้นไป การปิดงานต่อมาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างที่โจทก์ฟ้องในวันปกติของการทำงานให้แก่โจทก์ทุกคนนับแต่วันที่า 21 พฤษภาคม 2528 จนกว่าจำเลยจะรับโจทก์เข้าทำงานและให้จ่ายค่าจ้างค้างระหว่างวันที่ 14-20ธันวาคม 2527 ให้แก่โจทก์ที่ 1, 3, 7, 10, 11, 25, 36, 38, 41,45, 46 และ 47 คำขออื่นให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 13 วรรคแรก กำหนดว่า “การเรียกร้องให้มีการกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง นายจ้างหรือลูกจ้างต้องแจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ” จะเห็นได้ว่า การที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะยื่นข้อเรียกร้องเพื่อกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือขอแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่ออีกฝ่ายหนึ่ง กฎหมายบังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือยื่นต่ออีกฝ่ายหนึ่ง ไม่มีข้อยกเว้นว่าการยื่นข้อเรียกร้องสามารถทำเป็นข้อเสนอในการเจรจาได้ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายยื่นข้อเรียกร้องได้ถอนข้อเรียกร้องของฝ่ายตนไปตามสิทธิของตน และจำเลยมิได้โต้แย้งข้อเรียกร้องของฝ่ายโจทก์จึงหมดสิ้นไป ข้อพิพาทแรงงานที่เกิดจากสาเหตุที่โจทก์ยื่นข้อเรียกร้องย่อมระงับไป สิทธิของจำเลยในอันที่จะปิดงานย่อมระงับตามไปด้วย จำเลยจะอ้างเหตุที่ว่าได้มีการเสนอในการเจรจาต่อรองโดยเพียงแต่ร่างสัญญาข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างสำหรับเตรียมไว้ให้โจทก์ลงชื่อในวันกลับเข้าทำงานเท่านั้นหาได้ไม่ ฉะนั้น การที่จำเลยไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องเป็นข้อเรียกร้องดังที่กฎหมายบัญญัติไว้ จำเลยย่อมไม่มีสิทธิปิดงาน การปิดงานของโจทก์ (ที่ถูกเป็นของจำเลย)ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2528 เป็นต้นมา จึงเป็นการมิชอบด้วยกฎหมายและเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยไม่ยอมให้โจทก์เข้าทำงานจำเลยจึงต้องรับผิดในอันที่จะต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ระหว่างที่จำเลยไม่ยอมให้โจทก์เข้าทำงานและตลอดเวลาที่ตกลงจ้างกันจนกว่าจะมีการเลิกสัญญาจ้าง
ฯลฯ
พิพากษายืน.

Share