คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1087/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และจำเลย 5 โดยระบุตำแหน่งหน้าที่การงานมาด้วย ให้รับผิดต่อโจทก์ในการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหาย เป็นการฟ้องให้รับผิดต่อโจทก์เป็นส่วนตัว ที่โจทก์กล่าวถึงตำแหน่งหน้าที่การงานของจำเลยมาด้วยนั้นก็เพื่อให้นายจ้างและกรมเจ้าสังกัดของจำเลยต้องร่วมรับผิดในการกระทำของจำเลย
โจทก์ขอซื้อตั๋วแลกเงิน 3 ฉบับจากธนาคารออมสิน สาขาปทุมวันซึ่งเป็นสาขาของจำเลยที่ 1 ส่งไปให้ ท. ที่จังหวัดสตูลโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนแต่หายไป โจทก์ได้แจ้งความต่อตำรวจและขออายัดเงินที่ธนาคารออมสิน สาขาปทุมวัน แต่ปรากฏว่ามีผู้ขอรับเงินตามตั๋วแลกเงินแล้ว 2 ฉบับ โดยไปรับเงินจากธนาคารออมสิน สาขาศรีราชาและสาขาหนองมน ก่อนโจทก์แจ้งอายัดตั๋วแลกเงินที่มีผู้รับเงินไปแล้วนั้นมีรอยต่อเติมชื่อและนามสกุลของ ท. ในช่องจ่ายซึ่งมองเห็นได้ชัดทั้งสีหมึกและรอยต่อเติมตัวอักษร การจ่ายเงินของผู้จัดการธนาคารออมสินสาขาศรีราชาและสาขาหนองมน จึงเป็นไปด้วยความประมาทเลินเล่อในฐานะที่มีหน้าที่จะต้องใช้ความระมัดระวังในการจ่ายเงินจำเลยที่ 2ผู้จัดการสาขาธนาคารออมสินของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินไปจึงต้องรับผิด และจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดร่วมด้วย
โจทก์ส่งตั๋วแลกเงินพร้อมกับจดหมายไปให้ ท. โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียน แต่มิได้แจ้งการส่งตั๋วแลกเงินให้จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นนายไปรษณีย์ทราบ จำเลยที่ 5 มีหน้าที่รับผิดชอบแต่เฉพาะไปรษณียภัณฑ์ที่ส่งไปหายเท่านั้น ซึ่งตามระเบียบกรมไปรษณีย์โทรเลขรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้ฉบับละ 40 บาท แต่โจทก์มิได้ฟ้องเรียกร้องค่าไปรษณียภัณฑ์ที่สูญหาย หากแต่เรียกร้องเงินตามตั๋วแลกเงินที่สูญหายไปซึ่งจำเลยที่ 5 ไม่มีหน้าที่จะต้องรู้และรับผิดในวัตถุอันมีค่าที่บรรจุอยู่ในไปรษณียภัณฑ์นั้น การที่ตั๋วแลกเงินของโจทก์สูญหายไป เป็นความเสียหายที่จำเลยที่ 5 ไม่สามารถจะคาดเห็นได้จำเลยที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดอันเป็นผลถึงกรมไปรษณีย์โทรเลขจำเลยที่ 4 ด้วย
คำบรรยายฟ้องที่ไม่เคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคล ประกอบกิจการธนาคารชื่อธนาคารออมสิน จำเลยที่ ๒, ๓ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ มีหน้าที่เป็นผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาศรีราชา จำเลยที่ ๓ เป็นผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาหนองมน จำเลยที่ ๒, ๓ ได้กระทำการในทางการที่จ้างโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์เสียหายจำเลยที่ ๔ เป็นกรมในกระทรวงคมนาคม เป็นนิติบุคคล มีหน้าที่ประกอบกิจการไปรษณีย์โทรเลขสื่อสารโทรคมนาคมจำเลยที่ ๕ เป็นข้าราชการพนักงานของจำเลยที่ ๔ ซึ่งกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ซื้อตั๋วแลกเงิน ๓ ฉบับ จากธนาคารออมสิน สาขาปทุมวัน สาขาของจำเลยที่ ๑ ส่งไปให้นายทินกร อาธารมาศที่จังหวัดสตูล โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียน จำเลยที่ ๕ ปล่อยปละละเลยเป็นเหตุให้ไปรษณียภัณฑ์ดังกล่าวหายไป และมิได้ติดต่อแจ้งให้โจทก์หรือนายทินกรทราบทันท่วงที หรือร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายหลังโจทก์ได้แจ้งความต่อตำรวจและขออายัดเงินที่ธนาคารออมสิน สาขาปทุมวัน แต่ปรากฏว่ามีผู้ขอรับเงินตามตั๋วแลกเงินแล้ว ๒ ฉบับโดยไปรับเงินจากธนาคารออมสิน สาขาศรีราชา และสาขาหนองมนก่อนโจทก์แจ้งอายัด ทั้งนี้ โดยคนร้ายได้ปลอมแปลงชื่อนายทินกรอาธารมาศ เป็นทินศรี อ่ำธารีมาศต์ ซึ่งเห็นได้ชัดเจน จำเลยที่ ๒,๓ ได้จ่ายเงินไปโดยทุจริต หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้ารับผิดชดใช้เงินตามตั๋วแลกเงินรวม ๒๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑, ๒, ๔ และ ๕ ให้การว่า เจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๔ ได้รับฝากเพียงจดหมายลงทะเบียน มิได้รับฝากตั๋วแลกเงิน จำเลยที่ ๔, ๕ มิได้ประมาทเลินเล่อ ส่วนจำเลยที่ ๒ ได้จ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินไปตามทางการค้าปกติโดยสุจริต ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๒ ในฐานะส่วนตัว มิใช่ฟ้องในตำแหน่ง จำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิด และโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ ๕ กระทำไปในหน้าที่ราชการ จำเลยที่ ๕ ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว
โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ ๓ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ ๔, ๕ ร่วมกันใช้เงิน ๒๐,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ ๑, ๒
โจทก์และจำเลยที่ ๔, ๕ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑, ๒, ๔, ๕ ร่วมกันรับผิดชดใช้เงินตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑, ๒, ๔, ๕ ฎีกา
ในประเด็นที่ว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๒ และที่ ๕ ในฐานะส่วนตัวหรือว่าในฐานะจำเลยที่ ๒ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๕ เป็นเจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๔ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยที่ ๒ เป็นพนักงานลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ มีหน้าที่เป็นผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาศรีราชา ได้จ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินซึ่งโจทก์ซื้อมาจากธนาคารออมสิน สาขาปทุมวัน จำเลยที่ ๒ได้กระทำการไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๑ โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๒ ต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้นสำหรับจำเลยที่ ๕ โจทก์ก็บรรยายว่าจำเลยที่ ๕ เป็นข้าราชการของจำเลยที่ ๔ มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งในบังคับบัญชาของจำเลยที่ ๔ มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องไปรษณียภัณฑ์จำเลยที่ ๕ โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อปล่อยปละละเลยเป็นเหตุให้ไปรษณียภัณฑ์ซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลของจำเลยที่ ๕ หาย ทำให้โจทก์เสียหาย ซึ่งจำเลยที่ ๔ จะต้องร่วมรับผิดด้วย จากคำบรรยายฟ้องดังกล่าวจะเห็นได้ว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๕ ให้รับผิดต่อโจทก์เป็นส่วนตัวในการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหาย ที่โจทก์กล่าวถึงตำแหน่งหน้าที่การงานของจำเลยทั้งสองมาด้วยก็เพื่อให้นายจ้างและกรมเจ้าสังกัดของจำเลยต้องร่วมรับผิดในการกระทำของจำเลยดังกล่าวแล้ว
ในประเด็นที่ว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ได้บรรยายสภาพแห่งข้อหากล่าวถึงไปรษณียภัณฑ์ที่มีตั๋วแลกเงิน๓ ฉบับ อยู่ในซองจดหมาย โจทก์ได้ส่งไปรษณียภัณฑ์ฉบับนี้ไปทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ซึ่งจำเลยที่ ๔ มีหน้าที่ดูแลรักษาแต่ปล่อยปละละเลยทำให้ไปรษณียภัณฑ์ที่โจทก์ส่งไปหาย สำหรับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ โจทก์ก็บรรยายว่าตั๋วแลกเงินได้มีการปลอมแปลงชื่อ โดยโจทก์ระบุสั่งจ่ายนายทินกร อาธารมาศ แต่มีการแก้ชื่อเป็นนายทินศรี อ่ำธารีมาศต์ ซึ่งการปลอมแปลงนี้เห็นได้ชัดเจน การจ่ายเงินของจำเลยที่ ๒ เป็นการประมาทเลินเล่อ ฟ้องของโจทก์บรรยายชัดถึงสภาพแห่งข้อหา จึงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุมดังที่จำเลยฎีกา
ในประเด็นที่ว่า จำเลยที่ ๔, ๕ จะต้องรับผิดเพียงใดนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ได้ส่งตั๋วแลกเงิน ๓ ฉบับ พร้อมกับจดหมายของโจทก์ไปให้นายทินกร อาธารมาศ โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียน โจทก์ไม่ได้แจ้งการส่งตั๋วแลกเงินโดยทางไปรษณีย์ให้จำเลยที่ ๕ ทราบ จำเลยที่ ๕ มีหน้าที่รับผิดชอบแต่เฉพาะไปรษณียภัณฑ์ที่ส่งไปหายเท่านั้น แต่โจทก์มิได้ฟ้องเรียกร้องค่าไปรษณียภัณฑ์ที่สูญหาย หากแต่เรียกร้องเงินตามตั๋วแลกเงินที่สูญหายไป ซึ่งจำเลยที่ ๕ ไม่มีหน้าที่จะต้องรู้และรับผิดในวัตถุอันมีค่าที่บรรจุอยู่ในไปรษณียภัณฑ์นั้น การที่ตั๋วแลกเงินทั้ง ๓ ฉบับ ของโจทก์สูญหายไป ความเสียหายในเรื่องตั๋วแลกเงินหายในคดีนี้ เป็นความเสียหายที่จำเลยที่ ๕ ไม่สามารถจะคาดเห็นได้จำเลยที่ ๕ จึงไม่ต้องรับผิดอันเป็นผลถึงจำเลยที่ ๔ ด้วย
ในประเด็นที่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ ๑,๒ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าโจทก์มีนายทินกรผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาสตูล ซึ่งย้ายไปอยู่สาขาห้วยยอด มาเบิกความว่า ได้ดูหลักฐานในตั๋วแลกเงิน ๒ ฉบับ ที่มีผู้มาขอรับเงินไปแล้วได้ชี้แจ้งให้นายสืบพงษ์หัวหน้ากองตั๋วแลกเงินทราบว่า มีรอยต่อเติมชื่อและนามสกุลของนายทินกรในช่องจ่ายซึ่งมองเห็นได้ชัดโดยสีหมึกไม่เหมือนกันและอักษรบางตัวมีรอยต่อเติมเห็นได้ชัด เช่น ตัว ก. ต่อเติมเป็นตัว ศ. จากคำเบิกความของนายสืบพงษ์หัวหน้ากองตั๋วแลกเงินธนาคารออมสิน พยานของจำเลยเองก็ว่า พอดูสีหมึกที่เขียนชื่อในตั๋วแลกเงินนั้นก็รู้ว่าสีต่างกัน ถ้าตอนแรกดู เห็นได้ว่าสีหมึกไม่เหมือนกันตรงที่เขียนชื่อธนาคารก็ไม่จ่ายเงินให้ หากจ่ายไปธนาคารก็ต้องรับผิด จึงฟังได้ว่าการจ่ายเงินของผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาศรีราชา และผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาหนองมน เป็นไปด้วยความประมาทเลินเล่อ ถ้าได้ใช้ความระมัดระวังตรวจดูชื่อของผู้มีสิทธิรับเงิน ก็จะเห็นว่ามีการแก้ไขเพิ่มเติมชื่อ เนื่องจากการแก้ไขเพิ่มเติมนี้เห็นได้ง่ายในฐานะที่มีหน้าที่จะต้องใช้ความระมัดระวังในการจ่ายเงินจำเลยที่ ๒ จึงต้องรับผิด และจำเลยที่ ๑ จึงต้องรับผิดร่วมด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑, ๒ ร่วมกันรับผิดใช้เงินตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแก่โจทก์ ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ ๔, ๕ ให้ยก

Share