คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4852/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยมีสิทธิได้รับเงินสินสมรสคนละครึ่งเมื่อเงินอยู่ที่โจทก์เท่ากับโจทก์ได้รับส่วนของจำเลยเกินไปต้องนำส่วนที่โจทก์ได้รับเกินไปหักออกจากสินสมรสจำนวนอื่นที่โจทก์จะได้รับจากจำเลยต่อไปแม้จำเลยไม่ได้ฟ้องแย้งก็ไม่เป็นการนอกฟ้องและเกินคำขอ การแบ่งสินสมรสระหว่างสามีภริยาที่หย่ากันโดยคำพิพากษาต้องแบ่งตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1533บัญญัติไว้คือแบ่งสินสมรสให้ชายหญิงได้ส่วนเท่ากันซึ่งถ้าการแบ่งไม่อาจตกลงกันได้ก็ให้นำสินสมรสออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาแบ่งกันจะแบ่งโดยกำหนดราคาทรัพย์สินสมรสให้จำเลยต้องแบ่งแก่โจทก์หากจำเลยไม่ยอมแบ่งหรือไม่สามารถแบ่งได้ให้นำสินสมรสออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้แก่โจทก์จนครบหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือเด็กหญิงปัทมาณรงค์ฤทธิ์เดโช และเด็กหญิงเสาวนีย์ ณรงค์ฤทธิ์เดโช ระหว่างอยู่กินเป็นสามีภริยากันมีทรัพย์สินซึ่งเป็นสินสมรส รวมราคาทรัพย์สินสมรสทั้งสิ้น 10,070,662.11 บาท ต่อมาจำเลยได้อุปการะเลี้ยงดูยกย่องหญิงอื่นเป็นภริยาและทำร้ายร่างกายโจทก์หมิ่นประมาทโจทก์จนโจทก์ไม่สามารถอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยได้ต่อไป ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยและโจทก์หย่าขาดจากกัน ให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรทั้งสอง ให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองคนละ 3,000 บาท ต่อเดือน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ และให้จำเลยแบ่งสินสมรสตามฟ้องให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง หากไม่สามารถจะแบ่งได้ให้นำออกขายทอดตลาดเอาเงินมาแบ่งกันตามส่วน พร้อมด้วยแบ่งผลประโยชน์ที่ได้จากร้านค้าตามบัญชีทรัพย์อันดับที่ 1 ซึ่งได้ประมาณเดือนละ 30,000 บาทให้โจทก์ครึ่งหนึ่งเดือนละ 15,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าการแบ่งสินสมรสจะเสร็จสิ้น
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยมิได้ประพฤติเสื่อมเสียอันเป็นเหตุหย่าตามที่โจทก์ฟ้อง ทรัพย์สินสมรสไม่ได้ตามฟ้องระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสามีภริยานับถึงวันฟ้องมีหนี้ร่วมที่จะต้องรับผิดร่วมกันและโจทก์นำเงินสดและทรัพย์สินสมรสไปด้วย เมื่อนำมาหักกับทรัพย์สินที่มีอยู่แล้ว ไม่มีทรัพย์สินที่เหลือจะแบ่งให้โจทก์ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน ให้นางสาวปัทมา ณรงค์ฤทธิ์เดชา และเด็กหญิงเสาวณีย์ ณรงค์ฤทธิ์เดชา บุตรผู้เยาว์ อยู่ในอำนาจปกครองของโจทก์แต่ผู้เดียว ให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองคนละ 2,000 บาท ต่อเดือน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่ละคนจะบรรลุนิติภาวะให้คืนทรัพย์สินลำดับที่ 26 และ 29 ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยให้แก่จำเลย และให้แบ่งสินสมรสตามทรัพย์สินลำดับที่ 1ถึง 16, 19 ถึง 23 และ 25 ให้แก่โจทก์จำเลยคนละครึ่งหนึ่งเท่า ๆ กัน
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยแบ่งสินสมรสตามบัญชีสินสมรสท้ายฟ้องอันดับที่ 1 ถึงอันดับที่ 21 ยกเว้นอันดับ 18 และอันดับ 20 เป็นจำนวนและตามจำนวนที่วินิจฉัยแล้วให้โจทก์ครึ่งหนึ่งโดยให้แบ่งสินสมรสอันดับที่ 1 ให้โจทก์เป็นเงิน 2,000,000 บาทอันดับ 2 เป็นเงิน 250,000 บาท อันดับ 3 เป็นเงิน 150,000 บาทอันดับ 4 เป็นเงิน 150,000 บาท อันดับ 5 เป็นเงิน 90,000 บาทอันดับที่ 6 เป็นเงิน 5,000 บาท อันดับ 7 เป็นเงิน 3,000 บาทอันดับที่ 8 เป็นเงิน 25,000 บาท อันดับที่ 9 เป็นเงิน 50,000 บาทอันดับ 10 เป็นเงิน 90,000 บาท อันดับ 11 เป็นเงิน 50,000 บาทอันดับ 12 เป็นเงิน 84,375 บาท อันดับ 13 เป็นเงิน 32,000 บาทอันดับ 14 เป็นเงิน 45,000 บาท อันดับ 15 เป็นเงิน 838.05 บาทอันดับ 16 เป็นเงิน 86,500 บาท อันดับ 17 เป็นเงิน 130,940 บาทอันดับ 19 เป็นเงิน 81,030 บาท และอันดับ 21 เป็นเงิน 2,500 บาทโดยหักเงินจำนวน 352,500 บาท ที่โจทก์รับเกินไปแล้วออกจากยอดเงินที่จำเลยต้องแบ่งให้โจทก์ ถ้าจำเลยไม่ยอมแบ่งหรือไม่สามารถแบ่งได้ให้นำสินสมรสนั้นออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้โจทก์จนครบกับให้จำเลยแบ่งเงินผลประโยชน์ของร้านชัยเจริญศูนย์ล้อเดือนละ15,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะแบ่งสินสมรสเสร็จสิ้นให้โจทก์คืนค่าขึ้นศาลทั้งชั้นศาลชั้นต้นและชั้นศาลอุทธรณ์ให้โจทก์จำเลยหักไว้เพียงชั้นละ 200 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ และ จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์กล่าวในฎีกาว่า หากฟังว่าเงินอยู่กับโจทก์ เมื่อจำเลยไม่ได้ฟ้องแย้งเรียกคืนจะบังคับให้โจทก์คืนครึ่งหนึ่งหรือหักจากทรัพย์สินที่โจทก์จะได้ในฐานะสินสมรสไม่ได้ เพราะเป็นการนอกฟ้องและเกินคำขอนั้น เห็นว่า เงินจำนวน705,000 บาท โจทก์จำเลยมีสิทธิได้รับคนละครึ่ง เมื่อเงินอยู่ที่ไหน เท่ากับโจทก์ได้รับส่วนของจำเลยเกินไป 352,500 บาทที่ศาลอุทธรณ์ให้นำส่วนที่โจทก์ได้รับเกินไปหักออกจากสินสมรสจำนวนอื่นที่โจทก์จะได้รับจากจำเลยต่อไป ซึ่งเป็นไปตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(2) จึงชอบแล้ว
จำเลยฎีกาต่อไปว่า ระหว่างอุทธรณ์โจทก์จำเลยได้ตกลงราคาทรัพย์และแบ่งทรัพย์อันดับ 8 ถึงอันดับ 12 อันดับ 14 และอันดับ21 กันแล้ว โดยให้ทรัพย์ดังกล่าวเป็นของจำเลยและจำเลยได้ให้เงินตามส่วนที่ตกลงราคากันให้โจทก์ไปแล้ว จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องแบ่งให้โจทก์ครึ่งหนึ่งตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อีก เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่ต้องไปว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดี ส่วนจำเลยฎีกาว่า ทรัพย์อันดับ 4 ถึงอันดับ 7 บังคับคดีได้ราคาต่ำกว่าราคาที่ศาลอุทธรณ์กำหนด โจทก์จำเลยควรมีสิทธิได้รับคนละครึ่งหนึ่งเห็นว่า การแบ่งสินสมรสระหว่างสามีภริยาที่หย่ากันโดยคำพิพากษาต้องแบ่งตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1533 บัญญัติไว้คือแบ่งสินสมรสให้ชายหญิงได้ส่วนเท่ากัน ซึ่งถ้าการแบ่งไม่อาจตกลงกันได้ ก็ให้นำสินสมรสออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาแบ่งกันที่ศาลอุทธรณ์กำหนดราคาทรัพย์สินสมรสให้จำเลยต้องแบ่งแก่โจทก์หากจำเลยไม่ยอมแบ่งหรือไม่สามารถแบ่งได้ ให้นำสินสมรสนั้นออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้แก่โจทก์จนครบนั้น หาได้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ถ้าจำเลยไม่ยอมแบ่งหรือไม่สามารถแบ่งสินสมรสอันดับใด ให้นำสินสมรสอันดับนั้นออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาแบ่งให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share