คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 862/2495

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีจะเป็นตรัสต์นั้น ต้องมีข้อความให้เห็นได้ว่า ยกกรรมสิทธิในทรัพย์ให้ แต่ผูกมัดไว้ว่า ผู้รับกรรมสิทธินั้จะต้องใช้ทรัพย์นั้นให้เป็นประโยชน์แก่บุคคลใด ๆ อันกำหนดตัวได้แน่นอนหรือเพื่อสาธารณะกุศลอันแน่นอน
การสั่งให้ทรัพย์สมบัติทุกอย่างเป็นกองกลาง เพื่อให้บุตรหลานมีสิทธิได้อยู่อาศัยและเก็บกิน ซึ่งผลประโยชน์ไปจนตลอดชีวิต เมื่อบุตรหลานคนใดไม่มีทุนรอน ก็ให้เงินทำทุนพอสมควร โดยตั้งให้ทายาทคนหนึ่งเป็นผู้ปกครองทรัพย์ กับมีหน้าที่เก็บเงิน ทำบุญวัดและบ้านนั้น เป็นคำสั่งที่ใช้คำกว้าง ๆ ไม่แน่นอนมิได้กำหนดให้ชัดว่าทำบุญอะไร วัดไหน และบ้านแห่งใด ดังนี้ จึงไม่ใช่เป็นกรณีก่อให้ตั้งตรัสต์ และต้องถือว่าข้อกำหนดในพินัยกรรมดังกล่าวแล้ว ไม่มีผล ทรัพย์มรดกจึงตกทอดไปยังทายาทโดยธรรมไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า บิดามารดาโจทก์จำเลยได้ทำพินัยกรรมตั้งจำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดการทรัพย์มรดก ต่อมาบิดามารดาโจทก์จำเลยถึงแก่กรรมลง จำเลยได้ไปโอนรับมรดกที่ดินลงชื่อจำเลยในโฉนดเสียทั้งหมด จึงขอให้เพิกถอนการเป็นผู้จัดการมรดก และให้โจทก์เป็นผู้จัดการหรือแบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์ ๑ ใน ๓
จำเลยต่อสู้ว่า บิดาได้ยกทรัพย์สมบัติให้จำเลยก่อนตาย และมารดาทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้จำเลยที่ ๑ ผู้เดียว
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ข้อความในพินัยกรรมไม่มีการยกกรรมสิทธิในทรัพย์ให้ผู้ใดเลย และมิได้มีการให้ใช้ทรัพย์ผู้ใด หรือการสาธารณะกุศลอย่างใดให้แน่นอน จึงไม่ใช่เป็นการแต่งตั้งตรัสต์ ทั้งมิใช่พินัยกรรมที่ชอบ อันจะมีผลบังคับได้ จึงถือเสมือนไม่มีพินัยกรรม เมื่อโจทก์และทายาทอื่นไม่ได้ปกครองทรัะย์มาเป็นเวลาร่วม ๒๐ ปี จำเลยที่ ๑ คงปกครองอย่างเป็นเจ้าของโดยแจ้งชัดตลอดมา โจทก์หมดสิทธิการฟ้องร้องด้วยขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ก่อนใช้ ป.ม.แพ่งฯบรรพ ๖ การก่อตั้งตรัสต์อาจมีได้ ตามคำสั่งของผู้ตายมีข้อความว่า ให้ทรัพย์สมบัติทุกอย่างเป็นกองกลาง เพื่อให้บุตรหลานีสิทธิได้อยู่อาศัยและเก็บกินซึ่งผลประโยชน์ต่อไปตลอดชีวิต เมื่อบุตรหลานคนใดไม่มีทุนรอนก็ให้เงินทำทุนพอสมควร โดยตั้งจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ปกครองทรัพย์ กับมีหน้าที่เก็บเงินทำบุญวัดและบ้าน ฯลฯ ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ใช้คำกว้าง ๆ ไม่แน่นอน มิได้กำหนดให้ชัดว่า ทำบุญอะไร วัดไหน และบ้านแห่งใด เพราะที่จะเป็นตรัสต์านั้น ต้องมีข้อความเห็นได้ว่า ยกกรรมสิทธิในทรัพย์ให้ แต่ผูกมัดไว้ว่า ผู้ได้รับกรรมสิทธินั้น จะต้องใช้ทรัพย์นั้นให้เป็นประโยชน์แก่บุคคลใด ๆ อันกำหนดตัวได้แน่นอน หรือเพื่อสาธารณะกุศลอันแน่นอน ฉะนั้นข้อกำหนดในพินัยกรรมจึงไม่มีผล ส่วนการครอบครอง คงได้ความว่า จำเลยที่ ๑ ได้ครอบครองทรัพย์มรดกมาเป็นเวลา ๒๐ ปี เศษแล้ว โดยไม่มีพฤติกรรมใด ๆ แสดงว่า ครอบครองแทนโจทก์หรือทายาทอื่น คดีโจทก์จึงขาดอายุความดังศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมา
จึงให้ยกฎีกาโจทก์ โดยพิพากษายืน

Share