คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4937/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1350 ที่บัญญัติว่า ถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันและไม่ต้องเสียค่าทดแทนนั้น มีความหมายว่าที่ดินเดิมก่อนมีการแบ่งแยกมีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว แต่เพราะเหตุมีการแบ่งแยกเป็นหลายแปลงทำให้ที่ดินบางแปลงไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้เลยหากที่ดินที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันนั้น แม้ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะเดิมก่อนมีการแบ่งแยก แต่ก็ยังมีทางออกสู่ทางสาธารณะในทางอื่นด้วยแล้วเช่นนี้ ก็ถือไม่ได้ว่าที่ดินแปลงที่แบ่งแยกนั้นไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะอันจะนำบทบัญญัติในมาตรา1350 ดังกล่าวมาใช้บังคับได้
คดีนี้แม้จำเลยจะให้การรับว่าที่ดินโจทก์หลังจากแบ่งแยกแล้วทำให้ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ แต่จำเลยก็ได้ให้การต่อสู้ไว้โดยชัดแจ้งด้วยว่าโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะทางด้านทิศใต้ โดยผ่านที่ดินของ ท.และเป็นทางที่ ม.เจ้าของที่ดินเดิมตลอดจนบิดามารดาโจทก์ใช้เป็นเส้นทางเข้าออกมาโดยตลอดทั้งเป็นทางที่สะดวกและเหมาะสมกว่าทางอื่น ซึ่งหากข้อเท็จจริงฟังได้ดังที่จำเลยให้การแล้ว ย่อมแสดงว่าที่ดินโจทก์หลังการแบ่งแยกแล้ว หาได้ไม่มีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะดังที่โจทก์ฟ้องไม่
ศาลชั้นต้นงดสืบพยานและพิพากษาให้จำเลยเปิดทางจำเป็นโดยกำหนดความกว้างให้ 3.25 เมตร โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเหตุใดศาลชั้นต้นจึงกำหนดเช่นนั้น และ ป.พ.พ.มาตรา 1349 วรรคสาม บังคับไว้ว่า ทางจำเป็นต้องเลือกให้พอสมควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิผ่านกับให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้ ซึ่งล้วนแล้วแต่จะต้องอาศัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบมาวินิจฉัยชี้ขาดคดี กรณีจึงต้องให้คู่ความนำพยานหลักฐานมาสืบให้ปรากฏข้อเท็จจริงต่อศาลเสียก่อน การที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานและพิพากษาคดีดังกล่าวมา จึงเป็นการไม่ชอบ

Share