คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 861/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. 2490 มาตรา 16 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ต่อมาพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควรได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ. 2522 โดยพระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด มีบทบัญญัติมาตรา 30กำหนดหลักการไว้ใกล้เคียงกับมาตรา 16 ของพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร ดังนี้ เมื่อกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิด โดยกฎหมายที่ใช้ภายหลังได้เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบแห่งความผิด และเปิดโอกาสให้จำเลย อ้างเหตุผลอันสมควรมาเป็นข้อแก้ตัวได้ จึงต้องถือว่ากฎหมายที่ใช้ภายหลังเป็นคุณแก่จำเลย และต้องนำมาบังคับใช้ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2522 เวลากลางวัน จำเลยเป็นผู้ทำการขายปลีกไม้ขีดไฟซึ่งเป็นสิ่งของควบคุมการผลิตการจำหน่ายและห้ามค้ากำไรเกินควรตามประกาศของคณะกรรมการการค้ากำไรเกินควร และจำเลยได้ทราบประกาศแล้ว ได้มีนายสมชายกับพวกมาขอซื้อปลีกไม้ขีดไฟจำนวน 1 ห่อ (ห่อละ 600 กลัก) ด้วยเงินสดจากจำเลยอันเป็นจำนวนและปริมาณไม่เกินควรแก่การใช้ แต่จำเลยไม่ยอมขายปลีกให้นายสมชายกับพวกเหตุเกิดที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. 2490 มาตรา 8, 8 ทวิ, 16, 21 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2517 มาตรา 6, 7 ประกาศคณะกรรมการกลางป้องกันการค้ากำไรเกินควร (ฉบับที่ ป.1) พ.ศ. 2522 เรื่องควบคุมการผลิตการจำหน่าย และห้ามค้ากำไรเกินควร ซึ่งสิ่งของบางชนิด ลงวันที่ 15 มกราคม2522 บัญชี ก. หมวด 4 ข้อ 2 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8 และ 9 และสั่งจ่ายรางวัลแก่ผู้จับกุมตามกฎหมาย

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ขอซื้อไม้ขีดจำนวน 1 ห่อ (ห่อละ 600 กลัก)เป็นปริมาณที่เกินสมควรแก่การใช้ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพหมายถึงการยอมรับว่าจำนวนและปริมาณที่ผู้เสียหายขอซื้อนั้นไม่เกินสมควรแก่การใช้ตามที่โจทก์กล่าวในฟ้องพิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. 2490 มาตรา 8, 8 ทวิ 16, 21 พระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2517 มาตรา 6, 7 ให้จำคุก6 เดือน ปรับ 5,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน ปรับ 2,500 บาท และให้รอการลงโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ภายในกำหนด 3 ปี ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามมาตรา 29, 30 ให้จ่ายรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พุทธศักราช 2489 มาตรา 5, 6, 7, และ 8

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. 2490 และพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2517 แต่ปรากฏว่าพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับนี้ได้ถูกยกเลิกแล้วโดย มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ. 2522 ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2522 ศาลฎีกาได้ตรวจพิจารณาพระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้าและป้องกันกับการผูกขาด พ.ศ. 2522 แล้ว เห็นว่ามีบทบัญญัติมาตรา 30 ที่ได้ กำหนดหลักการไว้ใกล้เคียงกับบทบัญญัติมาตรา 16 ของพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. 2490 ที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษในคดีนี้โดยได้บัญญัติไว้ว่า มาตรา 30 ห้ามมิให้ ฯลฯ ผู้ประกอบธุรกิจใดซึ่งมีสินค้าควบคุมไว้เพื่อจำหน่ายแล้วไม่นำออกจำหน่ายหรือเสนอขายตามปกติ หรือปฏิเสธการจำหน่ายหรือประวิงการจำหน่ายหรือส่งมอบสินค้าควบคุมโดยไม่มีเหตุผลสมควร แต่องค์ประการความผิดตามมาตรา 30 นี้ ต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 16 ของพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควรกล่าวคือ มาตรา 16 กำหนดเป็นความผิดแก่ผู้ทำการขายปลีกซึ่งไม่ขายส่งของแก่ผู้ที่ขอซื้อเป็นจำนวนหรือปริมาณไม่เกินสมควรแก่การใช้ แต่มาตรา 30แห่งพระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ. 2522กำหนดเป็นความผิดแก่ผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งปฏิเสธการจำหน่ายสินค้าควบคุมโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หากโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องในขณะนี้โดยมิได้ระบุในฟ้องว่า จำเลยปฏิเสธการจำหน่ายสินค้าโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรย่อมต้องถือว่าเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบของความผิด และศาลจะพิพากษาโทษจำเลยไม่ได้ เมื่อกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด คดีนี้แตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด โดยกฎหมายที่ใช้ในภายหลังได้เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบแห่งความผิด และเปิดโอกาสให้จำเลยอ้างเหตุผลอันสมควรมาเป็นข้อแก้ตัวได้ จึงต้องถือว่ากฎหมายที่ใช้ภายหลังเป็นคุณแก่จำเลยและจะต้องนำมาบังคับแก่คดีนี้ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3

เมื่อฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏว่าที่จำเลยไม่ขายไม้ขีดไฟให้แก่ผู้ขอซื้อนั้นได้กระทำไปโดยไม่มีเหตุสมควร ศาลก็ลงโทษจำเลยไม่ได้ คดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าไม้ขีดไฟที่มีผู้ขอซื้อนั้น เป็นจำนวนหรือปริมาณไม่เกินสมควรแก่การใช้หรือไม่

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share