คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8602/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินของโจทก์และจำเลยอยู่ติดกัน จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินของโจทก์เพื่อทำสวนส้มในที่ดินทั้งของโจทก์และจำเลย โดยจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ มีกำหนดการเช่า 22 ปี จำเลยได้ทำการขุดดินจากที่ดินของโจทก์ไปถมในที่ดินของจำเลย เพื่อให้ที่ดินของโจทก์และจำเลยมีระดับพื้นดินเท่ากัน เมื่อพิจารณาถึงสภาพภูมิประเทศรวมถึงที่ตั้งของที่ดิน ทั้งสองแปลงดังกล่าวแล้วพบว่าเป็นที่ราบลุ่ม หากปีใดมีฝนตกมากอาจเกิดน้ำท่วม บางปีก็แล้งน้ำ การทำสวนผลไม้จึงต้องขุดร่องน้ำเพื่อเก็บกักน้ำและทำคันดินกั้นน้ำรอบสวนด้านนอก เพื่อป้องกันน้ำท่วม อีกทั้งในการขุดร่องน้ำนี้ต้องเกลี่ยหน้าดินในแปลงให้มีระดับพื้นดินเท่ากันก่อนจึงจะขุดร่องน้ำและทำคันดินกั้นน้ำได้ การที่จำเลยขุดหน้าดินใน ที่ดินของโจทก์แล้วนำไปถมในที่ดินของจำเลย จึงเป็นการปรับปรุงที่ดินทั้งของโจทก์และของจำเลยให้มีสภาพ เหมาะสมแก่การทำสวนส้ม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้ทรัพย์ที่เช่าตามประเพณีนิยมปกติ และเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าแล้ว โจทก์สามารถเรียกร้องให้จำเลยปรับแต่งหน้าดินให้เรียบหรือให้คงไว้ในสภาพเดิมได้ จึงถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการผิดสัญญาเช่าต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3138 ของโจทก์ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยไปจดทะเบียนเลิกสัญญาเช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 3138 ของโจทก์ หากจำเลยไม่ไปดำเนินการให้ถือเอาตาม คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยทำที่ดินของโจทก์ให้อยู่ในสภาพเดิมโดยเอาดินไปถมคืนในที่ดินของโจทก์ให้เต็มเนื้อที่ที่ขุดไปเนื้อที่ 20 ไร่ ลึก 60 เซนติเมตร หรือจำนวน 100 คันรถบรรทุกสิบล้อ และให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3138 ของโจทก์ ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์อีกต่อไป ให้จำเลยไปจดทะเบียนเลิกสัญญาเช่าที่ดินของโจทก์ตามสัญญาเช่าที่ดินฉบับลงวันที่ 17 มีนาคม 2531 หากจำเลยไม่ไปดำเนินการให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยนำดินไปถมคืนในที่ดินของโจทก์เป็นเนื้อที่ 10 ไร่ สูง 50 เซนติเมตร หรือจำนวน 100 คันรถบรรทุกสิบล้อ และให้จำเลยใช้ ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ 50,000 บาท นับแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2537 จนกว่าจำเลยจะออกไปจากที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,500 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 3138 จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 3139 ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวอยู่ติดกันตั้งอยู่ที่ตำบลองครักษ์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เนื้อที่แปลงละ 49 ไร่ 2 งาน 19 ตารางวา ที่ดินของโจทก์อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินจำเลย เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2531 โจทก์ทำสัญญาและจดทะเบียนให้จำเลยเช่าที่ดินของโจทก์ดังกล่าวเพื่อทำสวนส้ม ค่าเช่าปีละ 50,000 บาท มีกำหนด 22 ปี ต่อมาจำเลยได้ขุดหน้าดินในที่ดินโจทก์ไปถมในที่ดินของจำเลย การกระทำของจำเลยดังกล่าวจะเป็นการผิดสัญญาเช่าต่อโจทก์หรือไม่ นั้น ได้ความว่าพื้นที่อำเภอองครักษ์เป็นที่ราบลุ่ม หากปีใดฝนตกมากอาจจะเกิดน้ำท่วมบางปีแล้งน้ำ การทำสวนผลไม้ในอำเภอองครักษ์จึงต้องขุดร่องน้ำเพื่อเก็บกักน้ำและทำคันดินกั้นน้ำรอบสวนด้านนอกเพื่อป้องกัน น้ำท่วม ประกอบกับ เดิมที่ดินของโจทก์เป็นที่นา จำเลยเช่าที่ดินของโจทก์เพื่อทำสวนส้ม ดังนี้ เมื่อจำเลยจะใช้ที่ดินของโจทก์และที่ดินของจำเลยทำสวนส้มจึงต้องทำคันดินกั้นน้ำล้อมรอบเพื่อป้องกันน้ำท่วมและขุดร่องน้ำเพื่อเก็บกักน้ำ ซึ่งในการขุดร่องน้ำนี้ จะต้องเกลี่ยหน้าดินในแปลงให้มีระดับพื้นดินเท่ากันก่อน ดังนั้น การที่จำเลยจะใช้ที่ดินของโจทก์และจำเลยทำสวนส้มจึงต้องปรับแต่งหน้าดินโดยเกลี่ยดินในที่ดินของโจทก์และจำเลยให้มีระดับหน้าดินเท่ากันก่อนจะขุดร่องน้ำและทำคันดินกั้นน้ำ จึงมีเหตุผลเชื่อได้ว่า จำเลยนำดินที่ขุดจากที่ดินของโจทก์ไปถมในที่ดินของจำเลยเพื่อให้ที่ดินของโจทก์และจำเลยมีระดับพื้นดินเท่ากัน เพื่อจะทำการขุดร่องน้ำและทำคันดินกั้นน้ำต่อไป ซึ่งต่อมาจำเลยได้ขุดร่องน้ำและทำคันดินกั้นน้ำในที่ดินของโจทก์และจำเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำของจำเลย ดังกล่าวโจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอองครักษ์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยกับพวกในข้อหาความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ แต่ปรากฏว่าพนักงานอัยการจังหวัดนครนายกมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยกับพวกตามความเห็นของพนักงานสอบสวน จึงเห็นว่า การที่จำเลยขุดหน้าดินในที่ดินโจทก์แล้วนำไปถมในที่ดินของจำเลย ดังกล่าวเป็นการปรับปรุงที่ดินทั้งของโจทก์และจำเลยให้มีสภาพเหมาะสมแก่การทำสวนส้ม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้ทรัพย์ที่เช่าตามประเพณีนิยมปกติ และเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าที่ดินแล้วโจทก์สามารถเรียกร้องให้จำเลยปรับแต่งหน้าดินให้เรียบหรือคงไว้ในสภาพเดิมได้ตามข้อตกลงต่อท้ายหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน จึงฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการผิดสัญญาเช่าต่อโจทก์ โจทก์ไม่อาจอาศัยเหตุดังกล่าวบอกเลิกสัญญาเช่าได้
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 3,000 บาท.

Share