แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำสั่งตาม มาตรา17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร เรื่องให้ทรัพย์สินในกองมรดกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และทรัพย์สินของท่านผู้หญิงวิจิตราธนะรัชต์ ตกเป็นของรัฐ เป็นคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีได้ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรและโดยมติคณะรัฐมนตรีจึงมีผลบังคับเป็นกฎหมาย ซึ่งในข้อ (ข) ระบุให้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งในและนอกประเทศซึ่งเป็นของบุคคลดังกล่าวตกเป็นของรัฐทันทีตั้งแต่วันออกคำสั่ง
เมื่อจำเลยถูกกำจัดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์รายพิพาทโดยกฎหมายและกระทรวงการคลังโจทก์ได้ยึดถือทรัพย์รายพิพาทไว้ในนามของรัฐแล้วการที่จำเลยลักลอบไปจดทะเบียนรับมรดกทรัพย์รายพิพาทมาเป็นของจำเลยแล้วจดทะเบียนโอนขายให้บุคคลอื่นไปการกระทำของจำเลยจึงเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
จำเลยลักลอบไปจดทะเบียนรับมรดกทรัพย์รายพิพาทเป็นของตนแล้วจดทะเบียนโอนขายให้บุคคลอื่นไป จึงเท่ากับเป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ไปขายโดยไม่มีอำนาจ ซึ่งโจทก์มีสิทธิฟ้องขอบังคับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์นั้นได้ คดีนี้โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์ที่จำเลยเอาของโจทก์ไปขาย ไม่ใช่เป็นเรื่องเรียกร้องให้จำเลยใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิด จึงนำอายุความตาม มาตรา 448แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งใช้บังคับ เฉพาะกรณีผู้เสียหายฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิด มาใช้บังคับในกรณีนี้ไม่ได้ คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์พิพาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ซื้อที่ดินและอาคารรายพิพาทที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2504 เมื่อซื้อแล้วได้ให้ผู้ช่วยเอกอัครราชทูตไทยฝ่ายทหารบกประจำกรุงโตเกียวเช่า ต่อมาปี พ.ศ. 2506 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ถึงแก่อนิจกรรม จำเลยกับพันตรีเศรษฐา ธนะรัชต์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล และต่อมาปี พ.ศ. 2507 นายกรัฐมนตรีอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรและโดยมติคณะรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินในกองมรดกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์และทรัพย์สินของจำเลยตกเป็นของรัฐ โดยให้กระทรวงการคลังโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินบรรดาที่ตกเป็นของรัฐในนามของรัฐและให้ดำเนินการตามควรทุกประการในฐานะเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น ๆ ต่อไป กระทรวงการคลังโจทก์โดยกรมธนารักษ์ได้ดำเนินการให้ผู้ช่วยเอกอัครราชทูตไทยฝ่ายทหารบกประจำกรุงโตเกียวเช่าที่ดินและอาคารรายพิพาท และให้ชำระค่าเช่าต่อกระทรวงการคลังโจทก์โดยฝ่ายกรมธนารักษ์ผู้ช่วยเอกอัครราชทูตไทยฝ่ายทหารบกประจำกรุงโตเกียวจึงได้เช่าและชำระค่าเช่าต่อกระทรวงการคลังโจทก์ตลอดมา ต่อมาปี พ.ศ. 2519 จำเลยและพันตรีเศรษฐา ธนะรัชต์ ในฐานะผู้จัดการมรดกของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ยื่นคำร้องต่อสำนักงานที่ดินของประเทศญี่ปุ่นขอโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารรายพิพาทมาเป็นชื่อของจำเลยและพันตรีเศรษฐา ธนะรัชต์ เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว ต่อมาวันที่ 23 มิถุนายน 2519 จึงได้จดทะเบียนโอนขายให้แก่บริษัทโทอะคิดโย จำกัด แห่งประเทศญี่ปุ่น แล้วจำเลยได้แจ้งให้ผู้ช่วยเอกอัครราชทูตไทยฝ่ายทหารบกประจำกรุงโตเกียวทราบ และให้ขนย้ายออกไป ผู้ช่วยเอกอัครราชทูตไทยฝ่ายทหารบกประจำกรุงโตเกียวได้มีหนังสือแจ้งให้กรมธนารักษ์ทราบ กรมธนารักษ์จึงได้รายงานให้กระทรวงการคลังโจทก์ทราบ ที่ดินและอาคารรายพิพาทมีราคาตามราคาประเมินคำนวณภาษี 107,955,000 เยน เท่ากับ 7,438,150 บาท 48 สตางค์ โดยคิดตามอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ 23 มิถุนายน 2519
จำเลยฎีกาในประการแรกว่าคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ออกโดยอาศัยอำนาจธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร มาตรา 17 แม้จะมีผลบังคับเป็นกฎหมาย ก็ใช้บังคับเฉพาะภายในประเทศไทยเท่านั้น ไม่มีผลบังคับให้ที่ดินในประเทศญี่ปุ่นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำสั่งตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรเรื่องให้ทรัพย์สินในกองมรดกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และทรัพย์สินของท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ ตกเป็นของรัฐตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีได้ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร และโดยมติคณะรัฐมนตรี คำสั่งของนายกรัฐมนตรีดังกล่าวจึงมีผลบังคับเป็นกฎหมาย ซึ่งในข้อ 1(ข) ระบุให้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งในและนอกประเทศซึ่งเป็นของจอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์และของจำเลยตกเป็นของรัฐทันทีตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2507 ซึ่งเป็นวันออกคำสั่ง ผลจึงมีว่า กรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารรายพิพาทซึ่งเป็นของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และของจำเลยย่อมเป็นอันสูญสิ้นไปและตกเป็นของรัฐทันที จำเลยซึ่งตกอยู่ในบังคับของคำสั่งดังกล่าวจึงหมดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์รายพิพาทตั้งแต่นั้นมา เมื่อคำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับเป็นกฎหมายและมีผลในทางกำจัดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของจำเลยแล้วตราบใดที่คำสั่งดังกล่าวมิได้ถูกยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขโดยกฎหมายหรือโดยพระราชบัญญัติ จำเลยก็จะยกเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์รายพิพาทซึ่งจำเลยสูญสิ้นกรรมสิทธิ์ไปแล้วขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับรัฐหรือผู้แทนของรัฐอีกหาได้ไม่ทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่าหลังจากมีคำสั่งดังกล่าวแล้ว คณะกรรมการสอบสวนทรัพย์สินของรัฐในกองมรดกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการสอบสวนและมีความเห็นว่า ค่าเช่าที่ดินและอาคารรายพิพาทต้องตกเป็นของรัฐตามคำสั่งนั้นด้วย ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5 ต่อมากรมธนารักษ์แห่งกระทรวงการคลังจึงได้มีหนังสือถึงผู้ช่วยทูตฝ่ายหทารบกประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ได้ส่งค่าเช่าที่ดินและอาคารรายพิพาทตั้งแต่ก่อนเดือนตุลาคม 2508 และเดือนต่อ ๆ ไปให้แก่กระทรวงการคลังโจทก์ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.6 จ.7 ในสมัยที่พันเอกประทวนกิตติรัตน์ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบกประจำกรุงโตเกียว สืบแทนพันเอกอานนท์ กรานเลิศ ก็ได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมธนารักษ์แห่งกระทรวงการคลังยืนยันขอค่าเช่าที่ดินและอาคารรายพิพาทต่อไปโดยขอปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้เคยปฏิบัติกันมาตั้งแต่เดิมทุกประการ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.35 ในการชำระค่าเช่าที่ดินและอาคารรายพิพาทก็ปรากฏว่าทางสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบกประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียวได้ส่งเงินค่าเช่าให้กระทรวงการคลังโจทก์ตลอดมา ซึ่งกระทรวงการคลังโจทก์ได้รับและตอบรับทุกครั้ง ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.8 ถึงจ.34 และ จ.36 ถึง จ.42 ข้อเท็จจริงได้ความตามที่กล่าวมารับฟังได้ว่ากระทรวงการคลังโจทก์ได้ยึดถือที่ดินและอาคารรายพิพาทไว้ในนามของรัฐแล้วโดยเอาทรัพย์สินดังกล่าวออกให้เช่าและได้เก็บดอกผลแห่งทรัพย์สินคือค่าเช่าในนามของรัฐตลอดมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว จำเลยเองก็ทราบตระหนักดีและยอมรับในหนังสือที่จำเลยมีถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและมีถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมว่า กระทรวงการคลังโจทก์ได้เข้าถือสิทธิในที่ดินและอาคารรายพิพาทแล้วโดยทำสัญญาให้กระทรวงกลาโหมเช่า ดังปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.9 ดังนั้นที่จำเลยอ้างว่าคำสั่งดังกล่าวไม่มีผลบังคับให้ทรัพย์สินรายพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ ฎีกาจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาในประการต่อไปว่า จำเลยได้จดทะเบียนรับมรดกทรัพย์รายพิพาทตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่นโดยชอบแล้ว จึงมีอำนาจขายทรัพย์พิพาทนี้ได้ การกระทำของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า เมื่อจำเลยถูกจำกัดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์รายพิพาทโดยกฎหมาย และกระทรวงการคลังโจทก์ได้ยึดถือทรัพย์รายพิพาทไว้ในนามของรัฐดังกล่าวข้างต้นแล้ว การที่จำเลยลักลอบไปจดทะเบียนรับมรดกรายพิพาทมาเป็นของจำเลยแล้วจดทะเบียนโอนขายให้บุคคลอื่นไป ย่อมทำให้รัฐหรือกระทรวงการคลังโจทก์ผู้แทนของรัฐสูญเสียทรัพย์สินไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์โดยตรง ฎีกาจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาในประการสุดท้ายว่า โจทก์ฟ้องเกิน 1ปี นับแต่วันที่กรมธนารักษ์รู้ตัวผู้ต้องใช้ค่าเสียหาย คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่งแล้ว ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าอายุความตามมาตรา 448 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ใช้บังคับเฉพาะกรณีผู้เสียหายฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด แต่คดีนี้ปรากฏว่าจำเลยลักลอบไปจดทะเบียนรับมรดกทรัพย์รายพิพาทเป็นของตน แล้วจดทะเบียนโอนขายให้บุคคลอื่นไป จึงเท่ากับเป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ไปขายโดยไม่มีอำนาจ ซึ่งโจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์นั้นได้ ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์ที่จำเลยเอาของโจทก์ไปขาย ไม่ใช่เป็นเรียกร้องให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย จึงนำอายุความตามมาตรา 448 ดังกล่าวข้างต้นมาใช้บังคับในกรณีนี้ไม่ได้ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ”
พิพากษายืน