คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 859/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์กับพวกฟ้อง ป. กรรมการผู้จัดการของจำเลยกับพวกและโจทก์เบิกความชั้นไต่สวนคำร้องเพื่อขอคุ้มครองประโยชน์ชั่วคราวเป็นกรณีที่โจทก์กระทำในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยเพื่อรักษาสิทธิหรือประโยชน์ของบริษัทจำเลยมิใช่กระทำในฐานะที่เป็นลูกจ้าง การที่โจทก์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นฟ้อง ป. กับพวกซึ่งเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นเช่นเดียวกับโจทก์ ถือไม่ได้ว่าป. กับพวกอยู่ในฐานะที่เป็นนายจ้างของโจทก์ จำเลยจะนำเหตุนี้เป็นข้ออ้างเลิกจ้างโจทก์หาได้ไม่
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ พ.ศ.2522 มาตรา 49ให้อำนาจ ศาลที่จะวินิจฉัยว่าลูกจ้างกับนายจ้างสามารถร่วมกันทำงานต่อไปได้หรือไม่ โดยคำนึงถึงสภาพของสถานประกอบการและความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง ถ้าเห็นว่าพอทำงานร่วมกันต่อไปได้ ก็จะสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงาน ถ้าเห็นว่าไม่อาจร่วมกันทำงานต่อไปได้ก็จะกำหนดให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายแทนการบังคับให้รับกลับเข้าทำงานเมื่อคดีได้ความว่าโจทก์กับกรรมการบริษัทจำเลยเป็นพี่น้อง กันการที่ศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจพิจารณาถึงความสัมพันธ์ดังกล่าวแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์กับจำเลยสามารถทำงานร่วมกันต่อไปได้ และสั่งให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานจึงไม่ใช่การวินิจฉัยคดีโดยไม่มีข้อเท็จจริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ก็เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลย และเป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งสุดท้ายเป็นหัวหน้าควบคุมฝ่ายบัญชี ต่อมาจำเลยโดย ป. กรรมการผู้จัดการเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการดำเนินกิจการของจำเลย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยซึ่งไม่เป็นความจริง เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน และใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์กระทำการเป็นปฏิปักษ์และขัดขวางการดำเนินกิจการของจำเลย โจทก์ฟ้องคดีแพ่งแล้วเบิกความเท็จชั้นไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ชั่วคราว ทำให้ศาลหลงเชื่อและมีคำสั่งห้ามกรรมการของบริษัทจำเลยกู้ยืมเงินเพื่อใช้ดำเนินกิจการของจำเลย โดยโจทก์ทราบอยู่แล้วว่าจำเลยจำเป็นต้องกู้ยืมเงินเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนประจำวันและใช้ในโครงการขยายงานโจทก์ยักยอกเอาเอกสารบัญชีของจำเลยเก็บไว้โดยไม่มีอำนาจ โจทก์ปลุกปั่นยุยงพนักงานของจำเลยให้กระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการจงใจทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้ พฤติการณ์ของโจทก์จำเลยไม่อาจรับโจทก์เข้าทำงานได้
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างในขณะที่เลิกจ้าง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การที่โจทก์กับพวกพ้อง ป. กรรมการผู้จัดการจำเลยกับพวก และโจทก์เบิกความชั้นไต่สวนคำร้องเพื่อขอคุ้มครองประโยชน์ชั่วคราวนั้น เป็นกรณีที่โจทก์กระทำในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลย ทั้งนี้เพื่อรักษาสิทธิหรือประโยชน์ของโจทก์และบริษัทจำเลย มิใช่กระทำในฐานะที่เป็นลูกจ้าง การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นฟ้อง ป. กับพวกซึ่งเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นเช่นเดียวกับโจทก์ ถือไม่ได้ว่า ป. กับพวกอยู่ในฐานะที่เป็นนายจ้างของโจทก์ จำเลยจะนำเหตุนี้เป็นข้ออ้างเลิกจ้างโจทก์หาได้ไม่ ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของโจทก์เป็นการจงใจทำให้จำเลยเสียหายหรือไม่
ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานของจำเลยมั่นคงกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ คดีฟังได้ว่า โจทก์เอาบัญชีของจำเลยไปโดยพลการ และโจทก์กล่าวปลุกปั่นยุยงพนักงานของจำเลยให้กระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา เป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางซึ่งเป็นข้อเท็จจริง แม้ศาลแรงงานกลางมิได้ยกพยานหลักฐานของโจทก์ จำเลยขึ้นวินิจฉัยโดยละเอียดว่าเชื่อพยานโจทก์ปากใด ไม่เชื่อพยานจำเลยปากใด ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการวินิจฉัยคดีนอกสถาน อุทธรณ์ของจำเลยเป็นข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔๙ ให้อำนาจศาลที่จะวินิจฉัยว่าลูกจ้างกับนายจ้างสามารถทำงานร่วมกันต่อไปได้หรือไม่โดยคำนึงถึงสภาพของสถานประกอบการและความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างถ้า เห็นว่าพอทำงานร่วมกันต่อไปได้ ก็จะสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงานและถ้าเห็นว่าไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ก็จะกำหนดให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายแทนการบังคับให้รับเข้าทำงาน คดีนี้ได้ความว่าโจทก์กับกรรมการของบริษัทจำเลยเป็นพี่น้องกัน การที่ศาลแรงงานกลางใช้ดุพินิจพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับกรรมการของบริษัทจำเลยแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์กับจำเลยสามารถทำงานร่วมกันต่อไปได้ และสั่งให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน จึงมิใช่เป็นการวินิจฉัยคดีโดยไม่มีข้อเท็จจริง
พิพากษายืน

Share