คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 858-861/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อำนาจในการดำเนินคดีอาญาแทนต้องพิจารณาถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาต่าง ๆ ว่า ผู้กระทำการแทนโจทก์นั้นมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาในขณะนั้นหรือไม่เป็นสำคัญ หากมีการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่มีอำนาจอันเป็นการไม่ชอบแล้ว ก็ชอบที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ดำเนินกระบวนพิจารณานั้นหรือหากอนุญาตไปก่อนแล้วโดยผิดหลงก็ต้องสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสีย เพื่อจักได้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องชอบด้วยกฎหมายต่อไป หาใช่กรณีมีเหตุจำเป็นในการคุ้มครองบุคคลภายนอกผู้สุจริตที่จะต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 831 มาใช้บังคับแต่อย่างใด เมื่อการถอนฟ้องกระทำโดยผู้ที่ไม่มีอำนาจถอนฟ้องแทนโจทก์จึงไม่ชอบ การที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องและจำหน่ายคดีไปโดยผิดหลง ย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบที่ต้องเพิกถอนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจาก โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องและขอแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามในแต่ละสำนวนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 90, 352, 353, 354, 357 พระราชกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 41, 42 ในระหว่างไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ในแต่ละสำนวนทั้งสี่สำนวน ศาลชั้นต้นอนุญาตและทำการไต่สวนมูลฟ้องสำหรับจำเลยที่เหลือในแต่ละสำนวนแล้ว ในสำนวนที่ 1 (คดีหมายเลขดำที่ 8227/2541 ของศาลชั้นต้น) มีคำสั่งว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง จำเลยที่ 1 และที่ 3 ทุกข้อหา ในสำนวนที่ 2 (คดีหมายเลขดำที่ 8228/2541 ของศาลชั้นต้น) มีคำพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 เฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 สำนวนที่ 3 (คดีหมายเลขดำที่ 8229/2541 ของศาลชั้นต้น) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีมีมูลและให้ประทับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 3 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353 และ 354 พระราชบัญญัติกำหนดความรับผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 41 ส่วนสำนวนที่ 4 (คดีหมายเลขดำที่ 8230/2541 ของศาลชั้นต้น) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 เฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353 และ 357 ต่อมาเมื่อวันที่ 16 และ 17 ธันวาคม 2545 โจทก์ทั้งสี่สำนวนโดยนายเลสลี่ เนลสัน ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในสำนวนที่ 2 และได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่เหลือในอีก 3 สำนวนด้วย โดยอ้างว่าตนได้รับมอบอำนาจจากโจทก์เป็นผู้มีอำนาจขอถอนฟ้องเพื่อยุติข้อพิพาทต่อจำเลยทั้งหมด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ทั้งสี่สำนวนถอนฟ้อง ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ต่อมาโจทก์ทั้งสี่สำนวนยื่นคำร้องในแต่ละสำนวนต่อศาลชั้นต้นมีใจความทำนองเดียวกันว่า การยื่นคำร้องขอถอนฟ้องตามคำร้องฉบับลงวันที่ 16 และ 17 ธันวาคม 2545 ของนายเลสลี่ เนลสัน กระทำไปปราศจากอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่เคยมอบหมายให้นายเลสลี่ เนลสัน ดำเนินคดีหรือกระทำการใด ๆ เกี่ยวข้องกับคดีนี้ และโจทก์แจ้งยกเลิกเพิกถอนหนังสือมอบอำนาจตามที่นายเลสลี่ เนลสัน ใช้ในการขอถอนฟ้องทั้งสี่สำนวนแล้ว โดยแจ้งเป็นหนังสือทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (E – mail) ไปยังนายเลสลี่ เนลสัน ทราบแล้ว การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตถอนฟ้องเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบเพราะถูกหลอกลวง ขอให้เพิกถอนคำสั่งอนุญาต ให้โจทก์ถอนฟ้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความเสีย
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ในสำนวนที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และจำเลยที่ 3 ในสำนวนที่ 3 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว โดยให้รวมพิจารณาการไต่สวนและมีคำสั่งในคดีทั้งสี่สำนวนเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกคู่ความในแต่ละสำนวนคงเดิม
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
โจทก์ทั้งสี่สำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสี่สำนวนฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์โดยนายประเสริฐ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโจทก์ในปัจจุบัน ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ทั้งสี่สำนวน จำเลยที่ 3 ไม่คัดค้าน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในชั้นไต่สวนคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องและจำหน่ายคดีปรากฏข้อเท็จจริงว่า คณะกรรมการบริษัทโจทก์ได้ประชุมมีมติยกเลิกหนังสือมอบอำนาจให้นายเลสสี่ เนลสัน เป็นผู้รับมอบอำนาจกระทำการแทนบริษัทโดยมีการบันทึกถ้อยคำไว้เป็นหลักฐานด้วย และวันที่ 27 มิถุนายน 2545 ได้ส่งโทรสารและจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แจ้งให้นายเลสลี่ เนลสัน นายเลสลี่ จีนายเดวิด และนางสาววารี ทราบและบุคคลดังกล่าวทุกคนได้รับแล้ว กรณีจึงรับฟังได้ว่าโจทก์ได้ยกเลิกหนังสือมอบอำนาจให้นายเลสลี่ เนลสัน เป็นผู้รับมอบอำนาจ มีผลให้การตั้งตัวแทนดังกล่าวระงับสิ้นไปแล้วตั้งแต่ก่อนที่นายเลสลี่ เนลสัน จะมายื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยแต่ละคนในสี่สำนวนนี้ นายเลสลี่ เนลสันจึงไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ในการดำเนินการยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ทั้งนี้ โดยคดีทั้งสี่สำนวนนี้เป็นคดีอาญาที่บริษัทโจทก์ใช้สิทธิในฐานะเป็นผู้เสียหายฟ้องดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทุกคนเองในความผิดที่กล่าวหาว่าจำเลยดังกล่าวกระทำผิดต่อนิติบุคคลโจทก์ ซึ่งผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโจทก์เป็นผู้มีอำนาจฟ้องดำเนินคดีแทนโจทก์และเป็นผู้มีอำนาจถอนฟ้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (3) และมาตรา 3 (4) อันเป็นเรื่องอำนาจเป็นการเฉพาะในการดำเนินคดีอาญา แม้กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการฟ้องและถอนฟ้องแทนโจทก์ได้ดังกล่าวจะทำหนังสือมอบอำนาจให้ตัวแทนดำเนินคดีดังกล่าวแทนได้ แต่เมื่อมีการยกเลิกการมอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจนั้นแล้ว ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจย่อมหมดอำนาจที่จะดำเนินคดีอาญานี้แทนโจทก์ทันที มิใช่กรณีที่จะถือว่า แม้สัญญาตัวแทนระงับสิ้นไปแล้วก็ยังต้องห้ามมิให้ยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 831 เพราะบทบัญญัติมาตรานี้มีเจตนารมณ์ที่จะคุ้มครองบุคคลภายนอกผู้สุจริตมิให้ต้องเสียหายจากการกระทำของตัวแทนในขณะที่สัญญาตัวแทนนั้นระงับไปแล้ว แต่บุคคลภายนอกไม่ทราบโดยสุจริตเท่านั้น ซึ่งต่างจากอำนาจในการดำเนินคดีอาญาแทน ที่ต้องพิจารณาถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาต่าง ๆ ว่า ผู้กระทำการแทนโจทก์นั้นมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาในขณะนั้นหรือไม่เป็นสำคัญ หากมีการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่มีอำนาจอันเป็นการไม่ชอบแล้ว ก็ชอบที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ดำเนินกระบวนพิจารณานั้นหรือหากอนุญาตไปก่อนแล้วโดยผิดหลงก็ต้องสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสีย เพื่อจักได้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องชอบด้วยกฎหมายต่อไป หาใช่กรณีมีเหตุจำเป็นในการคุ้มครองบุคคลภายนอกผู้สุจริตที่จะต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 831 มาใช้บังคับ ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิฉัยมาแต่อย่างใด ดังนี้ เมื่อการถอนฟ้องดังกล่าวกระทำโดยผู้ที่ไม่มีอำนาจถอนฟ้องแทนโจทก์จึงไม่ชอบ การที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องและจำหน่ายคดีไปโดยผิดหลง ย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบที่ต้องเพิกถอนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องและจำหน่ายคดีนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น…
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและจำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในสำนวนที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 (คดีหมายเลขดำที่ 8227/2541 หมายเลขดำที่ 8228/2541 และหมายเลขดำที่ 8230/2541) และจำเลยที่ 3 ในสำนวนที่ 3 (คดีหมายเลขดำที่ 8229/2541) และให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป

Share