คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8550/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เหตุละเมิดคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2537 โจทก์มีหนังสือแจ้งให้แขวงการทางนครราชสีมาที่ 2 มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหาย แขวงการทางนครราชสีมาที่ 2 จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหาย เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2537 ถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 และฉบับวันที่ 5 มิถุนายน ถึงจำเลยที่ 1 แสดงว่าอย่างช้าที่สุดในวันที่ 5 มิถุนายน 2538 โจทก์ได้รู้แล้วว่าผู้ที่จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคือจำเลยทั้งสาม แม้โจทก์จะอ้างว่าต้องรับผิดชอบคดีที่เกิดขึ้นทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก ทำให้มีงานคั่งค้างเป็นเหตุให้รายงานอธิบดีโจทก์ทราบล่าช้า แต่การใช้เวลาดำเนินการเนิ่นนานไปจนผิดปกติเช่นนี้ โจทก์ควรมีพยานหลักฐานมาแสดงให้ปรากฏว่ามีการดำเนินการอย่างไรบ้างและไปติดขัดอยู่ที่ใด และไม่ปรากฏว่าโจทก์เร่งรัดไปยังแขวงการทางนครราชสีมาที่ 2 เพิ่มเติมหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดทั้งที่รู้แล้วว่าผู้ที่จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคือจำเลยทั้งสามแต่กลับเพิ่งจะมีบันทึกข้อความรายงานถึงอธิบดีโจทก์เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2547 และอธิบดีโจทก์ลงนามรับทราบในวันที่ 2 กรกฎาคม 2547 ภายหลังวันเกิดเหตุเกือบ 10 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลานานเกินสมควรกว่าขั้นตอนการปฏิบัติราชการตามปกติ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่า โจทก์เพิ่งจะรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ 2 กรกฎาคม 2547 เชื่อว่าโจทก์ได้รู้หรือควรรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนก่อนวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2547 เกิน 1 ปี แล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 51,675.08 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 29,703 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องและคำให้การจำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้ว มีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย และพิพากษายกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
จำเลยที่ 2 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ราวกันอันตรายและเสาของโจทก์บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 67 ถึง 68 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 ตอนกบินทร์บุรี – นครราชสีมา ถูกชนเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2537 ได้รับความเสียหาย เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2537 ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงที่ 8 (นครราชสีมา) มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาสาเหตุและตัวผู้ต้องรับผิดชอบใช้ค่าเสียหายในทางแพ่ง ต่อมาวันที่ 20 ธันวาคม 2537 คณะกรรมการดังกล่าวลงความเห็นว่า เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของผู้ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 81 – 5212 นครราชสีมา พ่วงรถหมายเลขทะเบียน 81 – 6313 นครราชสีมา เจ้าของและผู้ขับรถบรรทุกพ่วงต้องรับผิดในทางแพ่งต่อโจทก์ ต่อมากองนิติการของโจทก์แจ้งให้แขวงการทางนครราชสีมาที่ 2 มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหาย และวันที่ 1 กรกฎาคม 2547 กองนิติการมีบันทึกข้อความรายงานถึงอธิบดีโจทก์ทราบถึงตัวผู้ที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนและขอให้ลงนามในใบแต่งทนายความเพื่อดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสาม อธิบดีโจทก์ลงนามรับทราบในวันที่ 2 กรกฎาคม 2547 กองนิติการโจทก์มีหนังสือแจ้งให้แขวงการทางนครราชสีมาที่ 2 มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหาย แขวงการทางนครราชสีมาที่ 2 จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหาย โดยหนังสือฉบับลงวันที่ 30 ธันวาคม 2537 ถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฉบับลงวันที่ 5 มิถุนายน 2538 ถึงจำเลยที่ 1 แสดงว่าอย่างช้าที่สุดในวันที่ 5 มิถุนายน 2538 กองนิติการได้รู้แล้วว่าผู้ที่จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคือจำเลยทั้งสาม แม้ว่ากองนิติการต้องรับผิดชอบคดีที่เกิดขึ้นทั่วประเทศประมาณ 10,000 เรื่อง ต่อปี มีนิติกรรับผิดชอบเพียง 10 คน ทำให้มีงานคั่งค้างเป็นเหตุให้รายงานอธิบดีโจทก์ทราบล่าช้า แต่การใช้เวลาดำเนินการเนิ่นนานไปจนผิดปกติเช่นนี้ โจทก์ควรมีพยานหลักฐานมาแสดงให้ปรากฏว่ามีการดำเนินการอย่างไรบ้างและไปติดขัดอยู่ที่ใดที่โจทก์ฎีกาว่า หลังจากมีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหายแล้ว แขวงการทางนครราชสีมาที่ 2 ยังตรวจสอบหาตัวผู้จะต้องรับผิดอยู่ พบว่าเป็นบริษัทประกันภัยจึงได้แจ้งให้ชดใช้ค่าเสียหายแต่ได้รับการปฏิเสธ เห็นว่าแขวงการทางนครราชสีมาที่ 2 ได้รับหนังสือปฏิเสธความรับผิดชอบจากบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2538 จนกระทั่งวันที่ 22 ธันวาคม 2543 แขวงการทางนครราชสีมาที่ 2 จึงได้มีหนังสือร้องเรียนไปยังสำนักงานประกันภัยจังหวัดนครราชสีมา ระยะเวลาดังกล่าวห่างกันถึง 5 ปีเศษ โดยสำนักงานประกันภัยจังหวัดนครราชสีมา เห็นว่าการปฏิเสธการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีคดีขาดอายุความ สามารถรับฟังได้ ไม่ปรากฏว่ากองนิติการเร่งรัดไปยังแขวงการทางนครราชสีมาที่ 2 เพิ่มเติม หรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดทั้งที่รู้แล้วว่าผู้ที่จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคือจำเลยทั้งสามแต่กลับเพิ่งจะมีบันทึกข้อความรายงานถึงอธิบดีโจทก์เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2547 และอธิบดีโจทก์ลงนามรับทราบในวันที่ 2 กรกฎาคม 2547 ภายหลังวันเกิดเหตุเกือบ 10 ปีซึ่งเป็นระยะเวลานานเกินสมควรกว่าขั้นตอนการปฏิบัติราชการตามปกติ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่า โจทก์เพิ่งจะรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ 2 กรกฎาคม 2547 เชื่อว่าโจทก์ได้รู้หรือควรรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนก่อนวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2547 เกิน 1 ปี แล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share