แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ขณะที่ ส. กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์สั่งให้ฝ่ายการคลังคืนเงินส่วนที่หักไว้เกินกว่าค่าปรับให้แก่จำเลยทั้งสาม ส. มีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ตามหนังสือรับรอง ซึ่งไม่มีข้อจำกัดอำนาจของกรรมการแต่อย่างใด โดยเงื่อนไขทั่วไปแห่งสัญญาว่าด้วยการระงับข้อพิพาท มีข้อตกลงชัดแจ้งว่าในกรณีที่มีการโต้แย้งหรือมีข้อพิพาทระหว่างผู้รับเหมา (จำเลยทั้งสาม) และโจทก์ที่เกี่ยวกับสัญญานี้ คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องเสนอข้อพิพาทไปยังผู้อำนวยการของโจทก์ (ปัจจุบัน คือ กรรมการผู้จัดการใหญ่) เพื่อทำการตัดสิน คำตัดสินของผู้อำนวยการของโจทก์ถือเป็นที่สุดและเป็นข้อสรุป เว้นเสียแต่ภายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้รับเหมา (จำเลยทั้งสาม) จะร้องขอให้ส่งข้อพิพาทไปยังอนุญาโตตุลาการ เมื่อปรากฏว่ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับค่าปรับเกิดขึ้น จำเลยทั้งสามมีหนังสือโต้แย้งเพื่อให้กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ตัดสินชี้ขาด ส. ได้เรียกพนักงานผู้เกี่ยวข้องไปร่วมประชุมพิจารณาและต่อมามีคำสั่งให้ฝ่ายการคลังของโจทก์คืนเงินส่วนที่หักไว้เกินกว่าค่าปรับให้จำเลยทั้งสาม เห็นได้ว่า ส. มีคำตัดสินดังกล่าวในขอบอำนาจของกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ตามข้อสัญญาข้างต้น ส่วนคำตัดสินชี้ขาดจะถูกต้องหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่โจทก์อ้างว่า ส. มิได้นำข้อพิพาทและคำตัดสินดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการของโจทก์เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน จึงเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจนั้น เรื่องดังกล่าวไม่ว่าจะมีระเบียบของโจทก์กำหนดไว้หรือไม่ หรือเป็นเรื่องสำคัญซึ่ง ส. ควรนำข้อพิพาทและคำตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทให้คณะกรรมการของโจทก์พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน เป็นเรื่องภายในของโจทก์ ไม่มีผลทำให้คำตัดสินชี้ขาดของ ส. ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ตามข้อสัญญาดังกล่าวเสียไปแต่อย่างใด หากคำตัดสินชี้ขาดของ ส. ไม่ถูกต้อง ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ก็ต้องไปว่ากล่าวเอากับ ส. ซึ่งก็ปรากฏว่าโจทก์ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก ส. ต่อศาลปกครองกลางและศาลปกครองกลางพิพากษาให้ ส. ชดใช้ค่าเสียหายจำนวนหนึ่งแก่โจทก์อยู่แล้ว โจทก์จะยกเอาเหตุที่ ส. ไม่นำคำตัดสินชี้ขาดไปให้คณะกรรมการของโจทก์พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจ มาเป็นข้อต่อสู้จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตไม่ได้ ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1167 ประกอบมาตรา 822 บัญญัติไว้ เพราะทางนำสืบโจทก์ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสามได้สมคบกับ ส. กระทำการโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 139,056,586.71 บาท คืนแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 125,393,879.06 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การและฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินจำนวน 67,004,254.41 บาท แก่จำเลยทั้งสามพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้ง (วันที่ 19 มกราคม 2552) จนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม จึงมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งและให้คืนค่าขึ้นศาลสำหรับฟ้องแย้งแก่จำเลยทั้งสาม
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฟ้องแย้ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ (คำสั่ง) ให้เป็นพับ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นที่ยุติว่า โจทก์ทำสัญญาซื้อพร้อมติดตั้งอุปกรณ์สื่อสัญญาณเอสดีเอช โครงการทีเอ็นอีพี – เอสอีพี รวม 3 เฟส จากจำเลยทั้งสามในนามกลุ่มกิจการร่วมค้าของบริษัทอัลคาเทลในวงเงิน 35,677,849.91 ยูโร และ 458,923,260 บาท กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2545 ต่อมาคู่สัญญาได้ตกลงแก้ไขสัญญาเพื่อเปลี่ยนแปลงเนื้องานตามที่เกิดขึ้นจริง จึงมีการแก้ไขจำนวนเงินตามสัญญาเป็น 35,426,455.84 ยูโร และ 449,772,444.62 บาท ตามสัญญาได้กำหนดค่าปรับไว้ว่า หากจำเลยทั้งสามดำเนินการล่าช้ากว่ากำหนดเวลาตามสัญญา หรือล่าช้ากว่ากำหนดที่ได้รับอนุญาตให้ขยายเวลาตามสัญญา จำเลยทั้งสามต้องชำระค่าปรับแก่โจทก์อัตราร้อยละ 0.2 ต่อวัน ของราคาตามสัญญาในรายการที่เกี่ยวข้อง แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของราคาในสัญญาทั้งหมด หลังจากโจทก์ส่งมอบพื้นที่ให้จำเลยทั้งสามเข้าปฏิบัติงานตามสัญญาแล้ว โจทก์ได้อนุญาตให้ขยายเวลาส่งมอบงานตามสัญญา สำหรับเฟสที่ 1 เฟสที่ 2 และเฟสที่ 3 แต่จำเลยทั้งสามไม่สามารถส่งมอบงานให้โจทก์ตามกำหนดเวลาที่โจทก์ขยายให้และได้ส่งมอบงานงวดสุดท้ายทั้งสามเฟสให้คณะกรรมการตรวจการจ้างของโจทก์รับมอบงานทั้งสามเฟส โจทก์จึงจ่ายเงินสำหรับงานงวดสุดท้ายให้จำเลยทั้งสามโดยกันเงินไว้จำนวน 190,303,287.23 บาท เพื่อรอคำนวณเงินค่าปรับ ต่อมาโจทก์มีหนังสือแจ้งว่า จำเลยทั้งสามต้องชำระค่าปรับแก่โจทก์เป็นเงิน 3,542,645.59 ยูโร และ 44,969,191.03 บาท หรือรวมเป็นเงินจำนวน 1,777,231,032.62 บาท จำเลยทั้งสามจึงมีหนังสือโต้แย้งและขอให้โจทก์ทบทวนเกี่ยวกับการคิดคำนวณค่าปรับ ต่อมานายสมควร กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ได้มีคำตัดสินชี้ขาดให้ปรับจำเลยทั้งสามเป็นเงิน 52,318,242 บาท และมีคำสั่งให้ฝ่ายการคลังของโจทก์คืนเงินค่างานงวดสุดท้ายที่โจทก์หักไว้เกินกว่าจำนวนค่าปรับจำนวนดังกล่าวให้จำเลยทั้งสาม ซึ่งนายสมควรได้ลงนามกำกับไว้ท้ายคำสั่ง สำหรับประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้ ในชั้นชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นที่พิพาทไว้เพียง 3 ข้อ ดังนี้ ข้อ 1 คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ข้อ 2 จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันชำระค่าปรับคืนให้โจทก์หรือไม่และเพียงใด ข้อ 3 ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคัดค้านการกำหนดประเด็นข้อพิพาทของศาลชั้นต้น ดังนั้น ข้อต่อสู้อื่น ๆ ตามคำให้การจำเลย จึงถือว่าจำเลยทั้งสามได้สละไปแล้ว และคดีฟังยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ว่า คำฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามจะต้องคืนเงินจำนวน 125,393,879.06 บาท ที่นายสมควร กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์สั่งให้คืนแก่จำเลยทั้งสามให้แก่โจทก์ตามคำฟ้องหรือไม่ ในปัญหานี้ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า นายสมควร กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ในขณะนั้นมีอำนาจหน้าที่ตัดสินชี้ขาดจำนวนเงินค่าปรับหรือไม่ ได้ความตามทางพิจารณาว่า ในขณะที่นายสมควรพิจารณาสั่งให้ฝ่ายการคลังของโจทก์คืนเงินในส่วนที่หักไว้เกินกว่าค่าปรับจำนวน 52,318,242 บาท ให้แก่จำเลยทั้งสามนั้น นายสมควรมีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ ตามหนังสือรับรองของนายทะเบียน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยตามหนังสือรับรองไม่มีข้อจำกัดอำนาจของกรรมการแต่อย่างใด นอกจากนี้ศาลฎีกาได้ตรวจดูหัวข้อเงื่อนไขทั่วไปแห่งสัญญาในข้อ 6 ของสัญญาเลขที่ ทีโอที 2/2000 (ทีเอ็นอีพี – เอสอีพี) พร้อมคำแปล ว่าด้วยการระงับข้อพิพาทแล้ว ปรากฏว่า คู่สัญญามีข้อตกลงไว้โดยชัดแจ้งว่า ในกรณีที่มีการโต้แย้งหรือมีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างผู้รับเหมา (จำเลยทั้งสาม) และทีโอที (โจทก์) ที่เกี่ยวกับสัญญานี้ คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องทำการยื่นเสนอข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งไปยังผู้อำนวยการของทีโอที (ปัจจุบันคือ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์) เพื่อทำการตัดสิน ในกรณีดังกล่าว ผู้อำนวยการของทีโอที จะแจ้งให้ทราบถึงการตัดสินใจภายในเวลา 28 วัน หลังจากที่ได้รับเรื่องดังกล่าว โดยการตัดสินจะทำเป็นลายลักษณ์อักษรลงนามโดยผู้อำนวยการของทีโอทีและคำตัดสินของผู้อำนวยการของทีโอทีจะต้องถือเป็นอันสิ้นสุดและเป็นข้อสรุป เว้นเสียแต่ภายในระยะเวลา 28 วัน หลังจากที่ได้รับเรื่องดังกล่าวผู้รับเหมา (จำเลยทั้งสาม) จะมีการร้องขอต่อทีโอทีในการส่งข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งไปยังอนุญาโตตุลาการ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่ามีข้อโต้แย้งเรื่องจำนวนเงินค่าปรับเกิดขึ้นระหว่างจำเลยทั้งสามกับโจทก์ ซึ่งคู่ความนำสืบรับกันว่า หลังจากที่โจทก์ตรวจรับงานงวดสุดท้ายทั้งสามเฟสจากจำเลยทั้งสามแล้ว โจทก์ได้กันเงินค่าจัดซื้อจัดจ้างงวดสุดท้ายไว้เป็นค่าปรับตามความเห็นของสำนักกฎหมายของโจทก์เป็นเงิน 4,766,043.53 ยูโร และ 72,711,637.78 บาท หรือรวมเป็นเงินประมาณ 177,700,000 บาท และฝ่ายโจทก์โดยนางสาววัฒนา ผู้จัดการส่วนรับและจ่ายเงิน ทำการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์มีหนังสือเลขที่ ทีโอที งคง/858 แจ้งเรื่องการคิดค่าปรับของสัญญาทีโอที 2/2000 (ทีเอ็นอีพี – เอสอีพี) ให้ผู้จัดการโครงการทีเอ็นอีพี – เอสอีพี (นายสุทธิพล) ตัวแทนของฝ่ายจำเลยทราบ ฝ่ายจำเลยโดยนายจิโอวานนี่ ตัวแทนของกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทอัลคาเทลจึงมีหนังสือโต้แย้งไปยังนางสาววัฒนา ตัวแทนของโจทก์ว่า ฝ่ายจำเลยไม่อาจยอมรับว่าฝ่ายจำเลยจะต้องรับผิดในการจ่ายเงินค่าปรับตามจำนวนที่ระบุในหนังสือของโจทก์ฉบับดังกล่าวข้างต้น ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามมีหนังสือโต้แย้งโจทก์เกี่ยวกับสัญญายื่นต่อโจทก์เพื่อให้กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ทำการตัดสินชี้ขาดในกรณีดังกล่าวโดยชอบด้วยข้อ 6 ของสัญญาฉบับดังกล่าวข้างต้นแล้ว นายสมควร กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ได้เรียกให้พนักงานสำนักงานบริหารโครงการทีเอ็นอีพี – เอสอีพี ไปร่วมฟังการพิจารณาค่าปรับ โดยมีตัวแทนของจำเลยทั้งสามไปร่วมประชุมด้วยและมีหนังสือสรุปข้อเท็จจริงและความเห็นของผู้เกี่ยวข้อง คือ ความเห็นของคณะกรรมการด้านกฎหมายและสัญญาของโจทก์ เรื่อง การคิดค่าปรับตามสัญญา เสนอนายสมควร กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ทราบ โดยนายสมควรพิจารณาความเห็นของสำนักบริหารโครงการทีเอ็นอีพี – เอสอีพี กับความเห็นของอัยการ (นายชินวัฒน์) ที่เสนอประธานคณะกรรมการฝ่ายกฎหมาย (นายเข็มชัย) อธิบายถึงวิธีการคำนวณค่าปรับ นายสมควรพิจารณาแล้ว เห็นว่า ค่าปรับตามที่สำนักบริหารโครงการทีเอ็นอีพี – เอสอีพี เคยเสนอค่าปรับเป็นเงิน 179,296.91 ยูโร และ45,599,986.61 บาท (หรือรวมเป็นเงินค่าปรับทั้งสิ้น 54,013,235.96 บาท) ถูกต้องแล้ว จึงให้ฝ่ายการคลังคืนเงินในส่วนที่หักไว้เกินกว่าค่าปรับให้จำเลยทั้งสาม ดังนี้ เห็นได้ว่า นายสมควรมีคำตัดสินในขอบอำนาจของกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ตามข้อสัญญาดังกล่าวข้างต้นแล้ว ส่วนคำตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทของนายสมควรดังกล่าวจะถูกต้องชอบด้วยเหตุผลหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง สำหรับข้อที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า นายสมควร กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์มิได้นำข้อพิพาทและคำตัดสินเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการบริษัทโจทก์เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเสียก่อน จึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจนั้น เห็นว่า การขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัทของโจทก์นั้น ไม่ว่าจะมีระเบียบของโจทก์กำหนดไว้หรือไม่ หรือเป็นเรื่องสำคัญซึ่งนายสมควรควรนำข้อพิพาทและคำตัดสินชี้ขาดข้อพิพาท ให้คณะกรรมการบริษัทของโจทก์พิจารณาให้ความเห็นชอบเสียก่อนนั้น เป็นเรื่องภายในของบริษัทโจทก์ ไม่มีผลทำให้คำตัดสินข้อพิพาทของนายสมควรในฐานะกรรมการผู้จัดใหญ่ของโจทก์ตามข้อสัญญาต้องเสียไปแต่อย่างใด หากคำตัดสินข้อพิพาทของนายสมควร กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ไม่ถูกต้อง และโจทก์เห็นว่ามีผลทำให้โจทก์ต้องเสียหายอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวเอากับนายสมควร กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์เอง ซึ่งตามทางพิจารณาก็ปรากฏว่าโจทก์ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนายสมควรต่อศาลปกครองกลางตามคดีหมายเลขแดงที่ 1190/2555 และศาลปกครองกลางก็มีคำพิพากษาให้นายสมควรชดใช้ค่าเสียหายจำนวนหนึ่งแก่โจทก์อยู่แล้ว โจทก์จะยกเอาเหตุที่นายสมควร กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ไม่นำคำตัดสินข้อพิพาทไปให้คณะกรรมการบริษัทของโจทก์พิจารณาเห็นชอบเสียก่อน เป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจมาเป็นข้อต่อสู้จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตไม่ได้ ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1167 ประกอบมาตรา 822 บัญญัติไว้ เพราะตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีพยานหลักฐานใดที่บ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยทั้งสามได้สมคบกับนายสมควร กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์กระทำการโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ