คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5713/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาซึ่งมีคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญารวมมาด้วยแล้วมีคำสั่งให้รับประทับฟ้องแสดงว่าเป็นการสั่งให้รับฟ้องคดีส่วนอาญาและคดีส่วนแพ่งด้วยหากจำเลยจะต่อสู้คดีส่วนแพ่งต้องให้การต่อสู้พร้อมกับคำให้การต่อสู้คดีส่วนอาญาโดยคำให้การในคดีส่วนแพ่งนั้นต้องชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา177วรรคสองเมื่อจำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีส่วนอาญาและคดีส่วนแพ่งรวมกันมาว่าจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ทั้งสิ้นเท่านั้นถือว่าคำให้การในส่วนแพ่งจำเลยทั้งสองคงเพียงให้การปฏิเสธลอยๆจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์พิพาทและจำเลยทั้งสองซื้อรถยนต์พิพาทมาโดยสุจริตในท้องตลาดตามที่จำเลยทั้งสองยกขึ้นอุทธรณ์แต่อย่างใดคดีส่วนแพ่งของจำเลยทั้งสองจึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา225วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์เก๋งยี่ห้อโตโยต้าหมายเลขทะเบียน 6ง-7260 กรุงเทพมหานคร โดยซื้อมาในราคา 190,000 บาทแต่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงชื่อจากเจ้าของเดิมเป็นชื่อโจทก์ในใบคู่มือจดทะเบียนรถ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2535 เวลากลางวันนายสุทธิพงศ์ สถาพรวรศักดิ์ หลอกลวงโจทก์ว่าจะไปดำเนินการจดทะเบียนโอนชื่อเป็นของโจทก์ โจทก์หลงเชื่อมอบรถยนต์คันดังกล่าวพร้อมเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการโอนให้ไป วันเดียวกันนั้น นายสุทธิพงศ์กลับนำรถยนต์โจทก์ไปขายให้แก่จำเลยทั้งสอง โดยจำเลยทั้งสองรับซื้อรถยนต์โจทก์ไว้เพื่อค้ากำไรและทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงหรือลักทรัพย์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,357 กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน6ง-7260 กรุงเทพมหานคร แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากไม่สามารถคืนได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน 190,000 บาท
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธคดีส่วนอาญา แต่คดีส่วนแพ่งมิได้ให้การ
ศาลชั้นต้นฟังว่า รถยนต์พิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยทั้งสองรับซื้อไว้โดยไม่รู้ว่าทรัพย์นั้นได้มาจากการกระทำความผิดตามกฎหมายจำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานรับของโจร ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองคืนรถยนต์หรือใช้ราคาแทนในคดีส่วนแพ่งนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้แสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยทั้งสองรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนรวมทั้งเหตุแห่งการนั้นและแม้ฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองซื้อรถยนต์พิพาทที่บริเวณซึ่งเป็นแหล่งซื้อขายรถยนต์ก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการซื้อในท้องตลาด จำเลยทั้งสองต้องคืนรถยนต์แก่โจทก์หรือใช้ราคาแทนพิพากษายกฟ้องคดีส่วนอาญา คดีส่วนแพ่งให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนรถยนต์พิพาทหากไม่สามารถคืนได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน 190,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์เฉพาะคดีส่วนแพ่งว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์พิพาทและจำเลยทั้งสองซื้อรถยนต์พิพาทมาโดยสุจริตในท้องตลาดจำเลยทั้งสองไม่ต้องร่วมกันคืนหรือใช้ราคารถยนต์พิพาทแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า”มีปัญหาต้องวินิจฉัยในข้อกฎหมายตามฎีกาจำเลยทั้งสองว่าอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคแรก หรือไม่นั้นเห็นว่า คดีนี้เป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งให้รับประทับฟ้องแล้วนั้นย่อมแสดงให้เห็นว่าเป็นการสั่งให้รับฟ้องคดีส่วนอาญาและคดีส่วนแพ่งด้วยซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้บัญญัติเกี่ยวกับการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามมาตรา 40 ไว้ว่า “การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจะฟ้องต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญาหรือต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่งก็ได้ การพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง “จากบทกฎหมายดังที่บัญญัติมานั้น วัตถุประสงค์ของกฎหมายได้ระบุไว้ชัดว่า หากจำเลยมีวัตถุประสงค์ที่จะต่อสู้คดีส่วนแพ่งด้วยนั้น จำเลยจะต้องให้การต่อสู้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้บัญญัติไว้พร้อมกับคำให้การต่อสู้คดีส่วนอาญาด้วยกัน โดยคำให้การในคดีส่วนแพ่งนั้นจำเลยจะต้องให้การตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ได้บัญญัติไว้โดยรวมว่า “ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าจำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น” ในคดีนี้คำให้การของจำเลยทั้งสองได้ให้การต่อสู้คำฟ้องโจทก์ในคดีส่วนอาญาและคดีส่วนแพ่งรวมกันมาว่า จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ทั้งสิ้นเท่านั้น จึงเห็นได้ว่า คำให้การของจำเลยทั้งสองในคดีส่วนแพ่งจำเลยทั้งสองคงเพียงให้การปฏิเสธลอย ๆหาได้โต้แย้งข้อเท็จจริงฟ้องของโจทก์ในคดีส่วนแพ่งซึ่งจำเลยทั้งสองจะต้องให้การมาโดยแจ้งชัดด้วยว่า จำเลยทั้งสองยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนรวมทั้งเหตุแห่งการนั้นดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสองดังกล่าวมาแล้วได้บัญญัติให้ต้องระบุมาในคำให้การด้วยแต่ประการใดฉะนั้นจากคำให้การของจำเลยทั้งสองดังที่ให้การในคดีส่วนอาญาและคดีส่วนแพ่งรวมกันมาตามที่โจทก์ฟ้องมาในคดีนี้ เฉพาะในคดีส่วนแพ่งที่จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธมานั้นเห็นได้ชัดว่าไม่มีประเด็นข้อพิพาทที่ได้มีการยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแต่ในศาลชั้นต้นด้วยแต่ประการใด ดังนั้นในคดีส่วนแพ่งของจำเลยทั้งสองจึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคแรกที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share