แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นยกฟ้องโดยฟังว่าจำเลยทำสมุดปกขาวชี้แจงเรื่องการก่อสร้างอาคารเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจและทราบข้อเท็จจริงที่ถูกต้องมิได้หมายถึงว่าโจทก์ทุจริต จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท เท่ากับฟังว่าจำเลยไม่มีเจตนาจะหมิ่นประมาทโจทก์ เป็นการยกฟ้องโดยอาศัยข้อเท็จจริงศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโดยฟังว่า เป็นการชี้แจงตามความเห็นของจำเลยและคณะกรรมการที่ปรึกษาของสภามหาวิทยาลัยเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทเป็นการยกฟ้องโดยอาศัยข้อเท็จจริงเช่นกัน โจทก์ฎีกาว่า จำเลยกล่าวข้อความโดยไม่สุจริต จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์นำสืบว่าขณะที่โจทก์เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ทำสัญญาจ้างออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างอาคารกับนายไสว มงคลเกษม และนายสหัสส์ รัตนกุล รวม 2 ฉบับ ฉบับแรกลงวันที่ 7 ธันวาคม 2522 เป็นการจ้างออกแบบแปลนแผนผังของอาคารเรียนชั่วคราว 1 หลัง ซึ่งจะได้งบประมาณราคาค่าก่อสร้างเป็นเงิน 5,840,000 บาท ค่าจ้างออกแบบอัตราร้อยละ 2 ของวงเงินงบประมาณเป็นเงิน 118,800 บาท ฉบับที่สองลงวันที่ 1 มีนาคม 2523 เป็นการจ้างออกแบบแผนผังรั้วเหล็กโปร่งเสารั้ว ค.ส.ล. ประตูเหล็กเลื่อนและประตูบานเปิดปิด ผนัง ค.ส.ล. ประดับป้ายชื่อวิทยาเขต สร้างรอบมหาวิทยาลัยรามคำแหง งบประมาณค่าก่อสร้างดังกล่าว เป็นเงิน 6,000,000 บาท ค่าจ้างออกแบบอัตราร้อยละ 2 ของวงเงินงบประมาณเป็นเงิน 120,000 บาท โจทก์ทำสัญญาจ้างทั้งสองฉบับไปตามอำนาจหน้าที่ ต่อมาเมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2525 มีผู้นำสมุดปกขาวมหาวิทยาลัยรามคำแหง ฉบับลงวันที่ 5 มกราคม 2525 ตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งจำเลยเป็นผู้จัดทำมาให้โจทก์ โจทก์อ่านพบข้อความในสมุดปกขาวหน้า 18 มีความว่า โจทก์ซึ่งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงไม่มีอำนาจลงนามในสัญญาจ้างทั้งสองฉบับดังกล่าว ข้อความที่ลงพิมพ์ในสมุดปกขาวดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขาดความเชื่อถือจากผู้ที่จะมาติดต่อด้วย ขณะที่โจทก์ทำสัญญาดังกล่าวโจทก์มีอำนาจสั่งจ่ายเงินตามสัญญาทั้งสองฉบับตามระเบียบของมหาวิทยาลัย และมีอำนาจที่จะทำสัญญาแทนมหาวิทยาลัยได้
พิเคราะห์แล้ว ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ฟังว่าจำเลยในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงทำสมุดปกขาวชี้แจงเรื่องการก่อสร้างอาคารตามเอกสารหมาย จ.1 เพื่อให้ทราบถึงเหตุที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงไม่สามารถจ่ายเงินแก่ผู้รับจ้างได้ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจและทราบข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเท่านั้น มิได้หมายไปถึงว่าโจทก์ทุจริตหรือมิได้เป็นอธิการบดีในขณะนั้นจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท เท่ากับฟังว่าจำเลยไม่มีเจตนาจะหมิ่นประมาทโจทก์ เป็นการยกฟ้องโจทก์โดยอาศัยข้อเท็จจริง และที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ก็ฟังทำนองเดียวกันว่าสมุดปกขาว เป็นคำชี้แจงเรื่องการก่อสร้างอาคาร เพื่อความเข้าใจอันดีและให้ข้อเท็จจริงอันถูกต้องแก่ผู้สนใจทั่วไป และชี้แจงไปตามมติที่ประชุมของคณะกรรมการที่ปรึกษาของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ว่าการทำสัญญาจ้างดังกล่าวมิได้ปฏิบัติตามระเบียบ จึงไม่ผูกพันมหาวิทยาลัย เป็นการชี้แจงตามความเห็นของจำเลยและคณะกรรมการที่ปรึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท จึงเป็นการยกฟ้องโจทก์โดยอาศัยข้อเท็จจริงเช่นกัน โจทก์ฎีกาว่า จำเลยกล่าวข้อความโดยไม่สุจริต จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท้จจริง คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2517 มาตรา 8 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ไว้จึงไม่ชอบ”
พิพากษายกฎีกาของโจทก์