แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พฤติการณ์ของจำเลยที่พยายามช่วยเหลือ ถ. ซึ่งถูกกลุ่มวัยรุ่นตีศีรษะด้วยขวดสุราและรุมทำร้ายในบ้านของจำเลยโดยจำเลยใช้อาวุธปืนยิงขู่ขึ้นฟ้า 3 นัด และขณะนั้นจำเลยถืออาวุธปืนขู่พร้อมที่จะยิงขึ้นฟ้าอีกเพื่อระงับเหตุมิให้กลุ่มวัยรุ่นรุมทำร้าย ถ. แต่จำเลยถูกกลุ่มวัยรุ่นเข้ามาทุบที่ด้านหลังจนเป็นเหตุให้ล้มลง และกระสุนจากอาวุธปืนที่จำเลยถืออยู่ได้ลั่นขึ้น 1 นัด ถูกผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายและถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนและของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ทั้งเป็นกรณีที่จำเลยกระทำพอสมควรแก่เหตุ แม้ การกระทำของจำเลยก่อให้เกิดผลร้ายแก่ผู้เสียหายและผู้ตายโดยพลาดตาม ป.อ. มาตรา 60 จำเลยก็ไม่มีความผิดเพราะ การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.อ. มาตรา 68 มิใช่จำเลยป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ
เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย อาวุธปืนของกลางจึงมิใช่ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำผิดตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) ศาลจึงไม่อาจริบได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๓๗๑, ๓๗๖, ๓๓, ๘๐, ๙๑ พระราชบัญญัติ อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๘ ทวิ, ๗๒ ทวิ ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณา นายนม ทองซิว และนางสมใจ ทองซิว ซึ่งเป็นบิดามารดาของผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๔๒ โจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องว่าไม่ติดใจดำเนินคดีกับจำเลยอีกต่อไป ศาลชั้นต้นอนุญาต ให้จำหน่ายคดีเฉพาะโจทก์ร่วมออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ประกอบมาตรา ๖๙,๘๐ (ที่ถูกมาตรา ๒๘๘, ๒๘๘, ๘๐, ๖๐ ประกอบด้วยมาตรา ๖๙) เป็นความผิดกรรมเดียว (ที่ถูกเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๖๐ ประกอบด้วยมาตรา ๖๙ ) ให้ลงโทษจำคุก ๓ ปี ส่วนความผิดฐานพาอาวุธปืนไปโดย ผิดกฎหมายนั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยเก็บอาวุธปืนไว้ในลิ้นชักโต๊ะเก็บเงิน และนำมาใช้เพื่อป้องกันเหตุ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานนี้ ริบของกลางทั้งหมด คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกมีกำหนด ๑ ปี ๖ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว คดีนี้มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากคำพยานโจทก์ทั้งสองจึงฟังได้ว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้าเพื่อขู่มิให้กลุ่มวัยรุ่นรุมทำร้ายนายถาวร และหลังจากนั้นได้มีเสียงปืนนัดสุดท้ายดังขึ้นที่หน้าร้าน ขณะที่พยานทั้งสองได้ออกไปหาจำเลยที่หน้าร้าน ก็เห็นจำเลยลุกขึ้นยืน คำพยานโจทก์ดังกล่าวจึงเจือสมกับคำเบิกความของจำเลยที่ว่า เมื่อจำเลยยิงปืนขึ้นฟ้านัดที่ ๓ แล้วได้มีกลุ่มวัยรุ่นเข้ามาทุบที่ด้านหลังของจำเลย จนเป็นเหตุให้จำเลยล้มลง ขณะนั้นเองอาวุธปืนที่จำเลยถืออยู่ได้ลั่นขึ้น ๑ นัด วิถีกระสุนย่อมเฉียงต่ำลง เป็นเหตุให้ถูกผู้เสียหายซึ่งขับรถจักรยานยนต์ดังกล่าวผ่านมาได้รับอันตรายแก่กายและถูกผู้ตายนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ดังกล่าวถึงแก่ความตาย หาใช่เป็นกรณีที่จำเลย ยืนถืออาวุธปืนและยิงกลุ่มวัยรุ่นแต่พลาดไปถูกผู้เสียหายกับผู้ตายดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ พฤติการณ์ของจำเลย ที่พยายามช่วยเหลือนายถาวรเพื่อนบ้านที่รู้จักสนิทสนมคุ้นเคยกัน และข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าขณะนั้นจำเลยถืออาวุธปืนขู่พร้อมที่จะยิงขึ้นฟ้าอีกเพื่อระงับเหตุมิให้กลุ่มวัยรุ่นรุมทำร้ายนายถาวร แต่จำเลยถูกกลุ่มวัยรุ่นเข้ามาทุบที่ด้านกลัง จนเป็นเหตุให้ล้มลง และกระสุนจากอาวุธปืนที่จำเลยถืออยู่ได้ลั่นขึ้น ๑ นัด ถูกผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย และถูก ผู้ตายถึงแก่ความตาย พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเชื่อมโยงกันจึงย่อมถือได้ว่าเป็น การกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนและของผู้อื่นให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ทั้งเป็นกรณีที่จำเลยกระทำพอสมควรแก่เหตุ แม้การกระทำของจำเลยก่อให้เกิดผลร้ายแก่ ผู้เสียหายและผู้ตายโดยพลาดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๐ จำเลยก็ไม่มีความผิดเพราะการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๘ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยป้องกันเกินสมควรแก่เหตุนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นและเมื่อฟังว่าการกระทำของจำเลยเป็นการ ป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่มีความผิด อาวุธปืนของกลางจึงมิใช่เป็นทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ (๑) ศาลจึงไม่อาจริบได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้อง สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๒๘๘, ๘๐, ๖๐ ประกอบด้วยมาตรา ๖๙ เสียด้วย อาวุธปืนของกลางให้คืนเจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
(วิชา มหาคุณ – พูนศักดิ์ จงกลนี – ปัญญา สุทธิบดี)