คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 85/2496

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า’พ่อค้า’ ย่อมเป็นที่เข้าใจกันทั่วๆ ไปว่าผู้ที่ประกอบกิจการค้าเป็นปกติมิใช่ว่าถ้าผู้ใดกระทำการค้าเพียงชั่วครั้งคราวก็ถือว่าเป็นพ่อค้า
กระทรวงการคลังต้องการฝิ่นเพื่อจำหน่ายแก่ประชาชน จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งให้มีอำนาจจัดซื้อฝิ่นจากเอกชนทั่วไปในภาคเหนือ ในการจัดหาซื้อฝิ่นนี้ เจ้าหน้าที่ได้ออกใบคุ้มครองกำหนดเขตที่จะไปหาฝิ่นให้เมื่อได้ฝิ่นมาแล้ว จะนำไปขายแก่ผู้อื่นหรือใช้เองไม่ได้ต้องขายแก่คณะกรรมการดังนี้จะเห็นได้ว่าพวกที่เข้าทำสัญญารับจะหาซื้อฝิ่นให้แก่คณะกรรมการนั้น เป็นการกระทำชั่วครั้งคราว มิได้เป็นการยั่งยืนดังลักษณะของพ่อค้าแต่อย่างใด ยิ่งเป็นเรื่องซื้อขายฝิ่นซึ่งตามปกติจะกระทำมิได้ เพราะกฎหมายห้าม ก็ย่อมเห็นได้ชัดว่าจะถือว่าพวกเหล่านี้เป็นพ่อค้าไม่ได้แม้จะปรากฏว่าบางคนได้จดทะเบียนพาณิชย์ตั้งร้านขายยาหรือทำป่าไม้ ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นพ่อค้าขายฝิ่นรายนั้น ฉะนั้นการที่พวกขายฝิ่นแก่คณะกรรมการจะฟ้องเรียกราคาฝิ่นจากคณะกรรมการหรือจากกระทรวงการคลังจึงต้องถืออายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164
ศาลพิพากษาให้จำเลยใช้ราคาฝิ่นแต่ดอกเบี้ยร้อยละ 7.5ต่อปีให้จำเลยใช้ตั้งแต่วันฟังคำพิพากษาฎีกา เพราะมีกรณีมัวหมองระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย มิใช่จำเลยตระบัดสิน

ย่อยาว

คดี 8 สำนวนนี้ต่างโจทก์แต่จำเลยคนเดียวกัน ศาลจึงได้รวมพิจารณาพิพากษา ในคำฟ้องมีว่า ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ในสถานะสงครามเมื่อ พ.ศ. 2485 กระทรวงการคลังจำเลยมีความต้องการฝิ่นเพื่อนำมาจำหน่ายให้แก่ประชาชนตามวิธีการของรัฐบาลอันชอบด้วยกฎหมาย จำเลยได้แต่งตั้งข้าราชการขึ้นคณะหนึ่งเรียกชื่อว่า “คณะกรรมการจัดซื้อฝิ่นสหรัฐไทยเดิมหรือกรรมการจัดซื้อฝิ่นเคลื่อนที่” ให้มีอำนาจหน้าที่จัดซื้อฝิ่นจากเอกชนทั่วไปในภาคเหนือของประเทศไทย จำเลยโดยคณะกรรมการดังกล่าวนี้ได้ซื้อฝิ่นจากโจทก์และได้รับฝิ่นทั้งหมดไปเรียบร้อยแล้ว โจทก์ได้รับชำระเงินค่าฝิ่นไปบ้างแล้ว คงค้างชำระอยู่อีก จึงขอให้พิพากษาบังคับจำเลยชำระเงินค่าฝิ่นที่ค้างกับดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ

จำเลยให้การต่อสู้หลายประการ และตัดฟ้องว่าโจทก์ฟ้องเกินกำหนดระยะเวลาอายุความตามมาตรา 165 ข้อ 1 และวรรคท้ายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ศาลแพ่งพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า บรรดาโจทก์ที่ขายฝิ่นแก่รัฐบาลนี้เป็นพ่อค้า ต้องนับอายุความตามมาตรา 165 แต่โจทก์ฟ้องคดีเกิน 5 ปีขาดอายุความ จึงพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้ง 8 สำนวนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีรายนายชวงเลียงและนายอุดมเป็นโจทก์ มีการรับสภาพหนี้ คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ พิพากษาแก้ให้จำเลยชำระราคาฝิ่นแก่นายชวงเลียงโจทก์และนายอุดมโจทก์ ฯลฯ ส่วนคดีสำหรับโจทก์รายอื่นให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแพ่ง

โจทก์ 6 สำนวนที่ศาลยกฟ้องฎีกา ส่วนโจทก์อีก 2 สำนวนที่ชนะคดี ฎีกาในเรื่องดอกเบี้ย

จำลยฎีกาขอให้ยกฟ้องเฉพาะคดี 2 สำนวน

ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า คำว่า “พ่อค้า” นี้ ย่อมเป็นที่เข้าใจกันทั่ว ๆ ไปว่า ผู้ที่ประกอบกิจการค้าเป็นปกติธุระมิใช่ว่าถ้าผู้ใดกระทำการค้าเพียงชั่วครั้งคราวก็ถือว่าเป็นพ่อค้ามิฉะนั้นบุคคลที่ทำการซื้อขายชั่วครั้งคราวก็จะกลายเป็นพ่อค้าไปหมด

การที่พวกโจทก์เหล่านี้ เข้าทำสัญญารับจะหาซื้อฝิ่นมาขายแก่คณะกรรมการดังได้กล่าวแล้ว เป็นที่เห็นได้ว่าเป็นการกระทำชั่วครั้งคราว มิได้เป็นการยั่งยืนดังลักษณะของพ่อค้าแต่อย่างใดยิ่งเป็นเรื่องซื้อขายฝิ่นซึ่งตามปกติจะกระทำมิได้เพราะกฎหมายห้ามแล้ว ก็ย่อมเห็นได้ชัดว่า จะเกณฑ์ให้บุคคลจำพวกโจทก์เหล่านี้เป็นพ่อค้าไปไม่ได้

อนึ่งแม้จะปรากฏว่า โจทก์บางคนได้จดทะเบียนพาณิชย์ตั้งร้านขายยาหรือทำป่าไม้ ก็ไม่พอฟังว่าเป็นพ่อค้าขายฝิ่นรายนี้ไปได้เมื่อได้วินิจฉัยว่าโจทก์มิใช่พ่อค้าแล้ว ก็ต้องนับอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 164 ซึ่งฟ้องโจทก์ยังอยู่ในกำหนดอายุความ และไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นว่าได้มีการรับสภาพหนี้หรือไม่

ส่วนราคาซื้อขายฝิ่นจะควรคิดดังที่คณะกรรมการคิดให้เมื่อรับฝิ่นหรือที่กรมสรรพสามิตคิดให้ภายหลัง เห็นว่า ต้องคิดให้ตามที่คณะกรรมการคิดให้เมื่อรับฝิ่น เพราะได้รับฝิ่นไปแล้ว และไม่มีข้อโต้แย้งระหว่างผู้ขายกับคณะกรรมการผู้รับซื้อ ดังได้เคยวินิจฉัยไว้ในฎีกาที่ 763/2492

จึงพิพากษากลับ 6 สำนวน ให้จำเลยใช้เงินโจทก์ แต่ดอกเบี้ยให้จำเลยใช้ตั้งแต่วันฟังคำพิพากษานี้ในอัตรา ร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี เพราะมีกรณีมัวหมองระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย มิใช่จำเลยตระบัดสิน

Share