คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8444/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 100 เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้ค่าดอกเบี้ยหรือเงินค่าป่วยการอื่นแทนดอกเบี้ยได้ถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่กรณีของเจ้าหนี้ที่ขอรับชำระหนี้เงินเพิ่มภาษีอากรจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการนั้น เป็นกรณีที่ต้องพิจารณาตาม พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2)ฯ ประกอบด้วย ซึ่งมาตรา 5 บัญญัติว่า “นับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดอกเบี้ยหรือเงินค่าป่วยการอื่นแทนดอกเบี้ยอันเกิดจากหนี้ที่บริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตามมาตรา 30 ได้ก่อขึ้นมิให้ถือว่าเป็นหนี้ที่จะขอรับชำระได้” เมื่อลูกหนี้เป็นสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตาม พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงินฯ มาตรา 30 แม้มูลหนี้ค่าภาษีอากรพร้อมเงินเพิ่มที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้จะมิใช่หนี้ที่เกิดจากการประกอบธุรกิจตามปกติของลูกหนี้ แต่ก็เป็นหนี้อันเนื่องมาจากลูกหนี้มิได้ปฏิบัติตามกฎหมาย คือจ่ายเงินได้พึงประเมินโดยมิได้หักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่าย และนำส่งให้ถูกต้องครบถ้วนตาม ป.รัษฎากรฯ ถือได้ว่าเป็นหนี้ที่ลูกหนี้ได้ก่อขึ้นตามความในมาตรา 5 ดังกล่าว แต่บทบัญญัติมาตรา 5 นี้คงมีผลใช้บังคับแก่บรรดาเจ้าหนี้ที่ใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการที่คณะกรรมการ ปรส. ได้ตั้งขึ้นตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงินฯ เท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการดังกล่าว ดังนั้น บทบัญญัติมาตรา 5 ข้างต้นจึงไม่มีผลบังคับแก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้เงินเพิ่มจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากผู้ชำระบัญชีร้องขอให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พารา จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้ล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2544
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภาษีอากรพร้อมเงินเพิ่มจำนวน 1,483,896.74 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ค่าภาษีอากรเป็นเงินจำนวน 573,606.79 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 130 (7) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ส่วนที่ขอเกินมาให้ยกเสีย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน จากหนี้ค่าภาษีอากรปี 2540 และปี 2541 นับแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2541 จนถึงวันที่ 26 มิถุนายน 2544 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า บริษัทลูกหนี้เป็นสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจกรรมตามคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2540 และวันที่ 5 สิงหาคม 2540 และคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการแทนลูกหนี้ต่อมามีการขายทรัพย์สินและชำระบัญชีของลูกหนี้เนื่องจากไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ และผู้ชำระบัญชีได้ยื่นคำร้องขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2544 เจ้าหนี้จึงขอรับชำระหนี้ค่าภาษีอากรพร้อมเงินเพิ่มจำนวน 1,483,896.74 บาท ตามมาตรา 3 เตรส, 50, 52 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งในรอบระยะเวลาบัญชี 1 มกราคม 2540 ถึง 31 ธันวาคม 2540 และ 1 มกราคม 2541 ถึง 31 ธันวาคม 2541 ลูกหนี้มีรายจ่ายประเภทเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (6) (8) แห่งประมวลรัษฎากรประจำปี 2540 จำนวน 1,564,206.52 บาท ประจำปี 2540 จำนวน 90,594.01 บาท จำนวนเงิน 1,654,800.53 บาท พร้อมเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ของเงินภาษีนับแต่เมื่อพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการหรือนำส่งภาษีถึงวันที่ 7 กรกฎาคม 2544 เป็นเงินเพิ่มค่าภาษีอากรประจำปี 2540 จำนวน 986,636.40 บาท และประจำปี 2541 จำนวน 42,346.50 บาท รวมเป็นเงิน 1,028,982.90 บาท ร่วมค่าภาษีอากรและเงินเพิ่มเป็นเงินทั้งสิ้น 2,683,783.43 บาท เมื่อหักกลบลบหนี้กับเงินค่าภาษีที่ลูกหนี้มีสิทธิได้รับคืนจำนวน 1,199,886.69 บาท แล้วลูกหนี้ยังคงค้างภาษีและเงินเพิ่มประจำปี 2540 และปี 2541 เป็นเงินรวม 1,483,896.74 บาท โดยในชั้นสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังข้อเท็จจริงว่า ลูกหนี้ค้างชำระภาษีประจำปี 2540 และปี 2541 เป็นเงินรวม 1,654,800.53 บาท พร้อมเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินภาษีนับแต่เมื่อพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการหรือนำส่งภาษีถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2541 เป็นเงินเพิ่มค่าภาษีอากรประจำปี 2540 จำนวน 118,501.70 บาท และประจำปี 2541 จำนวน 191.25 บาท เป็นเงินเพิ่มรวม 118,692.95 บาท รวมเป็นเงินค่าภาษีและเงินเพิ่มทั้งสิ้นจำนวน 1,773,493.48 บาท เมื่อหักกลบลบหนี้กับเงินค่าภาษีที่ลูกหนี้มีสิทธิได้รับคืนจากเจ้าหนี้จำนวน 1,199,886.69 บาท แล้ว เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนวน 573,606.79 บาท ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในส่วนของเงินเพิ่มถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2541 ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โดยเห็นว่านับแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2541 อันเป็นวันที่พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541 มาตรา 5 มีผลใช้บังคับเจ้าหนี้ไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้เงินเพิ่มอีกต่อไป แต่ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระเงินเพิ่มจนถึงวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้เงินเพิ่มจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 100 บัญญัติว่า “ดอกเบี้ยหรือเงินค่าป่วยการอื่นแทนดอกเบี้ยภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้นไม่ได้ถือว่าเป็นหนี้ที่ขอรับชำระได้” ซึ่งหมายความว่าเจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้ค่าดอกเบี้ยหรืองเงินค่าป่วยการอื่นแทนดอกเบี้ยได้ถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่กรณีของเจ้าหนี้ที่ขอรับชำระหนี้เงินเพิ่มภาษีอากรจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินการนั้น เป็นกรณีที่ต้องพิจารณาตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงินนั้น (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541 ประกอบด้วย ซึ่งมาตรา 5 บัญญัติว่า “นับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับดอกเบี้ยหรือเงินค่าป่วยการอื่นแทนดอกเบี้ยอันเกิดจากหนี้ที่บริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตามมาตรา 30 ได้ก่อขึ้นมิให้ถือว่าเป็นหนี้ที่จะขอรับชำระได้” คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า ก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด ลูกหนี้เป็นสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 มาตรา 30 แม้มูลหนี้ค่าภาษีอากรพร้อมเงินเพิ่มที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้จะมิใช่หนี้ที่เกิดจากการประกอบธุรกิจตามปกติของลูกหนี้ แต่ก็เป็นหนี้อันเนื่องมาจากลูกหนี้มิได้ปฏิบัติตามกฎหมาย คือจ่ายเงินได้พึงประเมินโดยมิได้หักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่าย และนำส่งให้ถูกต้องครบถ้วนตามประมวลรัษฎากร ถือได้ว่าเป็นหนี้ที่ลูกหนี้ได้ก่อขึ้นตามความในมาตรา 5 ดังกล่าว แต่บทบัญญัติมาตรา 5 นี้คงมีผลใช้บังคับแก่บรรดาเจ้าหนี้ที่ใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการที่คณะกรรมการ ปรส. ได้จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 30 แห่งพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 เท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการดังกล่าว ดังนั้น บทบัญญัติมาตรา 5 ข้างต้น จึงไม่มีผลบังคับแก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้เงินเพิ่มจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share