คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8488/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 ข้อห้ามมิให้ฎีกาเช่นว่านี้ ย่อมห้ามมิให้ฎีกาทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย เว้นแต่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา เมื่อปรากฏตามคำร้องของโจทก์ที่ร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิจารณาอนุญาตให้โจทก์ฎีการะบุชัดเจนเจาะจงว่า โจทก์ประสงค์ขอให้ผู้พิพากษาดังกล่าวพิจารณาอนุญาตให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเท่านั้น ดังนั้น การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำร้องของโจทก์แล้วมีคำสั่งว่า ข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดจึงอนุญาตให้ฎีกา ย่อมมีผลเท่ากับเป็นการอนุญาตให้โจทก์ฎีกาเฉพาะในปัญหาข้อเท็จจริงตามความประสงค์ของโจทก์หาได้มีผลเป็นการอนุญาตให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายแต่อย่างใดไม่ เมื่อโจทก์ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยนอกคำฟ้องและนอกสำนวนหรือไม่นั้น อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย จึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 91, 172, 173, 174, 326
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์เป็นทนายความผู้จัดทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2555 ให้นายวินลงลายมือชื่อในช่องผู้ทำพินัยกรรม ซึ่งขณะนั้นนายวินป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะสุดท้ายและรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเชียงใหม่ราม สำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาท คู่ความไม่อุทธรณ์ ความผิดดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยนอกคำฟ้องและนอกสำนวนหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ข้อห้ามมิให้ฎีกาเช่นว่านี้ ย่อมห้ามมิให้ฎีกาทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย เว้นแต่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา เมื่อปรากฏตามคำร้องของโจทก์ที่ร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิจารณาอนุญาตให้โจทก์ฎีการะบุชัดเจนเจาะจงว่า โจทก์ประสงค์ขอให้ผู้พิพากษาดังกล่าวพิจารณาอนุญาตให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเท่านั้น ดังนั้น การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำร้องของโจทก์แล้วมีคำสั่งว่า ข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดจึงอนุญาตให้ฎีกา ย่อมมีผลเท่ากับเป็นการอนุญาตให้โจทก์ฎีกาเฉพาะในปัญหาข้อเท็จจริงตามความประสงค์ของโจทก์ หาได้มีผลเป็นการอนุญาตให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายแต่อย่างใดไม่ เมื่อโจทก์ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยนอกคำฟ้องและนอกสำนวนหรือไม่นั้น อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย จึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า จำเลยกระทำความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนตามฟ้องโจทก์หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรภูพิงค์ราชนิเวศน์ ก็เนื่องมาจากโจทก์เป็นทนายความผู้จัดทำพินัยกรรมของนายวิน ซึ่งขณะนั้นนายวินป่วยด้วยโรคมะเร็งสำไส้ใหญ่ในระยะสุดท้ายและรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเชียงใหม่ราม โดยในช่วงเวลาดังกล่าวจำเลยเห็นอาการป่วยของนายวิน มีอาการไม่รู้ตัว กลืนไม่ได้ สำลักอาหาร ไม่สามารถทรงตัวได้ ประกอบกับได้ความจากแพทย์หญิงรัตติยา พยานจำเลยซึ่งเป็นแพทย์ผู้รักษานายวินและไม่มีส่วนได้เสียกับคู่ความฝ่ายใดว่า แพทย์หญิงรัตติยาได้ตรวจร่างกายนายวินเป็นประจำทุกวัน ทุกครั้งที่พบนายวิน นายวินจะมีอาการซึม ไม่เริ่มการสนทนาก่อน ตอบคำถามได้ตรงคำถามบ้าง ไม่ตรงบ้าง นายวินไม่ทราบวันเดือนปี ไม่ทราบสถานที่ที่ตนเข้ารักษาตัว ทั้งไม่สามารถบอกชื่อบุตรของตนได้ และในวันที่มีการจัดทำพินัยกรรม เวลา 10 นาฬิกา ญาติของนายวินขอให้แพทย์หญิงรัตติยาลงลายมือชื่อในเอกสารรับรองสติสัมปชัญญะของนายวิน แต่แพทย์หญิงรัตติยาปฏิเสธเนื่องจากขณะนั้นนายวินมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ เมื่อมีการนัดอ่านพินัยกรรมให้ทายาททุกคนฟัง ในพินัยกรรมก็ระบุยกทรัพย์สินของนายวินให้แก่นางเสน่ห์แต่เพียงผู้เดียว ทั้งที่จำเลยก็เป็นทายาทของนายวินด้วย ยิ่งไปกว่านั้นในพินัยกรรมมีลายมือชื่อในช่องผู้ทำพินัยกรรมก็ไม่เหมือนกับลายมือชื่อของนายวิน ดังนี้ เมื่อโจทก์เป็นผู้จัดทำพินัยกรรมดังกล่าวย่อมเป็นเหตุทำให้จำเลยเข้าใจและเชื่อโดยสุจริตว่าโจทก์เป็นผู้ปลอมพินัยกรรมและมีเจตนาฉ้อโกงมรดกในส่วนที่จำเลยควรได้รับ ดังนั้น การที่จำเลยไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่โจกท์ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต หาได้มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์แต่อย่างใดไม่ อีกทั้งข้อความที่จำเลยแจ้งความร้องทุกข์ก็ตรงตามเรื่องราวที่เกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องที่จำเลยแจ้งข้อความตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนดังที่โจทก์ฟ้อง ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน

Share