คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8486/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทซึ่งบริษัท ซ. ได้รับประทานบัตรทำเหมืองแร่ เป็นที่ดินของรัฐที่รกร้างว่างเปล่าซึ่งไม่เคยมีผู้ใดได้รับสิทธิในที่ดินตามกฎหมายมาก่อนตาม พ.ร.บ.แร่ฯ มาตรา 73 (3) ที่กำหนดมิให้ถือว่าการใช้ที่ดินของผู้ถือประทานบัตรในเขตเหมืองแร่เป็นการได้มาซึ่งสิทธิครอบครอง คงมีผลให้บริษัท ซ. ไม่อาจอ้างสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทยันต่อรัฐได้เท่านั้น แต่สำหรับราษฎรด้วยกัน บริษัท ซ. ย่อมมีสิทธิปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองจากผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบด้วยกฎหมายได้จนกว่าจะสละเจตนาครอบครองหรือไม่ยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทโดยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป การครอบครองที่ดินพิพาทจึงสิ้นสุดลง ในระหว่างที่บริษัท ซ. ยังคงยึดถือครอบครองอยู่ จึงอาจโอนไปซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ผู้อื่นได้ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1380 การโอนไปซึ่งการครอบครองย่อมมีผล แม้ผู้โอนยังยึดถือทรัพย์สินอยู่ ถ้าผู้โอนแสดงเจตนาว่าต่อไปจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้รับโอน การที่บริษัท ซ. ตกลงทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์หลังจากประทานบัตรทำเหมืองแร่สิ้นอายุลง ย่อมถือได้ว่า บริษัท ซ. ได้โอนการครอบครองที่ดินพิพาทโดยสละเจตนาครอบครองให้แก่โจทก์และยึดถือที่ดินพิพาทในฐานะผู้เช่าต่อไป โจทก์จึงได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยการให้บริษัท ซ. ยึดถือครอบครองไว้แทน ต่อมาเมื่อบริษัท ฟ. ซื้อโรงงานแต่งแร่และเข้าครอบครองที่ดินพิพาท บริษัทดังกล่าวก็ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ต่อไป จำเลยเพิ่งเข้าครอบครองที่ดินพิพาทหลังจากซื้อโรงงานแต่งแร่ต่อมาจากบริษัท ฟ. จำเลยย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ซึ่งยึดถือครอบครองที่ดินอยู่ก่อน
หลังจากจำเลยซื้อโรงงานแต่งแร่จากบริษัท ฟ. แล้ว จำเลยได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในระหว่างกำหนดเวลาตามสัญญาเช่าที่ดินที่บริษัท ฟ. ทำไว้กับโจทก์หลังจากนั้นบริษัท ฟ. ยังคงชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ต่อมา การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยจึงเป็นการอาศัยสิทธิของบริษัท ฟ. ถือได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ด้วย จำเลยจะอ้างว่าครอบครองที่ดินพิพาทเป็นของตนได้ก็แต่โดยบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือครอบครองไปยังโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 แต่ตามคำให้การของจำเลยไม่ได้ให้การว่าได้มีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์แต่อย่างใด จึงไม่มีประเด็นให้วินิจฉัยในเรื่องการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนอาคารพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินโจทก์และส่งมอบที่ดินคืนให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ขอให้โจทก์รื้อถอนเองโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 124,084.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์อัตราปีละ 60,000 บาท หรือวันละ 164.35 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะรื้อถอนอาคารพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารรื้อถอนอาคารพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ตามฟ้อง ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 124,084.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จและใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราปีละ 60,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะรื้อถอนอาคารพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 7,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 5,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ.2495 ที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 30 ไร่ ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลหงาว อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ในเขตสุขาภิบาลโจทก์ เดิมที่ดินพิพาทอยู่ในเขตประทานบัตรทำเหมืองแร่ของบริษัทไซมีสทินซินดิเกต จำกัด ใช้เป็นบริเวณโรงงานแต่งแร่ของบริษัท ต่อมาก่อนที่ประทานบัตรจะสิ้นอายุลงในวันที่ 28 กุมภาพัน์ 2530 บริษัทไซมีสทินซินดิเกต จำกัด ได้มีหนังสือขอเช่าที่ดินพิพาทจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดระนองเพื่อใช้โรงงานแต่งแร่ในที่ดินพิพาทสำหรับการแต่งแร่ของบริษัทต่อไป ตามสำเนาหนังสือขอเช่าที่ดินว่างเปล่าของรัฐเอกสารหมาย จ.15 แต่องค์การบริหารส่วนจังหวัดระนองตรวจสอบแล้วปรากฏว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตสุขาภิบาลจึงให้บริษัทไซมีสทินซินดิเกต จำกัด ติดต่อเช่าจากโจทก์ โจทก์ให้บริษัทไซมีสทินซินดิเกต จำกัด ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทมีกำหนดเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2530 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2533 ค่าเช่าปีละ 60,000 บาท ตามสำเนาสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.16 และมีการทำสัญญาเช่าต่อปีอีก 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2533 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2536 ค่าเช่าปีละ 60,000 บาท ตามสำเนาสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.3 ในระหว่างการเช่า บริษัทแฟร์มอนท์ สเตท จำกัด ซื้อโรงงานแต่งแร่พร้อมเครื่องจักรและอุปกรณ์ของบริษัทไซมีสทินซินดิเกต จำกัด จากการขายทอดตลาดของศาลชั้นต้น และทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับโจทก์ต่ออีก 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2536 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2539 ค่าเช่าปีละ 60,000 บาท ตามสำเนาสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.5 หลังจากทำสัญญาเช่ากับโจทก์ บริษัทแฟร์มอนท์ สเตท จำกัด ขายโรงงานแต่งแร่พร้อมเครื่องจักรและอุปกรณ์ให้แก่จำเลยตามสัญญาซื้อขายลงวันที่ 8 ธันวาคม 2537 เอกสารหมาย ล.13 โจทก์และจำเลยต่างอ้างการครอบครองที่ดินพิพาท ขอออกโฉนดที่ดินและคัดค้านการขอออกโฉนดซึ่งกันและกัน หลังจากครบกำหนดสัญญาเช่ากับบริษัทแฟร์มอนท์ สเตท จำกัด โจทก์มีหนังสือแจ้งให้บริษัทแฟร์มอนท์ สเตท จำกัด และจำเลยรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาท แต่บริษัทแฟร์มอนท์ สเตท จำกัด และจำเลยไม่ยอมรื้อถอนโดยจำเลยมีหนังสือโต้แย้งสิทธิในที่ดินพิพาทต่อโจทก์ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า นายพงศ์เทพเป็นประธานกรรมการโจทก์ในขณะฟ้องคดีนี้หรือไม่ และนายพงศ์เทพแต่งตั้งทนายความให้ฟ้องคดีโดยชอบหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่านายพงศ์เทพประธานกรรมการโจทก์เป็นผู้แต่งตั้งทนายความให้ฟ้องคดี โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบว่านายพงศ์เทพเป็นประธานกรรมการโจทก์และได้ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความจริงเพียงแต่โจทก์มีพยานปากอื่นเบิกความว่า นายพงศ์เทพเป็นประธานกรรมการโจทก์และการที่ใบแต่งทนายความระบุว่านายพงศ์เทพเป็นผู้ลงลายมือชื่อแต่งทนายความยังไม่พอให้รับฟังตามฟ้องนั้น เห็นว่า ตามคำให้การจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่านายพงศ์เทพมิได้เป็นประธานกรรมการโจทก์ในขณะฟ้องและลายมือชื่อในใบแต่งทนายความไม่ใช่ลายมือชื่อของนายพงศ์เทพ ถือได้ว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงตามฟ้องตลอดจนความถูกต้องในการแต่งตั้งทนายความให้ฟ้องคดีตามใบแต่งทนายความแล้วคดีจึงไม่มีประเด็นที่โจทก์ต้องนำสืบข้อเท็จจริงดังกล่าวอีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ฟังว่านายพงศ์เทพเป็นประธานกรรมการโจทก์และได้แต่งตั้งนายสัญญาพรเป็นทนายความฟ้องคดีนี้ ตามใบแต่งทนายความจึงชอบด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งแล้วฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยหรือไม่ ตามฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์ได้ครอบครองที่ดินพิพาทในเขตปกครองท้องถิ่นของโจทก์ โดยการให้บริษัทเอกชนเช่าเป็นสถานประกอบการโรงงานแต่งแร่ โดยไม่ปรากฏตามฟ้องว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินซึ่งมีหนังสือสำคัญที่บุคคลใดได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินอยู่ก่อน จำเลยก็ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งจำเลยได้จับจองโดยการเข้าครอบครองทำประโยชน์ จึงเป็นคดีพิพาทกันในเรื่องการครอบครองที่ดินซึ่งยังไม่เคยมีผู้ใดได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามกฎหมายมาก่อน ไม่มีประเด็นเรื่องการได้มาซึ่งที่ดินของผู้อื่นซึ่งมีสิทธิตามกฎหมายอยู่ก่อนแล้วแต่อย่างใด ที่จำเลยฎีกาว่า ที่ดินพิพาทตกเป็นสิทธิของจำเลยโดยอ้างว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของบริษัทไซมีสทินซิดิเกต จำกัด มาก่อน ตามใบเหยียบย่ำที่ดินเอกสารหมาย ล.5 ซึ่งออกตั้งแต่ปี 2450 ต่อมาบริษัทแฟร์มอนท์ สเตท จำกัด ได้ซื้อโรงงานแต่งแร่ของบริษัทไซมีสทินซิดิเกต จำกัด และเข้าครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ จนกระทั่งจำเลยได้ซื้อโรงงานแต่งแร่ต่อจากบริษัทแฟร์มอนท์สเตท จำกัด และจำเลยได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของต่อมานั้นขัดแย้งกับที่จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า เมื่อข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยดังกล่าวจำเลยมิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ แม้โจทก์และจำเลยจะนำสืบโต้แย้งกันมาเกี่ยวกับข้อเท็จจริงว่าที่ดินตามใบเหยียบย่ำที่ดินเอกสารหมาย ล.5 เป็นแปลงเดียวกับที่ดินพิพาทหรือไม่ ก็เป็นการนำสืบนอกประเด็น ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำฟ้องและคำให้การประกอบกับทางนำสืบของโจทก์ว่า ที่ดินพิพาทซึ่งบริษัทไซมีสทินซินดิเกต จำกัด ได้รับประทานบัตรทำเหมืองแร่นั้นเป็นที่ดินของรัฐ โดยเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งไม่เคยมีผู้ใดได้รับสิทธิในที่ดินตามกฎหมายมาก่อนตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 มาตรา 73 (3) ที่กำหนดว่าเมื่อสิ้นอายุประทานบัตรมิให้ถือว่าการใช้ที่ดินของผู้ถือประทานบัตรในเขตเหมืองแร่เป็นการได้มาซึ่งสิทธิครอบครองนั้น คงมีผลให้บริษัทไซมีสทินซินดิเกต จำกัด ไม่อาจอ้างสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทยันต่อรัฐได้เท่านั้นแต่สำหรับในระหว่างราษฎรด้วยกัน บริษัทไซมีสทินซินดิเกต จำกัด ย่อมมีสิทธิปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองจากผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบด้วยกฎหมายได้จนกว่าจะสละเจตนาครอบครองหรือไม่ยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทโดยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป การครอบครองที่ดินพิพาทจึงสิ้นสุดลง ในระหว่างที่บริษัทไซมีสทินซินดิเกต จำกัด ยังคงยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ จึงอาจโอนไปซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ผู้อื่นได้ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1380 การโอนไปซึ่งการครอบครองย่อมมีผล แม้ผู้โอนยังยึดถือทรัพย์สินอยู่ ถ้าผู้โอนแสดงเจตนาว่าต่อไปจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้รับโอน ดังนั้น การที่บริษัทไซมีสทินซินดิเกต จำกัด ตกลงทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์หลังจากประทานบัตรทำเหมืองแร่สิ้นอายุลง ย่อมถือได้ว่า บริษัทไซมีสทินซินดิเกต จำกัด ได้โอนการครอบครองที่ดินพิพาทโดยสละเจตนาครอบครองให้แก่โจทก์และยึดถือที่ดินพิพาทในฐานะผู้เช่าต่อไป โจทก์จึงได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยการให้บริษัทไซมีสทินซินดิเกต จำกัด ยึดถือครอบครองไว้แทนต่อมาเมื่อบริษัทแฟร์มอนท์ สเตท จำกัด ซื้อโรงงานแต่งแร่จากการขายทอดตลาดและเข้าครอบครองที่ดินพิพาท บริษัทดังกล่าวก็ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ต่อไป จำเลยเพิ่งเข้าครอบครองที่ดินพิพาท หลังจากซื้อโรงงานแต่งแร่ต่อจากบริษัทแฟร์มอนท์ สเตท จำกัด จำเลยย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ซึ่งยึดถือครอบครองที่ดินอยู่ก่อน ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์เป็นทบวงการเมืองตามประมวลกฎหมายที่ดินการนำที่ดินของรัฐซึ่งมิได้มีบุคคลใดมีสิทธิครอบครองมาใช้ประโยชน์ในทางราชการของโจทก์ต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 8 ทวิ โดยต้องจัดขึ้นทะเบียนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อโจทก์มิได้มีการดำเนินการตามบทกฎหมายดังกล่าว และโจทก์ไม่ได้รับมอบหมายให้จัดหาประโยชน์ในที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 11 จึงไม่มีอำนาจหน้าที่ให้เช่าที่ดินพิพาทได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องคำให้การ โจทก์และจำเลยต่างฝ่ายต่างกล่าวอ้างว่าเป็นฝ่ายครอบครองที่ดินพิพาทและได้สิทธิครอบครอง อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับการได้ซึ่งสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในการวินิจฉัยว่าฝ่ายใดมิสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามข้อโต้แย้งของโจทก์และจำเลยจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติกฎหมายเรื่องทรัพย์สิน ลักษณะ 3 ครอบครอง ตามบรรพ 4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อได้ความที่ดินพิพาทเป็นที่ดินรกร้างว่าเปล่าบริษัทไซมีสทินซินดิเกต จำกัด ซึ่งได้ครอบครองที่ดินพิพาทในเขตประทานบัตรทำเหมือนแร่อยู่ก่อนได้เสนอขอทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์เนื่องจากประทานบัตรสิ้นอายุ และคณะกรรมการโจทก์ประชุมมีมติให้บริษัทไซมีสทินซินติเกต จำกัดเช่าที่ดินพิพาทได้และมีการทำสัญญาเช่ากันตามมติของคณะกรรมการโจทก์แล้ว การสละการครอบครองของบริษัทดังกล่าวและการยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์จึงมีผลตามกฎหมาย โจทก์ย่อมได้ซึ่งสิทธิครอบครองในอันที่จะหวงกันมิให้ผู้อื่นเข้าเกี่ยวข้องรบกวนการครอบครองหรือแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374 และมาตรา 1375 โจทก์ซึ่งครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ก่อนจึงมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยซึ่งเข้ามายึดถือที่ดินพิพาทภายหลัง ส่วนการที่โจทก์จะต้องดำเนินการขึ้นทะเบียนที่ดินพิพาทเพื่อใช้ประโยชน์ในทางราชการหรือไม่ และโจทก์มีอำนาจหน้าที่ในการให้เช่าที่ดินของรัฐหรือไม่ มิใช่ปัญหาที่จะต้องพิจารณาในคดีนี้ ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่รู้ว่าจำเลยแย่งการครอบครองจากโจทก์ โจทก์จึงหมดสิทธิฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น เห็นว่า จำเลยอ้างว่าหลังจากจำเลยซื้อโรงงานแต่งแร่จากบริษัทแฟร์มอนท์ สเตท จำกัด แล้งจำเลยได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาท ปรากฏว่าจำเลยทำสัญญาซื้อขายโรงงานแต่งแร่จากบริษัทเฟร์มอนท์ สเตท จำกัด เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2537 ตามเอกสารหมาย ล.13 ซึ่งอยู่ในระหว่างกำหนดเวลาตามสัญญาเช่าที่ดินที่บริษัทแฟร์มอนท์ สเตท จำกัด ทำไว้กับโจทก์ หลังจากนั้นบริษัทแฟร์มอนท์ สเตท จำกัด ยังคงชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ต่อมา ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.8 การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยจึงเป็นการอาศัยสิทธิของบริษัทแฟร์มอนท์ สเตท จำกัด ถือได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ด้วย จำเลยจะอ้างว่าครอบครองที่ดินพิพาทเป็นของตนได้ก็แต่โดยบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือครอบครองไปยังโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 แต่ตามคำให้การของจำเลยเพียงแต่ให้การว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2537 โดยไม่ได้ให้การว่าจำเลยได้มีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์แต่อย่างใด คดีจึงไม่มีประเด็นให้วินิจฉัยในเรื่องการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชยื มาตรา 1381 ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า โจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่จำเลยแย่งการครอบครองดังจำเลยฎีกา เมื่อจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่มีสิทธิเป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท

Share