คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3137/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นและยื่นคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งอนุญาตโดยไม่รอว่าคู่ความฝ่ายอื่นจะยื่นอุทธรณ์และคัดค้านคำร้องดังกล่าวภายในกำหนดเวลาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 วรรคหนึ่ง หรือไม่ แต่เมื่อปรากฏว่าคู่ความฝ่ายอื่นได้รับสำเนาคำร้องและสำเนาอุทธรณ์แล้วก็ไม่มีผู้ใดยื่นคัดค้านคำร้อง การจะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นปฏิบัติตามขั้นตอนให้ถูกต้อง กล่าวคือรอให้ล่วงพ้นเวลาที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติแห่งมาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว จึงมีคำสั่งอนุญาต ผลก็เป็นเช่นเดียวกัน ศาลฎีกาไม่ย้อนสำนวนและวินิจฉัยคดีไปเสียทีเดียว
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ผู้มีอำนาจขอให้บังคับคดีได้คือคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวอาจเป็นโจทก์หรือจำเลยในคดีนั้น หรือเป็นบุคคลภายนอกซึ่งร้องสอดเข้ามาในคดีนั้นก็ได้ แต่ผู้ร้องมิได้เป็นโจทก์ เป็นจำเลยหรือเป็นผู้ร้องสอด ผู้ร้องมีฐานะเป็นแต่เพียงผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลพิพากษาตามยอมเท่านั้น จึงมิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ไม่มีสิทธิบังคับคดีได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสามกับจำเลยทั้งสี่ฟ้องร้องพิพาทกันเรื่องผิดสัญญาซื้อขายที่ดิน แล้วคู่ความทั้งสองฝ่ายทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลได้พิพากษาตามยอม
ต่อมาวันที่ 22 เมษายน 2546 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า โจทก์ที่ 1 ผิดนัดไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม ทำให้ผู้ร้องเสียหายไม่ได้รับชำระหนี้ จึงขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อบังคับเอาทรัพย์สินของโจทก์ที่ 1 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่ผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องมิใช่คู่ความในคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้ยกคำขอ ค่าคำขอเป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นและยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งอนุญาตโดยไม่รอว่าคู่ความฝ่ายอื่นจะยื่นอุทธรณ์และคัดค้านคำร้องดังกล่าวภายในกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง หรือไม่ แต่ก็ปรากฏว่าคู่ความฝ่ายอื่นได้รับสำเนาคำร้องและสำเนาอุทธรณ์แล้วก็ไม่มีผู้ใดยื่นคัดค้านคำร้อง การจะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นปฏิบัติตามขั้นตอนให้ถูกต้อง กล่าวคือรอให้ล่วงพ้นเวลาที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติแห่งมาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้วจึงมีคำสั่งอนุญาต ผลก็เป็นเช่นเดียวกัน ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรไม่ย้อนสำนวนและวินิจฉัยคดีไปเสียทีเดียว
ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1738/2540 ของศาลชั้นต้น และเป็นบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมให้โจทก์ที่ 1 โอนที่ดินให้ผู้ร้องย่อมทำให้ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้และเป็นคู่ความมีสิทธิที่จะขอบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271, 275 เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ผู้มีอำนาจขอให้บังคับคดีได้คือคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจเป็นโจทก์หรือจำเลยในคดีนั้น หรืออาจเป็นบุคคลภายนอกซึ่งร้องสอดเข้ามาในคดีนั้นก็ได้ แต่ผู้ร้องมิได้เป็นโจทก์ เป็นจำเลย หรือเป็นผู้ร้องสอดในคดีนี้ ผู้ร้องมีฐานะเป็นแต่เพียงผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น ผู้ร้องจึงมิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ไม่มีสิทธิบังคับคดีในคดีนี้ได้ เมื่อคู่ความฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ทำให้ผู้ร้องต้องเสียหายอย่างไร ผู้ร้องก็ชอบที่จะต้องไปดำเนินคดีฟ้องร้องกันเป็นคดีต่างหาก จะใช้สิทธิขอบังคับในคดีนี้ไม่ได้เพราะไม่มีบทกฎหมายให้อำนาจไว้ คำสั่งศาลชั้นต้นชอบแล้ว อุทธรณ์ผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share