แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยประมาณ 10 ไร่ ซึ่งรวมอยู่ในที่ดินแปลงใหญ่โดยโจทก์วางเงินมัดจำไว้แล้ว ราคาส่วนที่เหลือจะชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์ ครั้นถึงวันนัด โจทก์จำเลยไปที่สำนักงานที่ดิน แต่จำเลยไม่ได้นำโฉนดที่ดินไป จึงไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ตามสัญญาดังนี้ การที่จำเลยไม่ได้โฉนดที่ดินมาในวันนัดทั้งที่มีเวลาที่จะขวนขวายถึง 26 วัน แม้โฉนดที่ดินจะอยู่กับ ป.ซึ่งเดินทางไปต่างประเทศ จำเลยซึ่งมีหน้าที่ต้องนำโฉนดที่ดินมาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ตามสัญญาก็อ้างเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏว่าในวันดังกล่าวโจทก์ยอมผ่อนผันการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจนกว่าจำเลยสามารถนำโฉนดที่ดินมาได้แต่เมื่อจำเลยยืมโฉนดที่ดินมาได้แล้วและนัดโจทก์ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโจทก์กลับเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 3,000,000 บาท ตามสัญญาจึงจะยอมรับโอนเมื่อต่างฝ่ายต่างไม่ยอม โจทก์แจ้งอายัดที่ดินพิพาทแล้วไม่ฟ้องคดีภายใน 60 วัน เมื่อการอายัดสิ้นสุด จำเลยจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทแก่ ป. แล้ว โจทก์จึงมาฟ้องเป็นคดีนี้จำเลยจึงไม่ผิดสัญญา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2531 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 6744 ตำบลคลองจินดา อำเภอสามพรานจังหวัดนครปฐม เฉพาะส่วนของจำเลย 10 ไร่ ราคา 1,410,000 บาทโจทก์วางเงินมัดจำไว้ 1,000,000 บาท ตกลงจะทำการโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 27 ธันวาคม 2531 หากจำเลยผิดสัญญาไม่ทำการโอนกรรมสิทธิ์ตามกำหนดยอมใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 3,000,000 บาท ต่อมาวันที่27 ธันวาคม 2531 จำเลยไม่สามารถนำโฉนดที่ดินมาทำการโอนกรรมสิทธิ์ได้ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายให้ตามสัญญา 3,000,000 บาท และที่ดินมีราคาสูงขึ้นซึ่งโจทก์จะได้กำไรจากการขายที่ดินอีก 5,642,198 บาท ขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยดังกล่าว โดยโจทก์ยอมชำระราคาที่เหลือ 410,000 บาท ถ้าจำเลยไม่ยอมให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย และถ้าจำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ ให้จำเลยคืนเงินมัดจำ 1,000,000 บาท และชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 8,642,198 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ทราบดีในขณะทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 6744 ตามฟ้องมีผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม 23 รายโฉนดที่ดินถูกเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ตั้งแต่ปี 2529 ต่อมานายปรก อัมระนันทน์ เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมคนหนึ่งขอยืมโฉนดที่ดินมาจากเจ้าพนักงานบังคับคดีปรากฏว่านายปรกเดินทางไปต่างประเทศระหว่างวันที่ 4 ธันวาคม 2531 ถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2532เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2531 ซึ่งเป็นวันกำหนดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาเป็นเหตุสุดวิสัยที่จำเลยจะนำโฉนดดังกล่าวมาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนให้แก่โจทก์ตามสัญญาได้ โจทก์จำเลยจึงตกลงเลื่อนการโอนไปจนกว่าจำเลยจะสามารถยืมโฉนดมาจากนายปรกได้ ต่อมาจำเลยยืมโฉนดดังกล่าวมาจากนายปรกได้จำเลยได้มีหนังสือนัดให้โจทก์ไปจดทะเบียนรับโอนที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐมในวันที่ 2 มีนาคม 2532 โจทก์ได้รับหนังสือแล้วไม่ไปโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง จำเลยจึงมีหนังสือนัดอีกครั้งในวันที่ 18 เมษายน 2532 โจทก์มาแต่ไม่ยอมรับโอนโดยอ้างว่าพ้นกำหนดการโอนตามสัญญาแล้ว โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อขายในวันเดียวกันนั้น โจทก์ได้ขออายัดที่ดินตามโฉนดดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐม แต่โจทก์มิได้ฟ้องคดีต่อศาลภายใน 60 วัน การอายัดจึงสิ้นผล จำเลยจึงขายที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยให้แก่นายปรกไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2532โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย จำเลยได้นำเงินมัดจำไปวางที่สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ภูมิภาคที่ 7 แล้ว แต่โจทก์ไม่ยอมไปรับ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ตามที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันว่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2531โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยประมาณ 10 ไร่ ซึ่งรวมอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 9744 ตำบลคลองจินดาอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมด 121 ไร่3 งาน 80 ตารางวา ในราคา 1,410,000 บาท โดยโจทก์วางเงินมัดจำจำนวน 1,000,000 บาท ราคาส่วนที่เหลือจะชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน วันที่ 27 ธันวาคม 2531 ครั้นถึงวันนัดโจทก์จำเลยไปที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐม แต่จำเลยไม่ได้นำโฉนดที่ดินไป จึงไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ตามสัญญาคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อแรกว่า จำเลยเป็นผู้ผิดสัญญาจะซื้อขายหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อขายกันวันที่ 1 ธันวาคม 2531 นัดจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันวันที่ 27 ธันวาคม 2531 หากจำเลยมีเจตนาจะปฏิบัติตามสัญญาก็ชอบที่จะรีบดำเนินการติดตามโฉนดที่ดินก่อนวันกำหนดซึ่งจำเลยสามารถขอยืมโฉนดจากนายปรกได้ก่อนวันที่ 4 ธันวาคม 2532 ที่นายปรกจะเดินทางไปต่างประเทศและไม่ได้ความว่านายปรกนำโฉนดที่ดินไปต่างประเทศด้วยการที่จำเลยไม่ขวนขวายก่อนถึงวันนัดเป็นความประมาทเลินเล่อจะอ้างเหตุสุดวิสัยมาแก้ตัวตามคำให้การไม่ได้ อีกทั้งจำเลยได้ขายที่ดินพิพาทแก่นายปรกไปแสดงให้เห็นว่ามีเจตนาฉ้อฉลโจทก์นั้นเห็นว่า เหตุที่จำเลยไม่ได้โฉนดที่ดินมาในวันนัดทั้งมีเวลาที่จะขวนขวายถึง 26 วัน แม้โฉนดที่ดินจะอยู่กับนายปรกจำเลยซึ่งมีหน้าที่ต้องนำโฉนดที่ดินมาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ตามสัญญาก็อ้างเหตุสุดวิสัยไม่ได้ เพราะกรณีนี้ไม่เป็นเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8และถือว่าเป็นพฤติการณ์ที่จำเลยไม่อาจคาดคิดมาก่อนซึ่งจำเลยไม่ต้องรับผิดดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ได้ แต่เหตุการณ์ในวันที่ 27 ธันวาคม 2531 ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ยอมผ่อนผันการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจนกว่าจำเลยสามารถนำโฉนดที่ดินมาได้แต่เมื่อจำเลยยืมโฉนดที่ดินมาได้แล้วและนัดโจทก์ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทในวันที่18 เมษายน 2532 โจทก์กลับเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย3,000,000 บาท ตามสัญญาจึงจะยอมรับโอนเมื่อต่างฝ่ายต่างไม่ยอมโจทก์แจ้งอายัดที่ดินพิพาทแล้วไม่ฟ้องคดีภายใน 60 วัน เมื่อการอายัดสิ้นสุด จำเลยจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทแก่นายปรกแล้วโจทก์จึงมาฟ้องเป็นคดีนี้ จำเลยจึงไม่ผิดสัญญาตามที่โจทก์ฟ้องและฎีกาข้อเรียกร้องค่าเสียหายก็ไม่จำต้องวินิจฉัยที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล
พิพากษายืน