แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่ผู้ร้องรับซื้อหุ้นบริษัทจำเลยมาจาก ก. โดยสมรู้กันเพื่อหลีกเลี่ยงข้อห้ามของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นการแสดงเจตนาลวงระหว่างผู้ร้องกับ ก. สัญญาซื้อขายจึงเป็นโมฆะแต่เมื่อไม่ปรากฏว่าบริษัทจำเลยรู้เห็นกับการแสดงเจตนาลวง โดยรับจดแจ้งการโอนหุ้นในทะเบียนผู้ถือหุ้นตามสัญญาซื้อขายโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงดังกล่าว เนื่องจากบริษัทจำเลยไม่อาจเรียกเอามูลค่าหุ้นที่ขาดจาก ก. ได้ผู้ร้องจึงไม่อาจยกความเป็นโมฆะขึ้นต่อสู้กับบริษัทจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 118วรรคแรก บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลย ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่รับรองเป็นเอกสารมหาชนต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 เมื่อผู้ร้องอ้างว่าบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นดังกล่าวไม่ถูกต้องเพราะมีการชำระค่าหุ้นพิพาทเต็ม มูลค่าแล้ว ผู้ร้องจึงมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความ.
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งให้ผู้ร้องชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระแก่จำเลยจำนวน 187,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ผู้ร้องได้ทำหนังสือปฏิเสธหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า หุ้นในบริษัทจำเลยที่มีชื่อผู้ร้องถืออยู่จำนวน 250 หุ้นนั้นแท้จริงเป็นของนางกลิ่นขจร รักวงษ์ ผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นแทนนอกจากนี้ได้มีการชำระค่าหุ้นครบถ้วนแล้ว ขอให้ศาลมีคำสั่งยกคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คัดค้านว่า ผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยอยู่จำนวน 250 หุ้น เป็นเงิน 187,500 บาท ไม่มีข้อความใดในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยว่าผู้ร้องถือหุ้นแทนผู้อื่น ทั้งไม่มีหลักฐานว่าได้มีการชำระค่าหุ้นดังกล่าวครบถ้วนแล้ว ขอให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง และมีคำบังคับให้ผู้ร้องชำระหนี้ค่าหุ้นจำนวน 187,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาแรกตามฎีกาของผู้ร้องมีว่า ผู้ร้องเป็นเพียงผู้ถือหุ้นพิพาทแทนอันไม่ต้องรับผิดในมูลค่าหุ้นที่ค้างชำระหรือไม่ เห็นว่า ปัญหาข้อนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า หุ้นพิพาทนี้ผู้ร้องได้รับโอนมาจากนางกลิ่นขจร รักวงษ์เมื่อวันที่ 25 กรกฏาคม 2528 ดังปรากฏตามหนังสือสัญญาโอนหุ้นของบริษัทจำเลยเอกสารหมาย ค.1 โดยตามหนังสือสัญญาโอนหุ้นนี้ระบุว่าเป็นการโอนโดยการซื้อขายรวมเป็นเงินจำนวน 62,500 บาท ที่ผู้ร้องกล่าวอ้างและนำสืบว่า การโอนหุ้นให้กันนี้แท้จริงเป็นเพียงโอนให้ถือแทนเท่านั้น มิใช่เป็นการโอนให้จริงโดยการซื้อขาย เหตุที่ต้องโอนให้ถือแทนเพราะนางกลิ่นขจรได้เป็นกรรมการของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหานครทรัสต์ จำกัด จึงต้องโอนเพื่อหลีกเลี่ยงข้อห้ามของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นแม้ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ผู้ร้องอ้าง ก็เป็นการกล่าวอ้างว่าการซื้อขายหุ้นพิพาทตามหนังสือสัญญาเอกสารหมาย ค.1 เป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กันในระหว่างผู้ร้องกับนางกลิ่นขจร สัญญาซื้อขายนี้จึงเป็นโมฆะ แต่ทางนำสืบของทั้งสองฝ่ายไม่ปรากฏว่าบริษัทจำเลยได้รู้ด้วยกับการแสดงเจตนาลวงนั้น ต้องถือว่าบริษัทจำเลยได้ทำการรับจดแจ้งการโอนหุ้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นตามสัญญาซื้อขายโดยสุจริต การที่ผู้ร้องรับโอนหุ้นพิพาทจากนางกลิ่นขจรโดยซื้อขายตามเอกสารหมาย ค.1 ทำให้บริษัทจำเลยไม่อาจฟ้องเรียกมูลค่าหุ้นในส่วนที่ขาดจากนางกลิ่นขจรได้ตามหลักฐานที่ปรากฏ เป็นความเสียหายของบริษัทจำเลยอันเกิดแต่การแสดงเจตนาลวงนั้น การแสดงเจตนาลวงที่ทำให้สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะนี้จึงไม่อาจยกขึ้นต่อสู้บริษัทจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 วรรคแรก ผู้ร้องต้องรับผิดในมูลค่าหุ้นที่ค้างชำระ…
ปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องต่อไปมีว่า มูลค่าหุ้นพิพาทได้ชำระเต็มแล้วหรือไม่เห็นว่า ตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยในวันประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2528 ซึ่งเป็นเอกสารฉบับล่าสุดที่บริษัทจำเลยนำส่งสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ตามเอกสารหมาย ค.2 ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับรองขึ้นอันถือได้ว่าเป็นเอกสารมหาชน ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เป็นหน้าที่ของผู้ร้องต้องนำสืบว่ามีการชำระมูลค่าของหุ้นพิพาทเต็มแล้ว… คดีฟังได้ว่าผู้ร้องยังเป็นหนี้ในมูลค่าหุ้นที่ค้างชำระดังกล่าว ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว…”
พิพากษายืน.