แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 118 , 119 มิได้มีข้อยกเว้นว่านายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุสุดวิสัย และ ป.พ.พ. มาตรา 583 ก็มิได้บัญญัติยกเว้นไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในกรณีเลิกจ้างเพราะเหตุสุดวิสัยเช่นเดียวกัน จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำผิดจึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๔๔ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่ตามลำดับ
จำเลยทั้งสี่สำนวนให้การว่า จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ทั้งสี่ทำงานชั่วคราว สัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลาแน่นอนและเป็นงานที่จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสี่เป็นครั้งคราวตามโครงการที่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงานที่แล้วเสร็จภายใน ๒ ปี และไม่ได้เป็นงานประจำของจำเลย หลังทำสัญญาจำเลยได้นำโจทก์ทั้งสี่และพนักงานอื่นเข้าทำงานในโครงการดังกล่าวเรื่อยมา ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๔๔ จำเลยได้พาโจทก์ทั้งสี่และพนักงานคนอื่นเข้าทำงานตามปกติแต่ไม่สามารถเข้าทำงานได้ เนื่องจากบริษัทกรีไทย จำกัด ผู้ว่าจ้างจำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตั้งแต่เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๔๔ การที่จำเลยไม่สามารถจ้างโจทก์ทั้งสี่ให้ทำงานในโครงการดังกล่าวถือเป็นเหตุสุดวิสัยไม่ใช่ความผิดของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายแก่โจทก์ทั้งสี่
จำเลยทั้งสี่สำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิจารณาแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อสองว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่เนื่องจากบริษัทกรีไทย จำกัด ถูกศาลมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นเหตุให้จำเลยไม่สามารถพาโจทก์ทั้งสี่เข้าทำงานในโครงการออลซีซั่นส์ เพลส ได้นั้น เป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่ เห็นว่า เมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำผิด นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามหลักเกณฑ์ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวและมาตรา ๑๑๙ มิได้มีข้อยกเว้นว่านายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากเหตุสุดวิสัยและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ ซึ่งบัญญัติข้อยกเว้นกรณีไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไว้ ก็มิได้มีข้อยกเว้นว่านายจ้างไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในกรณีเลิกจ้างเพราะเหตุสุดวิสัยเช่นเดียวกัน ดังนั้น การวินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่เนื่องจากเหตุสุดวิสัยหรือไม่ ย่อมไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางเรื่องการจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จึงเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน.