คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 848/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยประกอบกิจการสำนักงานจัดหางาน โจทก์ติดต่อให้ทางสำนักงานจำเลยจัดหาคนรับใช้ให้ โดยเสียค่าบำเหน็จแทนคนรับใช้ที่จำเลยจัดหาให้ ต่อมาคนรับใช้ได้หนีออกจากบ้านและลักทรัพย์ของโจทก์ไป ดังนี้ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ทำละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงิน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วย โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของและผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสำนักงานจัดหางานชื่อ สุทธิพาณิชย์บริการ จำเลยที่ 2 เป็นบิดาจำเลยที่ 1 และเป็นผู้ดูแลกิจการแทนจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 มีอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าอีกแห่งหนึ่งโจทก์ได้มาติดต่อให้ทางสำนักงานของจำเลยที่ 1 จัดหาคนรับใช้หญิง 2 คน ต่อมาวันที่ 10 ธันวาคม 2520 มีเด็กหญิง 2 คน มาสมัครทำงานที่สำนักงานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงแจ้งให้โจทก์ทราบโจทก์ให้พาไปดู ในที่สุดโจทก์ตกลงรับเด็กหญิงสมหวัง ลือการ ไว้ทำงานบ้าน โดยตกลงค่าจ้างกันเดือนละ 600 บาท จำเลยที่ 2 ได้ให้เด็กหญิงสมหวัง ลือการ ลงชื่อในใบสมัครงาน โดยนางสาวเพ็ญ ลือการ ซึ่งมาด้วยลงลายมือชื่อเป็นผู้รับรอง ตามระเบียบข้อบังคับของกรมแรงงาน ในการนี้โจทก์จ่ายเงินค่าบำเหน็จแก่จำเลยที่ 2 แทนเด็กหญิงสมหวัง ลือการ เป็นเงิน 50 บาท ในวันเดียวกันนั้นเอง เด็กหญิงสมหวัง ลือการ ได้หนีออกจากบ้านโจทก์โดยลักทรัพย์ไปด้วย

ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพราะจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับและระเบียบของกรมแรงงานนั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ฝ่ายโจทก์ไม่มีพยานมานำสืบเลยว่ากรมแรงงานมีข้อบังคับและระเบียบอย่างใดที่บัญญัติบังคับให้เจ้าของผู้ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งสำนักงานจัดหางานต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังเช่นในกรณีนี้ ฝ่ายจำเลยกลับนำนายภาพย์ ธงภักดิ์ หัวหน้ากองทะเบียนจัดหางานและการทำงานต่างประเทศมาเบิกความว่าในกรณีลูกจ้างกระทำผิดขึ้น ทางสำนักงานไม่มีหน้าที่จะต้องติดตามตัว คงมีแต่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการติดตามตัวเท่านั้น และทางสำนักงานก็ไม่ต้องรับผิดต่อนายจ้างในกรณีลูกจ้างกระทำผิด ดังนั้น การติดรูปถ่ายในใบสมัครงานจึงเป็นกรณีเพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจในการติดตามหาตัวเท่านั้น ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้ละเมิดต่อโจทก์แล้ว รูปคดีก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยถึงความรับผิดของจำเลยที่ 1”

พิพากษายืน

Share