คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 848/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้เสียกับบุตรสาวของผู้เสียหายแล้วพากันมาอยู่บ้านผู้เสียหายได้ 7-8 วัน จำเลยบอกผู้เสียหายว่าจะไปซื้อข้าวสารมาเก็บไว้กินในฤดูทำนา รุ่งขึ้นจำเลยเอาโคของผู้เสียหายเทียมเกวียนจะไปซื้อข้าวสาร ภริยาผู้เสียหายไปกับจำเลยด้วย เมื่อถึงที่หมายจำเลยปลดโคจากเกวียนแล้วก็แยกไป ต่อมาไม่นานจำเลยกลับมาถามภริยาผู้เสียหายว่า วัวกินน้ำหรือยังประเดี๋ยวข้าวสารจะมาแล้ว ภริยาผู้เสียหายว่ายัง จำเลยจึงนำโคไปอ้างว่าจะนำไปให้กินน้ำ แล้วก็นำโคไปขายเสียพร้อมทั้งมอบตั๋วพิมพ์รูปพรรณโคให้ผู้ซื้อไปด้วย ดังนี้ พฤติการณ์ของจำเลยส่อให้เห็นความทุจริตของจำเลยตั้งแต่ลอบเอาตั๋วพิมพ์รูปพรรณไปแล้ว เมื่อพิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายฉันลูกเขยพ่อตาแม่ยายจำเลยจะเอาโคไปใช้ได้ตามพลการของจำเลยโดยการวิสาสะ หาจำต้องขอรับอนุญาตหรือรับความยินยอมดังเช่นบุคคลอื่นไม่ การที่จำเลยใช้อุบายหลอกลวงผู้เสียหายและภริยานั้น มิใช่เพื่อให้ผู้เสียหายและภริยายอมส่งมอบโคให้จำเลย หากเป็นแต่เพียงอุบายในการที่จำเลยจะพาโคไปได้แนบเนียนขึ้นเท่านั้น การที่จำเลยเอาโคไปหาใช่ผลโดยตรงจากการหลอกลวงไม่ จำเลยจึงมีผิดฐานลักทรัพย์ หาผิดฐานฉ้อโกงไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเมื่อ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๖ เวลากลางวัน จำเลยลักโค ๒ ตัวราคา๑,๕๐๐ บาทที่นายแป๊ะ ศรีเดชผู้มีอาชีพกสิกรรมเป็นเจ้าของและมีไว้สำหรับประกอบอาชีพกสิกรรม เหตุเกิดตำบลในเขตเทศบาลเมืองบางมูลนาค อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลจังหวัดพิจิตรฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้เสียกับนางเหลือง นางเหลืองพาจำเลยมาอยู่กินที่บ้านนายแป๊ะนางดี บิดามารดานางเหลือง อยู่มาได้ราว ๗-๘ วัน จำเลยบอกนายแป๊ะนางดีว่าจะไปซื้อข้าวสารที่อำเภอบางมูลนากสัก ๒ กระสอบเพื่อนำมาเก็บไว้กินในฤดูทำนา รุ่งขึ้นวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๖ เวลา ๕ นาฬิกา จำเลยก็เอาโคของนายแป๊ะ ๒ ตัวเทียมเกวียนจะไปซื้อข้าวสารดังที่บอกนายแป๊ะนางดีไว้ นางดีนายจำลองไปกับจำเลยด้วย ถึงสถานีรถไฟบางมูลนากเวลา ๑๐ นาฬิกา จำเลยปลดโคออกจากเกวียน แล้วจำเลยก็แยกไป นายจำลองไปตลาด นางดีเฝ้าเกวียนและโคอยู่ ครั้นเที่ยงวันนั้น จำเลยกลับมาถามนางดีว่า “วัวกินน้ำแล้วหรือยัง ประเดี๋ยวข้าวสารจะมาแล้ว” นางดีตอบว่ายัง จำเลยจึงนำโคทั้ง ๒ ตัวไป อ้างว่าจะเอาไปให้กินน้ำ แล้วจำเลยเอาโค ๒ ตัวนั้นไปเสียเลย และนำไปขายนางสาวกี่ พร้อมทั้งมอบตั๋วพิมพ์รูปพรรณที่จำเลยลอบเอาไปก่อนให้แก่นางสาวกี่ด้วย พวกเจ้าทรัพย์รู้ว่าจำเลยทุจริตจึงแจ้งความและนำเจ้าพนักงานติดตามได้โคคืนจากนางสาวกี่ นางสาวกี่ถูกพนักงานอัยการฟ้องหาว่ารับของโจร ทรัพย์อันได้มาจากการกระทำผิดฐานฉ้อโกง ศาลพิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า แม้นายแป๊ะนางดีมิได้มอบโคให้จำเลย จำเลยก็ถือวิสาสะในฐานะเป็นบุตรเขยเอาไปบรรทุกข้าว เอาไปให้กินน้ำได้อยู่เอง โดยไม่ต้องใช้อุบายหลอกลวงประการใด การที่จำเลยใช้อุบายดังกล่าวข้างต้นก็เพื่อจะเอาโคไปจากการยึดครองของนายแป๊ะนางดีได้แนบเนียนยิ่งขึ้นเท่านั้น การที่จำเลยอุบายว่าจะเอาโคไปบรรทุกข้าว ให้กินน้ำก็ดี อาจเป็นจริงก็ได้หรือไม่จริงก็ได้ เมื่อจำเลยไม่นำสืบถึงการที่จำเลยกล่าวอุบายเช่นนั้นว่าเป็นเท็จแล้ว ก็จะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงได้อย่างไร การกระทำของจำเลยผิดลักทรัพย์โดยใช้อุบายหลอกลวง พิพากษาว่าผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๕ จำคุก ๓ ปี
จำเลยอุทธรณ์ข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิดดังฟ้อง และข้อกฎหมายว่าแม้จะฟังตามคำพยานโจทก์ดังกล่าว จำเลยก็มีผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา ๓๔๑ ข้อเท็จจริงจึงต่างกับฟ้องต้องยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา๑๙๒ วรรค ๒
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับศาลชั้นต้น และวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่านางดีได้ส่งมอบโคของกลางให้จำเลย จำเลยพาโคไปโดยบอกว่าจะเอาไปให้กินน้ำ อาการที่จำเลยพาโคไปรวมทั้งปรากฏว่าจำเลยนำโคไปขายและมอบตั๋วพิมพ์แก่นางสาวกี่ นับว่าจำเลยเอาทรัพย์ไปโดยทุจริต ครบองค์ความผิดฐานลักทรัพย์แล้ว พิพากษายืน
จำเลยฎีกาปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว เรื่องนี้พฤติการณ์ของจำเลยส่อให้เห็นความทุจริตของจำเลยตั้งแต่จำเลยลอบเอาตั๋วพิมพ์รูปพรรณไปแล้ว ในตอนแรกที่จำเลยพาโคมาเทียมเกวียนนั้น บังเอิญนางดีกับนายจำลองไปด้วย จำเลยยังไม่มีโอกาสที่จะเอาโคไปได้สำเร็จ มาได้โอกาสเมื่อตอนที่นางดีอยู่เฝ้าโคแต่เพียงลำพังคนเดียว จำเลยจึงย้อนกลับมาเอาไปจากนางดี เมื่อพิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับนายแป๊ะนางดีฉันลูกเขยพ่อตาแม่ยาย จำเลยจะเอาโครายนี้ไปใช้ได้ตามพลการของจำเลยโดยการวิสาสะ หาจำต้องขอรับอนุญาตหรือรับความยินยอมจากนายแป๊ะนางดีดังเช่นบุคคลอื่นไม่ ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อจำเลยบอกกับนายแป๊ะนางดีว่าจะไปซื้อข้าวสาร และรุ่งขึ้นจำเลยนำโคมาเทียมเกวียนก็ดี จำเลยบอกนางดีว่าจะพาโคไปให้กินน้ำและแล้วจำเลยพาโคนั้นไปก็ดี จำเลยหาได้ขอรับความยินยอมอนุญาตจากนายแป๊ะนางดีไม่ จึงเป็นอันว่า การที่จำเลยใช้อุบายหลอกลวงนายแป๊ะนางดีนั้น มิใช่เพื่อให้นายแป๊ะนางดียอมส่งมอบโคให้จำเลย หากเป็นแต่เพียงอุบายในการที่จำเลยจะพาโคไปได้แนบเนียนขึ้นเท่านั้น ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้ การที่จำเลยเอาโคไปไม่ใช่ผลโดยตรงจากการหลอกลวง ไม่เข้าหลักความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา ๓๔๑
ที่ว่า”และโดยการหลอกลวง ดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง” จำเลยจึงไม่มีผิดฐานฉ้อโกง แต่ผิดฐานลักทรัพย์
พิพากษายืน

Share