คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8475/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สิทธิที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามสัญญาเช่าซื้อไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัว เมื่อผู้เช่าซื้อตาย ทายาทจึงสืบสิทธิของผู้เช่าซื้อได้ และจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกซึ่งมีหน้าที่ ตามกฎหมายที่จะต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกจึงมีสิทธิ ที่จะเข้าสืบสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อเพื่อดำเนินการแบ่งปัน ให้ทายาทต่อไปได้ หลังจาก อ. ผู้เช่าซื้อถึงแก่ความตาย จำเลยซึ่งเป็นทายาทได้ครอบครองรถยนต์คันที่เช่าซื้อและชำระเงินค่าเช่าซื้อให้โจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยได้เข้าสืบสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อแล้ว โจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดในฐานะผู้จัดการมรดก อ. ผู้ตายและ อ. มีทายาทหลายคน ดังนั้น แม้จำเลยจะสืบสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ ก็เป็นการสืบสิทธิในฐานะผู้จัดการมรดกอ. เพื่อจะดำเนินการแบ่งปันสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อซึ่งเป็นมรดกของ อ. ให้แก่ทายาทต่อไปเท่านั้นตราบใดที่จำเลยยังไม่ได้แบ่งปันสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่ทายาทคนใด ตราบนั้นสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้อก็ยังคงเป็นมรดกของ อ. อยู่ และเมื่อสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายของโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อเป็นสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อ และเป็นสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ที่มีต่ออ.เจ้ามรดกสำหรับคดีนี้เมื่อโจทก์ทราบว่าอ.ถึงแก่ความตายเมื่อเดือนเมษายน 2537 และโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 19 กรกฎาคม 2537 จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายอดุลย์ อนุรักษ์ ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หลังจากทำสัญญาแล้วนายอดุลย์ได้ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ตามสัญญา โดยบางเดือนก็ชำระบางเดือนก็ไม่ชำระ ครั้งสุดท้ายนายอดุลย์ได้ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2536เป็นเงิน 36,800 บาทแล้วไม่ชำระอีกเลย ต่อมาเมื่อเดือนเมษายน 2537 โจทก์จึงทราบว่านายอดุลย์ถึงแก่ความตายและจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล เมื่อนายอดุลย์ตายแล้วจำเลยได้สวมสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อโดยการครอบครองและใช้รถของโจทก์ตลอดมา แต่จำเลยมิได้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้าง 257,600 บาท แก่โจทก์ สัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกันทันที ขอให้บังคับจำเลยคืนรถคันที่เช่าซื้อแก่โจทก์หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 500,000 บาท กับให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 585,000 บาท และเดือนละ 39,000 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะคืนรถหรือใช้ราคาแก่โจทก์และให้จำเลยเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 1,085,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะนายอดุลย์ถึงแก่ความตายตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2535 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งมอบรถคันที่เช่าซื้อจากโจทก์คืนหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 350,000 บาท และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 300,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อไปแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน350,000 บาท คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาข้อแรกว่า จำเลยครอบครองและใช้ทรัพย์ของโจทก์หาประโยชน์ ทั้งชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ต่อมาเท่ากับได้สืบสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้อต่อไปแล้วจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อต่อไป ปรากฏว่าคดีนี้โจทก์ยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า นายอดุลย์เช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทจากโจทก์ ต่อมานายอดุลย์ถึงแก่ความตาย จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายอดุลย์ได้ครอบครองและใช้ประโยชน์รถยนต์ที่เช่าซื้อตลอดมาเป็นการเข้าสวมสิทธิในสัญญาเช่าซื้อต่อจากนายอดุลย์ผู้ตาย จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวในฐานะผู้เช่าซื้อด้วยการชำระค่าเช่าซื้อที่ค้าง แต่จำเลยผิดสัญญา ขอให้บังคับจำเลยให้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนและชำระค่าเสียหายให้โจทก์ เห็นว่า ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 สัญญาเช่าซื้อไม่ใช่สัญญาเช่าธรรมดาแต่มีคำมั่นว่าจะขายทรัพย์โดยมีเงื่อนไขการชำระเงินกันเป็นครั้งคราวรวมอยู่ด้วย ถ้าผู้เช่าซื้อชำระเงินแก่ผู้ให้เช่าซื้อครบถ้วนตามเงื่อนไขก็จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น สิทธิที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนี้ ไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัว สัญญาเช่าซื้อจึงมีผลที่สืบสิทธิกันได้ เมื่อนายอดุลย์ผู้เช่าซื้อตายทายาทจึงสืบสิทธิของนายอดุลย์ผู้เช่าซื้อได้ จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกจึงมีสิทธิที่จะเข้าสืบสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อเพื่อดำเนินการแบ่งปันให้ทายาทต่อไป ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า หลังจากนายอดุลย์ถึงแก่ความตายแล้วจำเลยได้ครอบครองรถยนต์และชำระเงินงวดที่ 19 ให้โจทก์เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2536 พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยได้เข้าสืบสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อแล้ว
โจทก์ฎีกาข้อสุดท้ายว่า โจทก์เพิ่งทราบการตายของนายอดุลย์เมื่อเดือนเมษายน 2537 และได้ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม2537 หลังจากทราบว่านายอดุลย์ตายเพียง 3 เดือนเศษ คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดในฐานะผู้จัดการมรดกนายอดุลย์ผู้ตาย และข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า นายอดุลย์มีทายาทหลายคน ดังนั้น แม้จำเลยจะสืบสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อก็เป็นการสืบสิทธิในฐานะผู้จัดการมรดกนายอดุลย์ เพื่อจะดำเนินการแบ่งปันสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อซึ่งเป็นมรดกของนายอดุลย์ให้แก่ทายาทต่อไปเท่านั้น ตราบใดที่จำเลยยังไม่ได้แบ่งปันสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่ทายาทคนใด ตราบนั้นสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้อก็ยังคงเป็นมรดกของนายอดุลย์อยู่สิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย 300,000 บาท ของโจทก์เป็นสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อ ฉะนั้น จึงเป็นสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ที่มีต่อนายอดุลย์เจ้ามรดก ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม มิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของนายอดุลย์เจ้ามรดก ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของนายอดุลย์เจ้ามรดกเมื่อใด ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ได้วินิจฉัยศาลฎีกาเห็นว่า เพื่อมิให้คดีล่าช้าเห็นควรวินิจฉัยไปโดยไม่ส่งสำนวนคืนไปให้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1) ข้อนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า เชื่อว่าโจทก์ทราบว่านายอดุลย์ถึงแก่ความตายเมื่อเดือนเมษายน 2537 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 19 กรกฎาคม 2537 จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 วรรคสาม แต่ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์เดือนละ 20,000 บาท 15 เดือน เป็นเงิน 300,000 บาท นั้นเห็นว่าสูงเกินส่วนเมื่อพิเคราะห์ถึงราคาเช่าซื้อเงินที่นายอดุลย์ได้ชำระในวันทำสัญญา เงินที่นายอดุลย์และจำเลยได้ชำระไปแล้ว 19 งวด เห็นควรกำหนดค่าขาดประโยชน์ให้โจทก์เดือนละ 13,000 บาท 15 เดือน เป็นเงิน 195,000 บาท และเมื่อเป็นหนี้เงินโจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์ 195,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 195,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share