คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8460/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้เป็นคดีจัดการมรดกซึ่งไม่มีบทบัญญัติกำหนดอายุความการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอภายหลังเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วกี่ปีก็ได้ ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอเป็นคดีนี้เกินกว่า 34 ปี นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วก็ตาม ผู้ร้องก็ยังมีสิทธิที่ยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้ หาจำต้องยื่นภายในกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 อันเป็นบทบัญญัติเรื่องการฟ้องคดีมรดกไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนางปุ้ย ผู้ตาย ต่อมาวันที่ 30 สิงหาคม 2533 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งถอนผู้คัดค้านที่ 2 จากการเป็นผู้จัดการมรดก และตั้งนางสาวสายม่าน เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทน
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องและตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางบุญเรือน ผู้ร้อง เป็นผู้จัดการมรดกของนางปุ้ย ผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ยกคำคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่า แม้ผู้คัดค้านทั้งสองจะยื่นคำคัดค้านว่าผู้ตายยกที่ดินแปลงที่ 3 ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 และนางสาวสายม่านในฐานะผู้จัดการมรดกได้ส่งมอบการครอบครองให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 แล้ว ผู้คัดค้านที่ 2 จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงที่ 3 แต่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย และการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เป็นเจ้าของที่ดินตามคำคัดค้านจึงถือได้ว่ายังมีข้อโต้แย้ง คดีนี้เป็นคดีร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ประเด็นแห่งคดีมีเพียงว่า สมควรตั้งผู้ร้องหรือผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่เท่านั้น แม้ผู้คัดค้านที่ 1 จะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย แต่ในการตั้งผู้จัดการมรดกนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 วรรคสอง กำหนดให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์ และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดกแล้วแต่ศาลเห็นสมควร แม้ผู้คัดค้านที่ 1 จะไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามกฎหมาย แต่เมื่อพิเคราะห์ทางได้เสียของกองมรดกและทายาทของเจ้ามรดกแล้วยังไม่เห็นสมควรที่จะตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย หรือตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้องตามที่ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ผู้ร้องแถลงว่าผู้คัดค้านที่ 1 ถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2557 สอบผู้คัดค้านที่ 2 ผู้คัดค้านที่ 2 แถลงว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงแก่ความตายจริง ตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร์ เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ถึงแก่ความตายและการดำเนินคดีนี้เป็นสิทธิเฉพาะตัว จึงให้จำหน่ายคดีของผู้คัดค้านที่ 1 ออกจากสารบบความศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคดีนี้เมื่อพ้นกำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง แล้ว หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีจัดการมรดกซึ่งไม่มีบทบัญญัติกำหนดอายุความการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ดังนั้นผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอภายหลังเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วกี่ปีก็ได้ ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอเป็นคดีนี้เกินกว่า 34 ปี นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วก็ตาม ผู้ร้องก็ยังมีสิทธิที่ยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้ หาจำต้องยื่นภายในกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 อันเป็นบทบัญญัติเรื่องการฟ้องคดีมรดกไม่ ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกาว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2410 ตำบลสัมฤทธิ์ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 17 ไร่ 20 ตารางวา ที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกนั้น นางสาวสายม่าน ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้แบ่งปันโดยการส่งมอบการครอบครองให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 แล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติว่า ทรัพย์มรดกของผู้ตายได้มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกเสร็จสิ้นแล้ว ไม่มีทรัพย์มรดกที่จะต้องจัดการต่อไป จึงไม่มีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกที่ผู้ร้องจะต้องยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ นั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับไว้พิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share